ยักษ์เกษตรโลก “Cargill” ลงแข่งขันธุรกิจ plant-based food ประเดิมด้วยเนื้อบดทำจากถั่ว

(photo: pixabay.com)
Cargill เตรียมเปิดตัวสินค้าเนื้อบดทำจากพืช (plant-based) สำหรับทำแฮมเบอร์เกอร์ในเดือนเมษายนนี้ การรุกตลาดของยักษ์ใหญ่เกิดขึ้นท่ามกลางสนามแข่งขันที่มีบริษัทหน้าใหม่ออกนำไปก่อนแล้ว ที่โดดเด่นในตลาดได้แก่ Beyond Meat และ Impossible Foods โดยบริษัทหวังว่าจะสามารถรุกตลาดได้ทั้งในกลุ่มร้านค้าและร้านอาหาร

การบุกตลาดของ Cargill หนึ่งในบริษัทเอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีอายุถึง 155 ปี สะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตในธุรกิจ plant-based มีมากเพียงใด และอาจกลายเป็นคู่แข่งของบริษัทสตาร์ทอัพอย่าง Beyond Meat และบริษัทเอกชน Impossible Foods นอกจาก Cargill แล้ว ก่อนหน้านี้บริษัทปศุสัตว์หลักๆ เช่น Tyson Foods และ Smithfield Foods ก็เริ่มขายเนื้อทำจากพืชไปบ้างแล้วเช่นกัน

เนื้อทำจากพืชมีดีมานด์ในตลาดที่สูงขึ้น หลังจากผู้บริโภคพยายามหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์จริงจากเหตุผลด้านสุขภาพ รวมถึงแนวคิดเรื่องสวัสดิภาพและสิ่งแวดล้อมของสัตว์ที่เลวร้ายในฟาร์ม ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นหันมารับประทานอาหาร plant-based แทน

“เราเชื่อว่าเราอยู่ในจุดที่พิเศษในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในซัพพลายเชนการผลิต” Elizabeth Gutschenritter กรรมการผู้จัดการทีมโปรตีนทดแทนของ Cargill กล่าว

ตัวอย่างกระแสอาหาร plant-based ซึ่งปรากฏในเมนูบนสายการบินคาเธย์ แปซิฟิก

สำหรับผลิตภัณฑ์แรกนี้ Cargill จะแบ่งเนื้อออกเป็น 2 ประเภทคือ กลุ่มเนื้อ plant-based ที่ผลิตจากถั่วเหลือง และกลุ่มที่ผลิตจากถั่วลันเตา โดยบริษัทแนะนำว่าสามารถนำไปใช้ทำอาหารได้หลากหลาย เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ทาโก้ หรือใส่ในซอสสปาเก็ตตี้ Cargill ยังจะใช้วิธีจัดจำหน่ายโดยอนุญาตให้ร้านค้ารีเทลสามารถจำหน่ายผ่านแบรนด์ของตนเองได้

การเลือกผลิตออกมาทั้งเนื้อที่ทำจากถั่วเหลืองและที่ทำจากถั่วลันเตาเป็นการปะทะกับเจ้าตลาดทั้งสอง เพราะ Beyond Meat ขณะนี้ผลิตสินค้าจากถั่วลันเตาอยู่ และ Impossible Foods ผลิตจากถั่วเหลือง

Beyond Meat รุกตลาดไปก่อนแล้ว โดยปีก่อนมีการจับมือผลิตเนื้อบดทำแฮมเบอร์เกอร์ให้กับ McDonald’s

การปะทะดังกล่าวไม่ใช่แค่ในแง่ของผู้ซื้อ แต่ยังปะทะในแง่ซัพพลายเชนด้วย เพราะซัพพลายวัตถุดิบต้นทางของการผลิตนั้นมาจากแหล่งเดียวกัน

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ Puris บริษัทผู้ผลิตโปรตีนจากถั่วลันเตา เป็นซัพพลายเออร์ให้กับทั้ง Cargill และ Beyond Meat และบริษัท Cargill ได้ทุ่มลงทุนในบริษัท Puris มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2018 ซึ่งบริษัทนำมากล่าวอ้างถึงการ ‘ควบคุมซัพพลายเชน’ จากการลงทุนดังกล่าว เนื่องจากซัพพลายโปรตีนถั่วลันเตามีจำนวนจำกัด

“Cargill เป็นองค์กรขนาดยักษ์ ดังนั้นการดีลธุรกิจกับใคร เราจึงสามารถเป็นได้ทั้งซัพพลายเออร์และคู่แข่งในพื้นที่ธุรกิจที่ต่างกัน” Gutschenritter กล่าว “ความสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบจะเป็นประโยชน์กับเราอย่างมากแน่นอน”

บริษัท Cargill นั้นเป็นที่รู้จักในฐานะผู้จัดจำหน่ายสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ไปทั่วโลก รวมถึงเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว บริษัทมีการลงทุนสะสมถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ แต่กลุ่มเนื้อจากพืชซึ่งเป็นกลุ่มโปรตีนทางเลือก ยังมีสัดส่วนใช้งบวิจัยพัฒนาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพียง ‘หลักหน่วย’ ในระดับต่ำ

Source