“บริดจสโตน” ปรับทัพรับตลาดยางซบ ควบรวม A.C.T เป็น COCKPIT สู้ศึก “ฟาสต์ฟิต” เเข่งดุ

“บริดจสโตน” ปรับทัพในยุคอุตฯ รถยนต์-ตลาดยางซบเซา หันมารุกธุรกิจ “ฟาสต์ฟิต” ในไทย เเม้การเเข่งขันสูงเเต่เติบโตต่อเนื่อง มองเทรนด์คนใช้จ่ายลด-ใช้รถคันเดิมต้องซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้น ประกาศยุบเเบรนด์ A.C.T เปลี่ยนเป็น COCKPIT รวมกันให้ได้ 320 สาขา ตั้งเป้าใน 3 ปีขี้นเป็นเบอร์หนึ่ง ส่วน Autoboy ย้ำยังไม่มีเเผนพัฒนาต่อ

ตลาดยางซบเซา เร่งเครื่องค้าปลีก 

สภาอุตสาหกรรมฯ ประเมินว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปี 2563 อยู่ในภาวะหดตัวราว 7-8% ซึ่งคาดว่าจะมียอดขายรวมแค่ 9 แสนคันเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรม “ยางรถยนต์” ที่ต้องหดตัวลงไปด้วย

ปีนี้ “บริดจสโตน” ผู้ผลิตยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางรายใหญ่ของในโลก ที่มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกอยู่ที่ 14.5% (ปี 2562) จึงหันมารุกตลาดค้าปลีกเเละฟาสต์ฟิต (Fast Fit – ศูนย์บริการรถยนต์เเบบเร่งด่วน) มากขึ้น

“เมื่อกำลังซื้อลด คนประหยัดเงินมากขึ้น มีการซื้อรถใหม่น้อยลง เเม้จะมีผลกระทบต่อธุรกิจยางโดยตรง เเต่อีกมุมที่น่าสนใจคือคนเลือกใช้รถคันเดิมของตัวเองมากขึ้น ทำให้ต้องซ่อมบำรุงรถมากขึ้นไปด้วย ซึ่งจะทำให้ธุรกิจฟาสต์ฟิตเติบโต” ธนวัฒน กิตติรัตนาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริดจสโตน เอ.ซี.ที (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

ย้อนกลับไป ก้าวแรกของธุรกิจค้าปลีกของบริดจสโตนในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2534 จากการเปิดตัว Cockpit (ค็อกพิท) ศูนย์บริการยางรถยนต์สาขาแรกในไทย ที่บริหารงานโดยบริษัท บริดจสโตนเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาในปี 2551 บริดจสโตนได้เข้าซื้อกิจการเครือข่ายค้าปลีกของกลุ่มเชลล์ และจัดตั้งเป็น “บริษัท บริดจสโตน เอ.ซี.ที (ประเทศไทย) ขึ้นเพื่อมาดูแลศูนย์บริการรถยนต์ภายใต้แบรนด์ A.C.T (แอค) ศูนย์บริการรถยนต์ที่พร้อมให้บริการแก่ผู้ใช้รถยนต์ ตั้งแต่การบริการเปลี่ยนยางรถยนต์
น้ำมันเครื่อง เบรก โช้คอัพ แบตเตอรี่ และการบำรุงรักษารถยนต์

ปัจจุบันจำนวนสาขาของ ค็อกพิท มีจำนวน 230 แห่งทั่วประเทศ และ เเอคมีจำนวน 60 แห่งทั่วประเทศ โดยกลยุทธ์หลักของปี 2563 นั่นคือการ “ควบรวม” เปลี่ยนศูนย์บริการของแอคทุกสาขา ให้เป็น “ค็อกพิท” ทั้งหมดเป็นเเบรนด์เดียวเเละเพิ่มสาขาใหม่อีกราว 20 สาขา ให้ได้ทั้งหมดราว 320 สาขาในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งด้านจำนวนสาขา เพื่อสู้ตลาดฟาสต์ฟิตที่มีการเเข่งขันสูงมาก

ควบรวมเเบรนด์ A.C.T เป็น COCKPIT ลุยธุรกิจฟาสต์ฟิต

ตลาดฟาสต์ฟิตในไทยมีการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งกิจกรรมทางการตลาด โปรโมชั่นการเเข่งขันทางราคา และมีแบรนด์หน้าใหม่เข้ามาตีตลาดศูนย์บริการรถยนต์เพิ่มขึ้นมาทุกปี

จากข้อมูลปี 2562 ระบุว่า ธุรกิจ “ฟาสต์ฟิต” หรือศูนย์บริการรถยนต์ทั่วไปประเภทเร่งด่วน มีมูลค่าตลาดรวมราว 3.4 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น สินค้าในกลุ่มยาง 1.5 หมื่นล้านบาท, น้ำมันหล่อลื่น 7,200 ล้านบาท, แบตเตอรี่ 9,500 ล้านบาท, ผ้าเบรก 2,500 ล้านบาท โดยตลาดยังโตต่อเนื่อง เพราะผู้คนต้องใช้รถเดินทางทุกวัน ทำให้การบำรุงรักษาเป็นเรื่องจำเป็น

