สำรวจห้างสัญชาติญี่ปุ่นในไทย ม้วนเสื่อกลับบ้านไปแล้ว 3 ราย ไทยไดมารู-เยาฮัน-อิเซตัน

สำรวจห้างสัญชาติญี่ปุ่นในไทย ที่เปิดมาแล้ว 8 ราย แต่ไทยไดมารู และเยาฮัน ได้ม้วนเสื่อกลับบ้านไปแล้ว 2 ก่อนที่อิเซตันจะโบกมือลาเซ็นทรัลเวิลด์ ยังมีอีก 5 รายที่ขอไปต่อในยุคนี้

กลายเป็นที่พูดถึงบรรดานักช้อปสายญี่ปุ่น เมื่อห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ออกหนังสือถึงผู้มีอุปการคุณ ระบุว่า ทางห้างฯ ตัดสินใจยุติการดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 อันเนื่องจากการสิ้นสุดลงของสัญญาเช่ากับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

ข้อมูลในปี 2562 เครืออิเซตัน มิตซูโคชิ มีห้างสรรพสินค้ารวม 22 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ มิตซูโคชิ (Mitsukoshi) 12 สาขา, อิเซตัน (Isetan) 6 สาขา, มารุอิ อิไม (Marui Imai) 2 สาขา และ อิวาตายะ (Iwataya) 2 สาขา ไม่นับรวมค้าปลีกขนาดกลาง และขนาดเล็กอีก 130 แห่ง

ส่วนต่างประเทศมีห้างอิเซตัน มิตซูโคชิ 19 แห่ง แบ่งออกเป็นประเทศจีน 5 สาขา สิงคโปร์ 5 สาขา มาเลเซีย 4 สาขา และไทย 1 สาขา ส่วนห้างชินโค มิตซูโคชิ มี 15 แห่ง ในประเทศอิตาลี สหรัฐอเมริกา จีน และไต้หวัน

ไทยไดมารูประเดิมห้างแรก

ในประเทศไทยมีห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 2507 ในชื่อ ห้างไทยไดมารู สาขาแรกที่สี่แยกราชประสงค์ เปิดให้บริการ 10 ธันวาคม 2527 มีบันไดเลื่อนแห่งแรกในไทย ก่อนจะย้ายไปที่ศูนย์การค้าราชดำริ อาเขต (บิ๊กซี ราชดำริ) แต่หมดสัญญาในปี 2537 ย้ายไปที่ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ ปิดกิจการในปี 2543

จากนั้นในปี 2527 ก็เริ่มมีห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นเปิดให้บริการตามมา ทั้งห้างโซโก้” สาขาแรกที่อัมรินทร์ พลาซ่า, ห้างจัสโก้” สาขาแรกที่รัชดาภิเษก, ปี 2528 มีห้างโตคิว” สาขาแรกที่มาบุญครองเซ็นเตอร์, ปี 2534 มีห้างเยาฮัน” สาขาแรกที่ฟอร์จูนทาวน์ โดย อิเซตัน” เข้ามาเป็นแบรนด์ที่ 6 ในปี 2535

ที่ผ่านมาห้างสัญชาติญี่ปุ่นต่างล้มลุกคลุกคลาน นับตั้งแต่การรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในปี 2516 กระทั่งหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ไทยไดมารูและเยาฮันม้วนเสื่อกลับบ้าน ส่วนจัสโก้ของกลุ่มอิออน หลังเจ็บตัวกับธุรกิจห้างสรรพสินค้า ก็ปรับตัวทำธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตในชื่อ แม็กซ์แวลู เปิดสาขาต้นแบบที่ถนนนวมินทร์ในปี 2550

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ก็มีห้างสัญชาติญี่ปุ่นผุดอีก 2 แห่ง ในปี 2561 ห้างสยาม ทาคาชิมายะ สาขาแรกที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม และในปี 2562 มี ห้างดองกี้ มอลล์ สาขาแรกที่ย่านเอกมัย ร่วมทุนกับกลุ่มสี TOA โดยเตรียมเปิดสาขาที่ 2 ที่ศูนย์การค้าเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ถนนราชดำริ ของกลุ่มแพลทินัมอีกด้วย

