Johnson & Johnson ทุ่ม 3.2 หมื่นล้านบาท พัฒนาวัคซีน COVID-19 หวังใช้ได้จริงต้นปี 2021

Photo : Shutterstock

บริษัทผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ Johnson & Johnson (J&J) ประกาศทุ่มงบวิจัยกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) ร่วมมือกับหน่วยวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ขั้นสูง หรือ BARDA พัฒนาวัคซีนจำนวน 1 พันล้านโดสเพื่อรักษาผู้ป่วย COVID-19

โดย J&J คาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองวัคซีนดังกล่าวได้ในช่วงกันยายนปีนี้ เเละหวังว่าจะได้รับอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มส่งมอบให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินในช่วงต้นปี 2021 ซึ่งนับว่าเร็วเมื่อเทียบกับการพัฒนาวัคซีนรักษาโรคอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยราว 18 เดือนขี้นไป

Alex Gorsky ประธานเเละซีอีโอของ J&J ระบุว่า “โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านสาธารณสุข เราจะมุ่งมั่นพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษาโรค ให้เข้าถึงได้ทั่วโลกโดยเร็วที่สุด”

วัคซีนต้าน COVID-19 ที่ได้รับการคัดเลือกของ Johnson & Johnson

หลังเริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่  J&J ได้เริ่มวิจัยและทดลองหลากหลายวัคซีนที่มีศักยภาพในการต้านไวรัสนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยทีมวิจัยจากบริษัท แจนเซ่น ฟาร์มาซูติกา ได้ร่วมมือกันกับ Beth Israel Deaconess Medical Center หน่วยงานในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อคิดค้นและทดลองวัคซีนมากมายโดยใช้เทคโนโลยี AdVac® ของแจนแซ่น

จากการดำเนินงานครั้งนี้ J&J ได้รับคัดเลือกให้เป็นวัคซีนตัวแรกที่จะถูกใช้ในการป้องกัน COVID-19 (โดยมีตัวสำรองอีก 2 รายการ) ซึ่งจะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการผลิตขั้นตอนแรกต่อไป

สำหรับโครงการวัคซีน COVID-19 ได้ใช้เทคโนโลยี AdVac (R) และ PER.C6(R) ของแจนแซ่น ซึ่งมีความสามารถในการพัฒนาตัวเลือกของวัคซีนใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังยกระดับการผลิตวัคซีนที่ได้รับการคัดเลือกไปพร้อมกัน เทคโนโลยีเดียวกันนี้เคยถูกนำไปใช้พัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันอีโบลาของบริษัท และสร้างวัคซีนที่จะถูกนำไปคัดเลือกเพื่อต้านเชื้อซิกา อาร์เอสวี และ เอชไอวี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาทางคลินิกเฟสสองหรือเฟสสาม

นอกจากความพยายามในการพัฒนาวัคซีนแล้ว BARDA และ J&J ยังได้ขยายความร่วมมือ เพื่อเร่งการดำเนินงานของแจนเซ่นในการตรวจคัดกรองคลังสารเคมีที่เก็บไว้ (compound libraries) ซึ่งรวมถึงสารเคมีจากบริษัทเวชภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย โดย J&J และ BARDA จะให้เงินทุนสนับสนุนในส่วนของความร่วมมือครั้งนี้ ความพยายามในการคัดกรองยาต้านไวรัสนี้เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือกับสถาบันเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ Rega (KU Leuven/University of Leuven) ในประเทศเบลเยียม

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน การรักษา หรือยารักษา COVID-19 ใด ๆ ที่ได้รับการอนุมัติ โดยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เริ่มเเพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนเมื่อช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา ก่อนจะเเพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆ ล่าสุดขณะนี้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 34,000 คนทั่วโลก โดยสหรัฐอเมริกากำลังเป็นประเทศที่มีการยืนยันยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่มหานครนิวยอร์ก ขณะเดียวกันมีรายงานว่าเหล่าโรงพยาบาลต่างๆ กำลังประสบปัญหาขาดเเคลนอุปกรณ์ทางการเเพทย์ที่ใช้ในการรักษาโรคนี้

 

ที่มา : Reuters , jnj.com