How to ‘ฟื้นธุรกิจ’ จากวิกฤติ COVID-19 ด้วย ‘ออนไลน์’

เพราะวิกฤติโควิด-19 ที่ระบาด ส่งผลให้ห้างร้านต่าง ๆ ปิดลงหรือไม่ก็ต้องซื้อกลับบ้านเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเหมือนจะเป็น ‘โอกาสทอง’ ของโลก ‘ออนไลน์’ ไม่ว่าจะ ‘อีคอมเมิร์ซ’ หรือบริการ ‘OnDemand Delivery’ ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่มันจะ ‘ยั่งยืนไหม’ แล้วพ่อค้าแม่ค้าต้อง ‘เริ่ม’ อย่างไร มาฟังแนวทางจาก 3 กูรูในวงการ ได้แก่ ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา Co-founder & CEO Priceza, เลอทัด ศุภดิลก Head of E-Commerce LINE ประเทศไทย และ ลลักษณ์ มหาสุวีระชัย Co-founder & CEO NocNoc

โรคซาส์เป็นจุดเปลี่ยนอีคอมเมิร์ซ โควิด-19 ก็เช่นกัน

จุดกำเนิดของ อาลีบาบา และ JD.COM มาจากการระบาดของโรคซาส์ ที่ตอนนั้นมันบังคับให้ผู้บริโภคต้องปรับตัวสั่งออนไลน์ นั่นเป็นจุดพลิกผันของอีคอมเมิร์ซจีน และถ้าดูประเทศจีนเป็นตัวอย่าง เชื่อว่าไทยก็มีแนวโน้มสูงมาก ๆ เพราะว่าปัจจุบันอัตราการเข้าถึงของสมาร์ทโฟนของคนไทยเยอะมาก และด้วยสัดส่วนของการช้อปออนไลน์กับตลาดค้าปลีกไทยยังมีสัดส่วนแค่ 3% ดังนั้นโอกาสเติบโตยังมีอีกเยอะ ดังนั้น นี่เป็นการลดต้นทุนที่ดันให้ผู้บริโภคเข้ามาสู่ออนไลน์

“จังหวะนี้คนจำเป็นต้องอยู่บ้าน เพราะร้านค้าปิด เพราะงั้นตัวเลือกเดียวคือ ออนไลน์ ดังนั้น สถานการณ์ตอนนี้มันจะมาเร่งให้เกิด Disruption ไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างที่คนคิด เพราะเทคโนโลยีมีนานแล้ว แต่เป็นพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนครั้งใหญ่เพราะโลก ดังนั้นสิ่งที่เกิดคือ คนที่ไม่เคยลองออนไลน์ก็ได้มาลอง”

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา Co-founder & CEO Priceza

ทำให้คนกลับมาใช้ซ้ำได้ คือ ผู้ชนะ

ตัวเลขที่ไพรซ์ซ่าเก็บจากก่อนที่มีโควิด-19 (ธันวาคม-มกราคม) เทียบกับ มีนาคมที่วิด-19 ระบาดหนักพบว่า สินค้าอุปโภคบริโภค มีการเติบโต 119% รองลงมาที่ สินค้าเอนเตอร์เทนต์เมนต์ (ดูหนังฟังเพลง) ขณะที่สินค้าแฟชั่น ความงามไม่เติบโตอย่างที่เคย ดังนั้นไม่ใช่ออนไลน์ทุกส่วนที่เติบโต แต่ถ้าไม่มาออนไลน์ แปลว่าเป็น ‘ศูนย์’ อย่างตลาด 4 มุมเมืองก็หันมาขายออนไลน์ แม้รายได้อาจไม่เท่าตอนขายออฟไลน์ แต่จากนี้ไปเขาสามารถขายได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

“สถานการณ์ตอนนี้เป็นตัวเร่ง แต่การเติบโตนี้จะอยู่ยาวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ลูกค้าได้ ถ้าเซอร์วิสมันตอบโจทย์ ลูกค้าก็อยู่ แต่ถ้าไม่ เมื่อออฟไลน์กลับมาก็อาจจะกลับไปใช้เหมือนเดิม เช่นเดียวกับออนไลน์เดลิเวอร์รี่ ดังนั้นขึ้นอยู่กับเราว่าจะทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่ดีไหม โดยคีย์เดียวที่ต้องมีคือ Trust หรือความไว้ใจ”

