มุมมอง “ธุรกิจกงสี” ในมือทายาทรุ่นใหม่ สู้เศรษฐกิจซบเซา-โรคระบาด ธุรกิจเล็กเสี่ยงล้ม

ต้องยอมรับว่า “ธุรกิจครอบครัว” หรือที่เรามักเรียกว่า “ธุรกิจกงสี” เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทุกวันนี้ ด้วยการมีอยู่ถึง 80% ของระบบเศรษฐกิจเเละมีมูลค่ารวมถึง 30 ล้านล้านบาท โดยจำนวนเกินครึ่งของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ SET50 เป็นธุรกิจครอบครัว มีมูลค่าในตลาด รวมกว่า 4.76 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจาก ตลท. ณ วันที่ 28 ก.พ. 63)

เป็นที่น่าจับตามองว่า ธุรกิจครอบครัวไทยราว 90% กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเเละเเนวทาง “เเตกต่าง” จากคนรุ่นพ่อเเม่หรือปู่ย่าตายาย

นักธุรกิจรุ่นใหม่เหล่านี้มีความคิดเห็นต่อ “การปรับปรุงเเละพัฒนา” องค์กรไปในทิศทางใด ขณะที่ต้องเผชิญความท้าทายทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภัยโรคระบาด ค่าเงินบาทผันผวน การขาดเเคลนเเรงาน เเละการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคดิจิทัล

เปิดรายงาน NextGen Survey 2019 ผลสำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัว ฉบับแรกของ PwC โดยความท้าทายอันดับที่ 1 ของธุรกิจครอบครัวในสายตาผู้นำรุ่นใหม่ในปีนี้ คือการเข้ามาของดิจิทัลที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ (Digital disruption) ในอนาคต

NextGen Survey 2019 ได้สำรวจความคิดเห็นผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ทั่วโลกจำนวนกว่า 950 ราย รวมทั้งผู้นำธุรกิจครอบครัวไทยจำนวน 31 ราย

เปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัล ความหวังพาธุรกิจรอด 

“ผู้นำรุ่นใหม่คาดหวังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยในกลุ่มนี้กว่า 81% ต้องการมีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวอย่างเเข็งขัน ส่วนอีก 13% ตั้งใจมีส่วนร่วมในอนาคต เเละอีก 6% คิดว่าจะไม่มีส่วนในกิจการครอบครัวในอนาคต”

ผลสำรวจชี้ว่ากว่า 83% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ มองว่าการมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัลเป็นสิ่งที่พวกเขาจะให้ความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ การดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ และการเสริมสร้างทักษะให้กับพนักงานที่ 62% เท่ากัน

นอกจากนี้ 79% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทย เห็นว่าการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัลจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจครอบครัวและช่วยให้กิจการสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ขณะเดียวกัน มองว่าอุปสรรคที่ทำให้กิจการครอบครัวยังตามหลังคู่เเข่งคือ การใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารอย่างมืออาชีพ เเละการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรเเบบผู้ประกอบการ ส่วนข้อได้เปรียบของธุรกิจครอบครัวคือ การมุ่งเน้นให้บริการลูกค้า มีเป้าหมายชัดเจนเเละความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร 

“การเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับธุรกิจในยุคนี้ แต่วิธีการที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความความสำเร็จต่างหาก คือความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจครอบครัวของไทยหลายราย ยังค้นหาหนทางไม่พบ”

นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงาน Clients and Markets หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัวและหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า แม้สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแบบนี้อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล รวมไปถึงการยกระดับทักษะขององค์กรหลายแห่ง เเต่ผลลัพธ์ของการนิ่งเฉยจะยิ่งส่งผลเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาลเพราะในที่สุด ทุกองค์กรไม่เฉพาะธุรกิจครอบครัว จำเป็นที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเป็นผลดีกับองค์กรในระยะยาว

Upskilling เป็นเรื่องที่รอไม่ได้

ผลจากการสำรวจ ได้เปิดเผยถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรด้วยการยกระดับทักษะ (Upskilling) ให้กับตัวผู้นำรุ่นใหม่และพนักงาน

โดย 83% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทย เชื่อว่าการยกระดับทักษะจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจครอบครัวได้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ในเอเชียแปซิฟิก (62%) และทั่วโลก (61%)

โดยองค์กรที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานส่วนต่าง ๆ จะสามารถบริหารจัดการเรื่องต้นทุนได้ดีกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานได้มากขึ้นอีกด้วย

“การยกระดับทักษะแรงงานเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ทำได้หลายวิธี โดยผู้นำรุ่นใหม่หรือแม้กระทั่ง พนักงาน สามารถอัพสกิลตัวเองได้ผ่านการเรียนรู้จากเว็บไซต์ แอปพลิเคชันต่างๆ คอร์สเรียนออนไลน์หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต”

เศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจขนาดเล็กเสี่ยงปิดกิจการ 

ปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งการระบาดของไวรัสCOVID-19 ได้ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการผลิตในบางกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงตามกำลังซื้อที่หดตัวจากการขาดรายได้จากแรงงานในภาคการขนส่งและท่องเที่ยว

ผู้บริหาร PwC ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนี้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อย หรือ SMEs รวมไปถึงบริษัทขนาดเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนไม่สูง โดยมองว่า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 เดือนนี้อาจเห็นธุรกิจขนาดเล็กเริ่มปิดกิจการ

โดยคาดว่าการระบาดของไวรัสนี้ อาจจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ได้ ต้องติดตามว่าสถานการณ์จะกินเวลานานแค่ไหน จึงจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ซึ่งหากยืดเยื้อ มองว่าน่าจะเห็นธุรกิจครอบครัวหรือบริษัทขนาดเล็ก จะล้มหายไปจากระบบพอสมควร

“แต่ในมุมกลับกัน นี่เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจครอบครัวที่มีความพร้อมด้านเงินทุนในการซื้อกิจการหรือหาพาร์ตเนอร์ เพื่อเป็นพันธมิตรเพราะน่าจะได้ของดี ราคาไม่แพงและต้นทุนทางการเงินไม่สูงนัก เนื่องจากอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง”

ผู้บริหาร PwC ฝากถึงผู้นำรุ่นใหม่เเละเจ้าของกิจการว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะเลวร้ายแค่ไหน แต่เราไม่สามารถหยุดที่จะพัฒนาตัวเองและองค์กรได้ เพราะการยกระดับทักษะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนเพื่อให้อยู่รอดและแข่งขันได้ในโลกทำงานยุคดิจิทัล