ย้อนรอยผลงาน “แม็คโคร” 5 ปี หลังอยู่ในมือ “เจ้าสัว CP” กำไรเฉลี่ยปีละ 6,178 ล้านบาท

กลายเป็นข่าวร้อนแรงในช่วงสัปดาห์นี้ กลุ่ม CP ชนะการประมูล TESCO สำหรับการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ซึ่งมี 3 กลุ่มบริษัทใหญ่จาก 3 ตระกูลที่สนใจ ได้แก่ กลุ่มซีพี ของตระกูลเจียรวนนท์, เซ็นทรัล กรุ๊ป ของตระกูลจิราธิวัฒน์ และทีซีซี กรุ๊ป ของตระกูลสิริวัฒนภักดี

ย้อนผลงาน 5 ปี

โดยก่อนหน้านี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดว่า กลุ่ม TCC กรุ๊ปของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เตรียมใช้สินเชื่อระยะสั้น 2 ปีที่กู้มาจากสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.14 แสนล้านบาท เข้าซื้อกิจการทั้งในไทยและมาเลเซียของ “เทสโก้” ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสัญชาติอังกฤษ ถือเป็นความภูมิใจคนไทยที่กลับมาเป็นเจ้าของ Tesco Lotus อีกครั้ง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ พูดถึงการเข้าร่วมแข่งขันซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยและมาเลเซียเป็นครั้งแรกว่า ต้องซื้อเพราะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย มั่นใจว่าจะทำได้ดีกว่าเดิมเท่าตัว เปรียบธุรกิจเหมือนลูกที่เคยให้คนอื่นไปช่วยเลี้ยง ยืนยันไม่ผูกขาดแน่นอน

ทำให้ต้องย้อนกลับไปดูลูกคนแรก นั่นคือแม็คโคร ที่ CP ได้กลับคืนมาเมื่อ 5 ปีก่อน ว่าทำได้ดีเพียงไร

ย้อนไปในช่วง 5 ปีก่อน มีวลีเด็ดว่า “เราไม่ได้ซื้อแม็คโครในราคาแพงอย่างที่ใครคิด เพราะการซื้อครั้งนี้ เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ทำให้สามารถค้าส่งได้ คุณภาพดี ราคาถูก” ซึ่งเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อในวันที่ตัวเองต้องจ่ายเงิน 188,000 ล้านบาทเพื่อครอบครองแม็คโครในไทย จำนวน 57 สาขา และสิทธิ์ในการขยายแม็คโครไปยังต่างประเทศ

คำถามคือ ณ วันนี้แม็คโครในมือ “เจ้าสัวธนินท์” ผ่านมา 5 ปี ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแล้วหรือยัง?

หากวัดในแง่ผลกำไร 4 ปีกับ 9 เดือนนั้น แม็คโครมีกำไรรวมกันอยู่ที่ประมาณ 26,200 ล้านบาท แต่จะวัดแค่กำไรไม่ได้ ต้องดูมูลค่าสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การขยายไปต่างประเทศ เมื่อนำจำนวนสาขามาเปรียบเทียบกันจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงที่ CPALL เข้าซื้อกิจการนั้นมี 57 สาขา แต่ในวันนี้มีถึง 123 สาขาเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2560 และในปี พ.ศ. 2561 ก็ถูกประมาณการอยู่ที่ 140 สาขา

กำไรที่เติบโตของแม็คโคร หลังกลับมาอยู่กับ CP

ในอดีตก่อนแม็คโครจะมาอยู่ในมือเจ้าสัว CPALL มีกำไรเฉลี่ยประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท แต่วันนี้แม็คโครมีกำไรต่อปีสูงถึง 6,178 ล้านบาทเลยทีเดียว เติบโตจนมีขนาดใหญ่ขึ้น 200% จะเห็นว่าแนวคิดของแม็คโครนับตั้งแต่อยู่ภายใต้มือของ “เจ้าสัวธนินท์” ก็คือ แม้จะมีสาขาขนาดใหญ่ดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ก็เลือกที่จะเน้นขายสินค้าเฉพาะทางเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในแม็คโคร

พอมาดูตัวเลขทางการเงินย้อนหลัง ก็เป็นดังนี้

ปี 2558 ยอดขาย 155,917.19 ล้านบาท กำไร 5,378.48 ล้านบาท
ปี 2559 ยอดขาย 172,790.13 ล้านบาท กำไร 5,412.52 ล้านบาท
ปี 2560 ยอดขาย 186,754.02 ล้านบาท กำไร 6,178.13 ล้านบาท
ปี 2561 ยอดขาย 192,930.09 ล้านบาท กำไร 5,941.99 ล้านบาท
ปี 2562 ยอดขาย 206,180 ล้านบาท เติบโต 9.3% กำไรสุทธิ 6,244.59 ล้านบาท

รวมไปถึงการไม่ได้เป็นห้างค้าส่งแบบ “หลงยุค” เมื่อแม็คโครเปิดช่องทางขายออนไลน์ ทั้งผ่านหน้าเว็บไซต์ตัวเอง จนถึงการมี Makro Application ที่ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดใช้งานมากกว่า 300,000 ราย ดังนั้นถือเป็นการติดปีกให้กับธุรกิจค้าส่งของประเทศไทย เปิดช่องทางให้ SMEs จนมีศักยภาพในการขยายไปต่างประเทศ รวมถึงประเทศอินเดีย

สำหรับการซื้อเทสโก้ โลตัส ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่จะเป็นการพลิกโฉมไฮเปอร์มาร์ท ที่เอาคนเดิมมาพัฒนา ติดปีกให้สามารถบุกตลาดออนไลน์ ในขณะที่พัฒนาธุรกิจเดิมให้แข็งแกร่ง โดยใช้คนเดิมทำเรื่องเดิมให้ดีขึ้น และเอาคนรุ่นใหม่มาทำเรื่องใหม่ๆ เช่น การทำตลาดออนไลน์ หรือธุรกิจตัวเบา

ทั้งนี้ หากดูความพึงพอใจของพนักงาน จะเทียบได้กับกรณีแม็คโครที่ยังคงมีผู้บริหารและพนักงานชุดเดิม แต่ที่เปลี่ยนแปลงคือแนวคิดในการพัฒนาแบบ “พอใจวันเดียว” ซึ่งเป็นของเจ้าสัว ที่เราต้องจับตาดูกันต่อไปว่า โลตัส จะเป็นได้อย่างแม็คโครหรือไม่

Source