เลอทัด ศุภดิลก Head of E-Commerce LINE ประเทศไทย

เริ่มต้นตอนนี้ ถือเป็นโอกาสทอง

ทุกแพลตฟอร์มตอนนี้พร้อมใจให้ร้านค้าใหม่ ๆ ขึ้นมาขายออนไลน์ อย่าง NocNoc.com มีการลดคอมมิชชั่น และเปลี่ยนจากการเทรนด์ผู้ขายออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ หรือ ไพรซ์ซ่าก็มีการให้ความรู้ฟรีผ่านออนไลน์จากกูรูในวงการหลายคน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นทำออนไลน์, ความแตกต่างแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งร้านเองอาจจะต้องศึกษาและหยิบเครื่องมือสักอย่างขึ้นมาใช้

ปัจจุบัน คนลุกขึ้นมาขายของออนไลน์จำนวนมาก หรือร้านไหนที่ขายแต่ออฟไลน์มาตลอด อยากให้ใช้จังหวะนี้ลองทำออนไลน์ และไม่จำเป็นต้องขายของอย่างเดียว ใครที่มีความสามารถอื่น ๆ ก็อาจจะทำอะไรที่เหมาะกับความสามารถ อาทิ เขียนรีวิว, เขียนบทความ นี่เป็นแนวทางหนึ่งในการหารายได้ที่อยู่ที่บ้าน หรือง่ายที่สุดก็คือ ไลฟ์ขายของในแพลตฟอร์มต่าง ๆ

“แม้ไม่ง่ายแต่ทำได้ เราต้องทดลองและเรียนรู้ ตอนนี้ไม่มีอะไรจะเสีย แค่มีมือถือก็เริ่มต้นได้แล้ว แค่ถ่ายรูป เขียนรายละเอียด และเอาขึ้นแพลตฟอร์มไหนก็ได้ ซึ่งต้นทุนของการลงไม่ได้สูงเลย และไม่ได้ยากอย่างที่คิด นี่เป็นโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพราะเรามีเวลามากว่าเดิม”

ลลักษณ์ มหาสุวีระชัย Co-founder & CEO NocNoc

Gift First กลยุทธ์ที่เหมาะกับวิกฤติ

การขายสินค้าออนไลน์ก็เหมือนการที่เราไปช่วยเเก้ปัญหาให้กับลูกค้า ดังนั้นต้องหาให้ได้ก่อนว่าเขามีปัญหาอะไร เเละสินค้าของเราจะเข้าไปช่วยเเก้ปัญหาให้กับเขาได้อย่างไร ดังนั้น ก่อนที่จะตั้งโจทย์ว่าจะขายอะไร ให้ตั้งเป็น สินค้าจะช่วยอะไร อย่างตอนนี้คนต้องใส่แมส เราจะเก็บแมสอย่างไร บางคนเลยเริ่มผลิตกล่องแก็บแมส ดังนั้น แทนที่จะบอกว่าเราขายอะไร ให้แนะนำว่า สินค้าช่วยปัญหาอย่างไร 

ขณะที่ เสน่ห์ของโซเชียลคอมเมิร์ซคือ คนต้องการซื้อของกับร้านค้าที่เคยคุยด้วย ดังนั้นอาจจะเริ่มจากแชร์ให้เพื่อน เพื่อเป็นฐานลูกค้ากลุ่มแรก โปรโมทให้ลูกค้าเก่ารู้ว่าร้านกลับมาเปิดในรูปแบบออนไลน์แล้ว อันนี้จะช่วยเยียวยา เมื่อผ่านวิกฤติเขาจะมีช่องทางเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจออนไลน์จะโตขึ้น แต่หากสถานการณ์ในระยะยาวยังเป็นแบบนี้ ผู้บริโภคก็จะไม่มีกำลังซื้อ วันหนึ่งก็ต้องมากระทบกับธุรกิจออนไลน์ เพราะไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ไม่มีเงิน

#line #NocNoc #Priceza  #E-Commerce #OnDemandDelivery #Derivery #Covid19 #online #offline #Positioningmag