การม้วนเสื่อกลับบ้านของห้างอิเซตัน นับเป็นรายที่ 3 ต่อจากไทยไดมารูและเยาฮัน แต่ยังมีห้างสัญชาติญี่ปุ่นเหลืออีก 5 แบรนด์ที่ยังคงตอบสนองไลฟ์สไตล์ญี่ปุ่นแก่ลูกค้าชาวไทย ขณะที่ผลจากการแข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ และทางการญี่ปุ่นฟรีวีซ่าชาวไทย ก็ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งได้มีโอกาสช้อปปิ้งไกลถึงญี่ปุ่นอีกด้วย

รายชื่อห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น

  • 2507-2543 ไทยไดมารู สาขาแรก ราชประสงค์ เปิด 10 ธันวาคม 2507 (ปิดกิจการปี 2543)
  • 2527 โซโก้ สาขาแรก อัมรินทร์ พลาซ่า เปิด 1 ธันวาคม 2527
  • 2527 จัสโก้ สาขาแรก รัชดาภิเษก เปิดเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2527 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น แม็กซ์แวลู)
  • 2528 โตคิว สาขาแรก มาบุญครองเซ็นเตอร์ เปิดกลางปี 2528
  • 2534 เยาฮัน สาขาแรก ฟอร์จูนทาวน์ (ปิดกิจการปี 2540)
  • 2535 อิเซตัน สาขาแรก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปิดกิจการ 31 สิงหาคม 2563)
  • 2561 สยาม ทาคาชิมายะ สาขาแรก ไอคอนสยาม เปิด 9 พฤศจิกายน 2561
  • 2562 ดองกี้มอลล์ สาขาแรก เอกมัย เปิด 22 กุมภาพันธ์ 2562

อิเซตันไม่ต่อสัญญา

สำหรับห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ประเทศไทย เปิดให้บริการเมื่อปี 2535 ในศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ สี่แยกราชประสงค์ ท่ามกลางความล่าช้าของโครงการที่กลุ่มวังเพ็ชรบูรณ์ ของตระกูลเตชะไพบูลย์ ซึ่งเช่าที่ดิน 65 ไร่ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถก่อสร้างโรงแรมและอาคารสำนักงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด

สุดท้ายสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงยกเลิกสัญญาและเปิดประมูลใหม่ ปัจจุบันเจ้าของคือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มเซ็นทรัล และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างสรรพสินค้าอิเซตันก็กลายเป็นผู้เช่าพื้นที่ระยะยาว (เซ้ง) ของ CPN อีกที

ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรง แค่เฉพาะกลุ่มเซ็นทรัลที่มีห้างเซ็นทรัล ชิดลม และเซน, กลุ่มเดอะมอลล์ มีห้างพารากอน ดีพาร์ทเมนท์ สโตร์ ในศูนย์การค้าสยามพารากอน และศูนย์การค้ากลุ่มเอ็ม ดิสทริคทั้งดิ เอ็มโพเรียม และดิ เอ็มควอเทียร์ ไม่นับรวมกระแสเกาหลีที่มาแรงในไทย

โดยที่อิเซตันยังคงเน้นลูกค้าที่เป็นคอญี่ปุ่น และตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ตัวห้างมีทั้งหมด 6 ชั้น พื้นที่รวม 27,000 ตารางเมตร จำหน่ายสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย รองลงมาคือญี่ปุ่นและชาติอื่นๆ

อิเซตันปรับปรุงห้างครั้งล่าสุดเมื่อปี 2558 โดยเพิ่มพื้นที่ฟู้ดฟลอร์บริเวณชั้น 5 ภายใต้ชื่อวะโชกุ แกลเลอรี่ โซนอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะแบรนด์ที่ส่งตรงมาถึงไทยและจำหน่ายที่อิเซตันที่เดียว โดยปัจจุบันมีลูกค้ามาใช้บริการประมาณ 1 ล้านคนต่อปี แต่ก็ยังไม่มีแผนที่จะขยายสาขาไปยังทำเลอื่น

ที่ผ่านมาอิเซตันเหมาจ่ายค่าเช่าพื้นที่ระยะยาวตั้งแต่สมัยเป็นเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ โดยที่ CPN ไม่มีการรับรู้รายได้ เมื่อสัญญาจะหมดลงในปี 2563 CPN ต้องการขอพื้นที่คืน 50% จากอิเซตันเพื่อนำมาพัฒนาเอง แต่สุดท้ายอิเซตันตัดสินใจไม่ต่อสัญญาเช่า และยุติการดำเนินธุรกิจในไทย

Source