IMF หวั่น COVID-19 ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลก “สิงคโปร์” ส่อแววถดถอย ส่วน “ญี่ปุ่น” GDP ทรุด

Photo : Shutterstock
IMF เตือนการระบาดของไวรัส COVID-19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ แต่อาจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหากควบคุมการระบาดได้ไว ขณะที่จีนประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ด้านสิงคโปร์เตือนมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่แสดงความกังวลหลังจากรายงานว่าจีดีพีไตรมาสที่ผ่านมา ก็ดิ่งแรงสุดในรอบกว่า 5 ปีอยู่แล้ว

คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวในงานประชุมโกลบัล วีเมนส์ ฟอรัมที่ดูไบเมื่อวันที่ 16 ก.พ. โดยแสดงความหวังว่า อัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ อาจลดลงเพียง 0.1-0.2% แต่สำทับว่า ผลกระทบทั้งหมดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “COVID-19” จะขึ้นอยู่กับว่า สามารถควบคุมการระบาดได้เร็วแค่ไหน โดยหากควบคุมได้อย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจก็อาจดิ่งแรงและฟื้นตัวไวมากในลักษณะกราฟรูปตัว V

ก่อนหน้านี้ ในการปรับปรุงข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุดที่จัดทำขึ้นในเดือนมกราคม IMF ได้ลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกประจำปีนี้ลง 0.1% อยู่ที่ 3.3% เทียบกับอัตราเติบโตปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 2.9% อันถือเป็นสถิติต่ำสุดในรอบทศวรรษ

จอร์จีวาเสริมว่า แม้ยังเร็วเกินไปในการประเมินผลกระทบทั้งหมดของไวรัสโคโรนา แต่ยอมรับว่า ขณะนี้มีหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบแล้ว เช่น การท่องเที่ยว และการขนส่ง

GUAGZHOU, CHINA – JANUARY 22: Citizens wear masks to defend against new viruses on January 22,2020 in Guangzhou, China.The 2019 new coronavirus, known as “2019-nCoV”, was discovered in Wuhan virus pneumonia cases in 2019, and the virus was transmitted from person to person. Currently, confirmed cases have been received in various parts of the world. (Photo by Stringer/Anadolu Agency via Getty Images)

หากเทียบกับผลกระทบจากโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ในปี 2002-2003 จอร์จีวากล่าวว่า ตอนนั้นเศรษฐกิจจีนยังคิดเป็นสัดส่วนแค่ 8% ของเศรษฐกิจโลก แต่ตอนนี้ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มเป็น 19% แล้ว

นายใหญ่ไอเอ็มเอฟสำทับว่า จีนพยายามอย่างมากในการควบคุมการระบาด รวมทั้งอัดฉีดสภาพคล่องมูลค่าถึง 115,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเชื่อว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ กระนั้นโลกยังต้องจับตาการเติบโตชะลอตัวจากความไม่แน่นอนอื่นๆ ด้วย

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดว่า เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง โดยเมื่อวันจันทร์บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดี้ส์” ประกาศลดการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จีนประจำปีนี้ลงอยู่ที่ 5.2% เทียบกับเป้าหมาย 5.7% ที่จีนต้องการเพื่อตอบสนองแผนการเพิ่มอัตราเติบโตเป็นสองเท่าตัวภายในระยะ 10 ปีที่ถึงกำหนดในปีนี้

สิงคโปร์เข้าสู่ภาวะถดถอย

ในวันที่ 17 ก.พ. ทางการสิงคโปร์ปรับลดการคาดการณ์ GDP ปีปัจจุบันลง 0.5% อยู่ที่ 1.5% ขณะที่ไวรัสโคโรนาบ่อนทำลายรายได้จากการท่องเที่ยว และการค้าของประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ

กระทรวงการค้าสิงคโปร์แถลงว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลต่อจีน สิงคโปร์ และประเทศมากมายทั่วโลก โดยในเอเชียนั้นมีแนวโน้มฉุดการเติบโตของจีน และประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ

จีนเป็นทั้งที่มาของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุด และจุดหมายปลายทางการส่งออกที่สำคัญสำหรับสิงคโปร์

นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง เตือนว่า ผลกระทบจาก COVID-19 อาจรุนแรงกว่าซาร์ส เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียใกล้ชิดกันมากขึ้น และสำทับว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสิงคโปร์จะเข้าสู่ภาวะถดถอย

ญี่ปุ่นอ่วมสุดในรอบ 5 ปี

ส่วนที่ญี่ปุ่น รายงานว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีที่แล้วหดตัวลงถึง 1.6% รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 5 ปี โดยเป็นผลจากการขึ้นภาษีและพายุไต้ฝุ่นถล่มแดนอาทิตย์อุทัยในช่วงเวลาดังกล่าว

Photo : Shutterstock

กระนั้น นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มจับตาอย่างระมัดระวังว่า การระบาดของไวรัส COVID-19 จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยขณะนี้ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการท่องเที่ยวต่างถูกกระทบอย่างจัง

นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่า มีความหวังน้อยมากที่ญี่ปุ่นจะฟื้นการเติบโตได้ในไตรมาสปัจจุบัน มิหนำซ้ำยังอาจติดลบต่อ ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

Source