“การที่เราเลือกเปลี่ยนเเอคให้เป็นค็อกพิท เพราะว่าจากการสำรวจจดจำแบรนด์ของผู้บริโภคพบว่า ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ค็อกพิทได้มากกว่าเเอค เพราะให้บริการมานานกว่า 29 ปี มีสาขามากกว่าเเละมีการลงทุนประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง”

สำหรับการเปลี่ยนภาพลักษณ์สาขาแบรนด์แอคมาเป็นค็อกพิท จะเน้นไปที่การเปลี่ยนป้ายร้านเเละจะทยอย “เปลี่ยนสีร้าน” จากเดิมของเเอคจะมีสีฟ้าเป็นสีของหลักของเเบรนด์ ให้มาใช้เป็น “สีเหลือง” ซึ่งเป็นสีหลักของค็อกพิท โดยวางงบประมาณรีโนเวตไว้ที่สาขาละ 1 ล้านบาท ขณะที่การเปิดสาขาใหม่นั้นใช้งบลงทุนราว 15-20 ล้านบาทต่อสาขา

ภาพร้านเดิมของ A.C.T ที่มีสีฟ้าเป็นสีหลักของเเบรนด์

กลยุทธ์หลักของค็อกพิทปีนี้ คือยกระดับให้เป็นศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร นำเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการ ทุกสาขาต้องซ่อมบำรุงได้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป พวกเขาต้องการสิ่งที่ครบจบในที่เดียวเเละ
ต้องการความรวดเร็ว เป็นที่มาของสโลแกนใหม่ของปีนี้อย่าง “คุ้มครบไว อุ่นใจที่ค็อกพิท” 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเเผนการตลาดของค็อกพิทที่เพิ่มมาในปีนี้ คือการเน้นการโปรโมต “เรื่องราคาเเละโปรโมชั่น” ซึ่งเเตกต่างจากปีก่อนๆ ที่เน้นเรื่องคุณภาพ มาตรฐานบริการเเละความเชื่อมั่นเป็นหลัก เพราะตอนนี้หลายเจ้าในตลาดหันมาจูงใจลูกค้าด้วยเรื่องราคา ค็อกพิทจึงต้องเริ่มใช้การตลาดส่วนนี้ด้วย 

“จากการปรับกลยุทธ์เเละการควบรวมสาขานี้ คาดว่าจะสามารถคาดการณ์ยอดขายเติบโตขึ้น 10% โดยเทียบจากยอดขายปีที่ผ่านมา (ปีก่อนโต 5%) และคาดว่าภายใน 3 ปี ค็อกพิทจะขึ้นเป็นผู้นำในตลาดฟาสต์ฟิตได้อย่างแน่นอน” ธนวัฒนระบุ

ทั้งนี้ รายได้ของศูนย์บริการรถยนต์เเบบฟาสต์ฟิต เเบ่งเป็นยางรถยนต์ถึง 90% ส่วนผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ อย่างน้ำมันเครื่อง, แบตเตอรี่, เบรก, โช้คอัพ และการบำรุงรักษารถยนต์ อีกราว 10%

ขณะที่เเบรนด์ฟาสต์ฟิตในเครือของบริษัทอีกเเบรนด์อย่าง “Autoboy” ที่ปัจจุบันมีอยู่ 50 สาขา ผู้บริหารบริดจสโตนบอกว่า “กำลังอยู่ในช่วงการพิจารณาที่จะรวมสร้างเป็นเเบรนด์เดียว ตอนนี้จึงยังไม่มีเเผนพัฒนาต่อเเละไม่ได้มีการทำตลาดใหม่ อนาคตจึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำมารวมกัน”

สาขาของ A.C.T ที่เริ่มปรับมาใช้โลโก้ของ Cockpit เเล้ว เเต่ยังไม่เปลี่ยนสีทั้งหมด ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อไป

“บริดจสโตน” ในไทย ตั้งเอ็มดีใหม่ ผู้เริ่มโปรเจกต์รีเทล

รายงานข่าวเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. ระบุว่า มีการประกาศเเต่งตั้ง “ฟูมิทาคะ ทาคาโอคะ” ขึ้นดำรงตำเเหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริดจสโตนเซลส์ (ประเทศไทย) โดยเขาเคยบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ (OE) และธุรกิจตลาดยางทดแทน (Replacement) เเละเป็นผู้นำในการริเริ่มโปรเจกต์ใหญ่อย่างการจัดตั้งทีมลุยตลาดค้าปลีก Bridgestone Retail Thailand โปรเจกต์ Wholesale Partnership และ B Solutions สำหรับธุรกิจยางรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น

“การแข่งขันของธุรกิจยางรถยนต์ในประเทศไทยในปัจจุบัน ถือว่าเป็นความท้าทายของตัวผมเองที่จะนำประสบการณ์การทำงานกว่า 30 ปีมาช่วยขับเคลื่อนบริดจสโตนในไทย”

จากผลงานของเอ็มดีใหม่ที่เคยรุกธุรกิจยางทดแทนเเละทำโปรเจกต์ค้าปลีก ก็เป็นที่น่าจับตาว่ามีโอกาสสูงที่เขาจะนำพาธุรกิจไปในทิศทางนี้ เพื่อสู้ตลาดยางรถยนต์ที่กำลังหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง