Google Maps เปิดดาต้า “การรวมกลุ่มของประชาชน” ทั่วโลก พบคนไทยเดินทางลดลง 61%

บรรยากาศศูนย์การค้าเมกา บางนา ช่วงวันที่ 25 มี.ค. 63 หลังการประกาศปิดห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารแบบนั่งทานชั่วคราว
Google เปิดบิ๊กดาต้าที่เก็บได้จากการติดตามโลเคชันผู้ใช้บน Google Maps แสดงผลการเดินทางและการรวมกลุ่มของประชาชนในช่วงเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทั้งหมด 131 ประเทศ เพื่อช่วยรับมือกับไวรัส COVID-19 สำหรับประเทศไทย พบว่าคนไทยลดการเดินทางผ่านขนส่งมวลชน 61% และอยู่บ้านมากขึ้น 16%

Google Maps เก็บข้อมูลผู้ใช้จาก 131 ประเทศทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของผู้ใช้ตั้งแต่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือการล็อกดาวน์เพื่อต่อสู้กับการระบาดของไวรัส COVID-19

บริษัท Google หวังว่าข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐในการปกป้องประชาชน โดยตัวอย่างการนำไปใช้ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐสามารถวิเคราะห์สถานที่ที่คนยังเดินทางไปเยือนจำนวนมากและอาจจะมีคำสั่งเปลี่ยนเวลาเปิดปิด หรือสถานีขนส่งมวลชนสามารถวิเคราะห์ช่วงเวลาที่มีคนใช้บริการมาก เพื่อเติมรอบรถให้เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้คนบนรถสามารถเว้นระยะห่างจากกันได้มากขึ้น

การเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้ Google ยังเปิดเผยกับสาธารณชนด้วย เพื่อความโปร่งใสว่าข้อมูลที่บริษัทเก็บและนำมาเปิดเผยคืออะไรและถูกนำไปใช้อย่างไร บริษัทยังย้ำด้วยว่า จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงบุคคล ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้แจ้งว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลบ่อยครั้งแค่ไหน แต่ระบุว่าข้อมูลจะเปิดดาวน์โหลดในเวลาจำกัด

ด้านวิธีการเก็บข้อมูล มาจากข้อมูลผู้ใช้ Google Maps เมื่อมีการเคลื่อนที่และมีการตั้งค่าเปิด “location history” ไว้ ซึ่งข้อมูลนี้ Google Maps มีการเก็บและนำไปใช้ในฟีเจอร์ต่างๆ อยู่แล้ว เช่น ฟีเจอร์แสดงผลว่าร้านค้าหรือร้านอาหารนั้นๆ กำลังมีคนอยู่มากแค่ไหน หรือคนมักจะเยอะในช่วงเวลาใด

สำหรับ ข้อมูลประเทศไทย เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2563 สองวันหลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และยังผลให้แต่ละจังหวัดทยอยออกประกาศปิดสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมนุมชนต่างๆ ตามมา โดย Google Maps เปิดข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้ไทยไปยังสถานที่ต่างๆ ดังนี้

  • ศูนย์การค้า และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เช่น ร้านกาแฟ โรงภาพยนตร์ สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ลดลง 55%
  • โชห่วย ตลาดสด และร้านขายยา ลดลง 27%
  • สวนสาธารณะ ชายหาด ลดลง 54%
  • สถานีขนส่งสาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า สถานีรถไฟ ลดลง 61%
  • สถานที่ทำงาน ลดลง 21%
  • สถานที่พักอาศัย เพิ่มขึ้น 16%

(ข้อมูลเปรียบเทียบจากช่วง 3 ม.ค.- 6 ก.พ. 63)

ตามไปดูข้อมูลทุกประเทศจาก Google Maps กันได้ที่นี่

Source