สรุป! คลื่น 5G มีใครเข้าประมูลบ้าง

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการประมูล ‘5G’ ของไทยที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ โดยทาง กสทช. ได้เปิดให้ยื่นรับคำขอรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ในวันนี้ ไปดูกันบ้างว่ามีผู้ประกอบการรายไหนบ้างที่เข้ามายื่นคำขอเข้าประมูล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ มีผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตทั้งหมดจำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ยื่นเอกสารเป็นรายแรกในเวลา 11.00 น. ตามมาด้วยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นเอกสารเป็นรายที่สองในเวลา 11.09 น.

บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

สำหรับรายที่ 3 ที่เข้ามายื่นคำขอคือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งถือเป็นรายที่หลายคนจับตามองที่สุด เพราะเพิ่งเปลี่ยน CEO ใหม่มาหมาด ๆ ไม่ถึงสัปดาห์ด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็เข้ามาในเวลา 12.59 น. ตามด้วยบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยื่นเป็นรายที่ 4 ในเวลา 15.15 น. และปิดท้ายด้วยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ที่เข้ามายื่นในเวลา 15.35 น.

บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด

สำหรับคลื่นความถี่ที่นำออกมาประมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วย คลื่น 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

คลื่น 1800 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 และ 3 จำนวนงวดละ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 4,994.4 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,873 ล้านบาทต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากร ภายใน 4 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรภายใน 8 ปี

คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น  7 งวด งวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่5-10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล ผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาทต่อใบอนุญาต ส่วนผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรใน Smart city ภายใน 4 ปี

และคลื่น 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท การชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปีหลังจากการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

ขั้นตอนหลังจากยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการพิจารณาคุณสมบัติ และจะมีการชี้แจงรายละเอียดและการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) ในวันที่ 10 และ 14 ก.พ. 2563 โดยจะจัดการประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563

#5G #AIS #True #Dtac #ToT #CAT #Positioning