Nike ออกแบบชุดทีมชาติ USA สำหรับโอลิมปิก 2020 ด้วยผ้ารีไซเคิลจากรองเท้า

มหกรรมกีฬาโลก “Tokyo 2020 Olympics” เป็นการแข่งขันกีฬาที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับวัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ทั้งเหรียญรางวัลที่เป็นวัสดุรีไซเคิล การก่อสร้างโอลิมปิกพลาซ่าที่สร้างขึ้นจากไม้บริจาค และเตียงกระดาษแข็งสำหรับนักกีฬา ล่าสุดคือ Nike ที่หยิบผ้ารีไซเคิลมาออกแบบชุดเครื่องแบบให้นักกีฬาทีมชาติ USA ใน Tokyo 2020

Nike ย้ำหนักหนาว่าชุดเครื่องแบบนักกีฬาประจำปี 2020 Athletics Uniform สร้างขึ้นด้วยผ้า Nike Dri-FIT Aeroswift ใหม่ซึ่งจะให้สีแตกต่างกันเมื่อสวมใส่แล้วเคลื่อนไหว ผ้าจะดูดซับเหงื่อได้ดี แถมยังเด่นเรื่องความบางและไร้รอยต่อ เพราะผ้าสามารถลดชั้นการทอและจำนวนตะเข็บของชุดลงได้

การเปิดตัวนี้ถือเป็นอาวุธหนักสำหรับ Nike เนื่องจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนี้มีแนวโน้มได้รับความสนใจมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่คนรุ่นใหม่จะรับรู้ได้ว่า Nike มีพัฒนาการก้าวไกลจนสามารถพัฒนาผ้าจากการรีไซเคิลชิ้นส่วนรองเท้าได้ การรับรู้นี้จะเป็นผลดีแน่นอนเพราะการวิจัยฟันธงว่าคน Gen Z ที่เกิดปี 1995-2012 นั้นจะซื้อสินค้าที่มีภาพลักษณ์รักษ์โลก

สวยแถมระบายอากาศดี

โลกเคยรู้ว่า Nike Aeroswift นั้นเป็นผ้าเนื้อบางเบาที่นักกีฬาสวมใส่เพื่อหวังให้ทำความเร็วได้ดีกว่าผ้าปกติ แต่ก้าวใหม่ของ Nike คือการพัฒนาผ้า Nike Aeroswift รุ่นปี 2020 สามารถยกระดับเรื่องความสวยขึ้นไปด้วย เพราะจุดขายเรื่องสีของผ้าที่จะเปลี่ยนไปเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว กลายเป็นเฉดสีใหม่แบบไดนามิกที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่จำเจ

ผ้าพันธุ์ใหม่ยังมีโครงสร้างบางเบา เหมาะกับการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าที่เน้นระบายอากาศได้ดี ขณะเดียวกันก็เด่นเรื่องการยืดหยุ่น ตามสถิติพบว่าผ้า Nike Aeroswift รุ่นปี 2020 สามารถยืดตัวได้มากกว่ารุ่นดั้งเดิม 25%

Janett Nichol รองประธานฝ่ายนวัตกรรมเครื่องแต่งกายของ Nike อธิบายว่าผ้ารุ่นใหม่นี้ทำจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งขวดน้ำ ชิ้นส่วนที่เหลือจากการผลิตรองเท้า และขยะอื่น ซึ่ง Nike ภูมิใจอย่างยิ่งที่สามารถการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ไม่เพียงช่วยให้นักกีฬาทำสิ่งที่ดีที่สุด แต่ยังเป็นสิ่งที่คู่ควรกับความสำเร็จของนักกีฬาเหล่านี้ด้วย

โดนใจ Gen Z

การเปิดตัวผ้ารีไซเคิลของ Nike เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability) ที่ครอบคลุมเข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามเข้าถึงผู้บริโภควัยรุ่นที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Nike ได้สรุปแผนลดการปล่อยคาร์บอนและขยะลง และตั้งเป้าให้โรงงาน Nike ใช้พลังงานทดแทน 100% ภายในปี 2025 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกให้ได้ 30% ภายในปี 2030 ตามข้อตกลงปารีสปี 2015

Nike ไม่ใช่บริษัทเดียวในอุตสาหกรรมเสื้อผ้ากีฬาที่มีความพยายามชูมาตรการรักษ์โลกแบบยั่งยืน แบรนด์ต่างๆ ตั้งแต่ Patagonia, Adidas, Puma แม้แต่แบรนด์ในเครือ Gap อย่าง Athleta ล้วนประกาศนโยบายรักษ์โลกมานานหลายปี โดยผสมผสานมาตรการด้านความยั่งยืนเข้ากับการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง

ตัวอย่างเช่น Adidas เคยกล่าวว่าจะผลิตรองเท้าที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจากขยะทะเลระหว่าง 15 ล้านถึง 20 ล้านคู่ในปีนี้ ขณะที่ Athleta ตั้งเป้าหมายในปลายปี 2020 ให้บริษัทสามารถผลิตวัสดุรีไซเคิลได้ 80% สำหรับสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์เสริมที่จำหน่ายในปีนี้ ซึ่งแม้จะไม่ได้พูดเสียงดัง แต่ทุกรายเชื่อว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นมีความหมาย เพราะการสำรวจของบริษัท First Insight ระบุว่าผู้บริโภค Gen Z มากกว่า 62% ต้องการซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับภารกิจด้านรักษ์โลกยั่งยืน และ 73% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น Gen Z ระบุว่ายินดีจ่ายเงินแพงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน.