ไขข้อข้องใจ ทำไม ‘Xiaomi’ ถึงมีสินค้าสากกะเบือยันเรือรบ?

ร้าน Xiaomi ในเมืองนานจิง มณฑลเจียงซู (photo: CookieWei / Shutterstock.com)

Beijing Xiaomi Technology Co. , Ltd. หรือ Xiaomi (เสี่ยวหมี่) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2010 โดยเสียวหมี่เป็นบริษัทโมบายอินเทอร์เน็ต ที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาฮาร์ดแวร์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ โทรทัศน์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ และระบบรอบด้านสำหรับบ้านอัจฉริยะ

ร้าน Xiaomi ในเมืองนานจิง มณฑลเจียงซู (photo: CookieWei / Shutterstock.com)

แม้จะเป็นบริษัทไอทีชั้นนำ แต่จะให้ทำทุกอย่างเองทั้งหมดคงไม่ไหว ดังนั้น Xiaomi จึงเน้นแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่าน “Xiaomi model” โดยเปิดกว้างให้หลายองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและปรับปรุงฟีเจอร์แบบทั่วถึง

ดังนั้น หากเห็นชื่อสินค้าที่มีคำว่า “Xiaomi Ecosystem Product” หรือ “Xiaomi Youpin” อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าเลียนแบบ แต่เป็นเป็นสินค้าที่เกิดจาก Xiaomi ecological chain หรือวงจรในระบบนิเวศ ที่เน้นรวมเครือข่ายสมาร์ทโฟนเข้ากับสินค้า AIoT (Internet of Things) ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ของ Xiaomi ซึ่งผู้ผลิตสินค้าแต่ละรายที่เข้าร่วมนั้น Xiaomi จะงทุในผู้ผลิตรายนั้น ๆ และจะให้คำแนะนำ เเต่จะไม่ถูก Xiaomi ควบคุม

อย่างไรก็ตาม Xiaomi ไม่ได้ถือสิทธิ์ในตัวผลิตภัณฑ์ Xiaomi Ecosystem Product แต่ถือสิทธิบัตรในการทำการตลาด ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ไม่ใช่ ผลิตภัณฑ์ของ Xiaomi แต่คุณภาพมีความน่าเชื่อถือ เพราะผ่านการตรวจสอบจาก Xiaomi แล้ว

และแม้ผู้ผลิตเหล่านี้จะไม่ได้ถูก Xiaomi ควบคุม แต่ยังได้รับอิทธิพลในการวางจุดยืนทางการตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการควบคุมคุณภาพและการขายเหมือนกับ Xiaomi ส่งผลให้ภาพของสินค้ากลุ่ม Xiaomi Ecosystem Product ดูเหมือนถูกควบคุมอย่างสมบูรณ์

ส่วน Xiaomi Youpin คือ ประตูสู่แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าสำหรับชีวิตทันสมัยของ Xiaomi ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการเชื่อมโยงสู่กลยุทธ์การค้าปลีกยุคใหม่ของ Xiaomi ด้วย จุดยืนของ Xiaomi Youpin คือ การเปิดให้ผู้สนใจสินค้าได้คลิกสั่งซื้อเพื่อระดมทุนในอนาคต โดยจะอาศัยห่วงโซ่ระบบนิเวศ Xiaomi และ Xiaomi model เพื่อพัฒนาสินค้าอุปโภคบริโภครุ่นใหม่ที่น่าสนใจ

ผลคือ Xiaomi Youpin กลายเป็นแพลตฟอร์มเปิดและแหล่งช็อปปิ้ง ซึ่งนอกจาก Xiaomi, Mijia และแบรนด์อื่น ๆ ในวงจรระบบนิเวศของ Xiaomi แล้ว Xiaomi Youpin จะเป็นช่องทางของการแนะนำสินค้าจากแบรนด์อื่น (third-party) ที่มีความสามารถออกแบบและผลิตสินค้าได้เองอย่างสมบูรณ์ รวมถึงการขาย การขนส่ง และให้บริการหลังการขาย จุดนี้ Xiaomi เลือกที่จะสนับสนุนการพัฒนาของแบรนด์ third-party อย่างเป็นอิสระ และให้บริการผู้ใช้ไปด้วยอีกทางหนึ่ง

สินค้า Xiaomi Ecosystem Product วันนี้มาจากแบรนด์ในระบบนิเวศของ Xiaomi เช่น 90fun, Doctor bei, Yeelight, Zhimi, Zimi, Yunmi, 1MORE, Aqara และอื่น ๆ ซึ่งแบรนด์เหล่านี้อาจวางจำหน่ายในร้านอีคอมเมิร์ซอื่นเช่นกัน

จุดยืนเดียวที่ Xiaomi พยายามนำเสนอ คือไม่ว่าจะเป็น Xiaomi Ecosystem Product หรือ Xiaomi Youpin ทั้งคู่จะเป็นสินค้าการันตีคุณภาพเหมือนแบรนด์ Xiaomi เพียงแต่ทุกคนเป็นอิสระจากกัน และทำให้แบรนด์ Xiaomi มีสินค้าครอบจักรวาลถูกเปิดตัวใหม่ได้ทุกวัน โดยที่ Xiaomi ไม่ต้องเหนื่อยทำเองทั้งหมดนั่นเอง

ปัจจุบัน Xiaomi เป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อันดับที่ 4 รองจากแอปเปิล (Apple), ซัมซุง (Samsung) และหัวเว่ย (Huawei) ที่สามารถวิจัยและพัฒนาชิปสำหรับโทรศัพท์มือถือของตัวเอง

Soruce