สรุป 5 เทรนด์ “ยุคดิจิทัล” ปี 2020 ที่คน “รีเทล” และร้านอาหารควรรู้!

ยุคดิจิทัล ทำให้ทุกวงการต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่การปรับรายสามเดือนแต่อาจต้องขยับมาเป็นรายเดือนจนถึงรายวันเลยทีเดียว!

Positioning เก็บข้อมูลเทรนด์ที่น่าสนใจจาก “ณัฐธิดา สงวนสิน” เอ็มดี บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด บนเวทีงาน Buzzebees Retail Day มาฝาก จะมีเทรนด์ดิจิทัลอะไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่

 

1.บริการเดลิเวอรี่ให้เร็วที่สุด

ร้านอาหารที่ไม่มีบริการเดลิเวอรี่นับว่าพลาดโอกาส เพราะปัจจุบันร้านอาหารที่เริ่มเปิดบริการเดลิเวอรี่แล้วพบว่า 30% ของยอดขายนั้นมาจากการขายผ่านบริการเดลิเวอรี่ และ 46% ของประชากรออนไลน์มีการใช้งานสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น

แต่การมีบริการเดลิเวอรี่ยังไม่เพียงพอ เพราะผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยังระบุด้วยว่า พวกเขาคาดหวังให้อาหารมาส่งภายใน 30 นาที แต่ในความเป็นจริงของขั้นตอนปกติ หากต้องรอให้คนขับรถขับไปถึงร้านก่อนเพื่อสั่งอาหารจะทำให้เสียเวลามาก

ดังนั้นฝั่งร้านอาหารควรปรับตัวในประเด็นนี้ โดยการปรับระบบ POS (Point of Sale) ให้รองรับการเชื่อมต่อเข้ากับการสั่งอาหารเดลิเวอรี่เจ้าต่างๆ เพื่อให้คำสั่งซื้อยิงตรงมาที่ร้านทันที และถ้าหากต้องการขยายพื้นที่ให้บริการ อาจมองหาพื้นที่ Cloud Kitchen เพื่อปัก node สาขาสำหรับขายเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นอีก

 

2.ปรับเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้กับร้าน

การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับร้านอาหารหรือรีเทลอาจดิสรัปต์วิธีแบบเดิมๆ ได้ ตัวอย่างเช่นร้าน Luckin Coffee ในจีน ซึ่งสามารถขยายสาขาเอาชนะ Starbucks ได้ จากการเปิดบริการกาแฟ grab-and-go ให้ลูกค้าสั่งกาแฟผ่านแอปพลิเคชั่นได้ก่อนมาถึงร้าน และรับกาแฟได้ทันที ไม่เสียเวลา

วิธีการอันทันสมัยเหมาะกับชีวิตเร่งรีบของคนเมือง และสอดคล้องไปกับสังคมจีนที่รับเอาเทคโนโลยีการเงินมาใช้เกือบ 100% อยู่แล้ว การชำระเงินค่ากาแฟล่วงหน้าจึงได้ผลจริง

 

3.สังคมสูงวัย…ที่ไม่ได้ใส่คอกระเช้า

สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีประชากรวัยเกษียณเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 6 เรียบร้อยแล้ว และอีก 10 ปีข้างหน้าจะยิ่งมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ภาพของ “ผู้สูงอายุ” จะค่อยๆ เปลี่ยนไป เนื่องจากคน Gen X ในปัจจุบันมีอายุ 41-54 ปี อีก 10 ปีข้างหน้า พวกเขาจะเป็นคนวัยเกษียณ แต่ไลฟ์สไตล์ของคน Gen X ไม่เหมือนคนยุคเบบี้ บูมเมอร์ พวกเขามีความทันสมัย ชอบใช้จ่ายนอกบ้าน โดยมีการศึกษาว่าคน Gen X จะมีการนัดสังสรรค์นอกบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นั่นทำให้แบรนด์ต้องปรับมุมมองใหม่กับสังคมสูงวัย ไลฟ์สไตล์ของพวกเขากำลังจะเปลี่ยนไปในไม่ช้า

 

4.AI/Machine Learning ใช้วิเคราะห์ดาต้าได้อีกมาก

เทคโนโลยี AI/Machine Learning เป็นสิ่งที่พูดถึงกันหนาหูในรอบ 2-3 ปีมานี้ และจะยังคงอยู่กับเราต่อไป เพราะเมื่อเก็บดาต้าจากลูกค้ามา ย่อมต้องใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งสามารถพลิกแพลง นำมาวิเคราะห์จำแนกข้อมูลได้ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น

  • วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าระดับ Hyper Location ไม่ใช่แค่ระดับภูมิภาค แต่เป็นสาขาร้านค้านั้นๆ ลูกค้ามีความชอบอย่างไร
  • การ Upsell และ Downsell ได้อย่างตรงจุด ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าออนไลน์ที่กดนำสินค้าลงตะกร้าไว้แล้ว แต่ไม่ชำระเงิน สามารถส่งคูปองลดราคาสินค้าไปให้เพื่อจูงใจให้รีบกดซื้อสินค้านั้น (วิธีนี้บัซซี่บีส์พบว่าได้ผล 5-80% ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี)
  • สำหรับร้านค้าแบบออฟไลน์ สามารถติดตั้งกล้องจับหน้าตาลูกค้าที่เดินเข้า-ออก ระบบ AI จะประมวลได้ว่าลูกค้าเป็นกลุ่มเพศ อายุ และเชื้อชาติใด
  • การแบ่งเซ็กเมนต์ลูกค้าใหม่ตามพฤติกรรม มากกว่า demographic ดั้งเดิม เช่น แบ่งตามพฤติกรรมการซื้อ เป็นผู้ซื้อครั้งแรกหรือเป็นคนที่เคยซื้อแล้วแต่ยังไม่ซื้อซ้ำ สองกลุ่มนี้จะต้องการการตลาดที่ต่างกันเพื่อจูงใจให้ซื้อสินค้า

 

5.กลยุทธ์อินฟลูเอนเซอร์ปั่นกระแส

ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภค 90% เชื่อรีวิวจากเพื่อน มากกว่าการใช้ดาราดังโฆษณา และ 70% มองว่ารีวิวจากลูกค้าออนไลน์คือแหล่งที่น่าเชื่อถืออันดับ 2 ในการซื้อสินค้า

นั่นทำให้การใช้อินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากเพื่อสร้างกระแส ‘อุปาทานหมู่’ ได้ผลจริงกับผู้บริโภคยุคใหม่ มีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้กลยุทธ์นี้ เช่น เครื่องสำอาง Kylie หรือล่าสุดในไทย Euro Food สามารถปรับตัวได้เร็ว จับกระแสจากแฮชแท็ก #saveปีโป้ม่วง ใช้ประโยชน์จากอินฟลูเอนเซอร์และกระแสชาวเน็ตสร้างเป็นสินค้าใหม่ ปีโป้แยกสี ขึ้นมา