ปิดฉาก 18 ปี “คมชัดลึก” ตีพิมพ์ฉบับสุดท้าย เลิกจ้างพนักงาน ชดเชย 10 เดือน

ปิดตำนาน 18 ปี “คมชัดลึก” นสพ.เครือเนชั่นกรุ๊ป ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายวันนี้ ระบุพิษ COVID-19 แผงหนังสือปิด คนอ่านไม่กล้าซื้อ ทรานส์ฟอร์มเร็วกว่าเป้าหมาย พบเลิกจ้างพนักงานจ่ายชดเชย 10 เดือน เหลือ “กรุงเทพธุรกิจ” ฉบับเดียว

ไปต่อไม่ไหว

หลังจากข่าวลือสะพัดถึงการปิดตัวของหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ในเครือเนชั่น พร้อมกับมีการผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ ปรับลดเงินเดือนพนักงาน จนถึงตอนนี้คมชัดลึกได้อำลาแผงเป้นที่เรียบร้อย

ในวันนี้หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ปีที่ 19 ฉบับที่ 6605 ลงวันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563 ได้ตีพิมพ์ประกาศยุติการพิมพ์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดยมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ระบุว่า

“เรียน ท่านผู้อ่านทุกท่าน

กองบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ขอเรียนให้ทราบว่า เราจะยุติการพิมพ์ นสพ.คมชัดลึก ซึ่งฉบับวันที่ 8 เมษายน 2563 เป็นฉบับสุดท้าย

เป็นที่ทราบดีว่า ในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารได้เปลี่ยนแปลงไป สื่อสิ่งพิมพ์ได้รับความนิยมน้อยลง ประชาชนหันไปบริโภคข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัล สื่อทางเลือกและสื่อโซเชียลแทน

ดังนั้น ด้วยพฤติกรรมดังกล่าวทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นสื่อหลักได้รับผลกระทบ อันเนื่องมาจากธุรกิจโฆษณาได้เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ต้นทุนในการผลิตหนังสือพิมพ์สูงขึ้น ขณะที่รายได้จากโฆษณาถูกแบ่งถูกแชร์ไปยังสื่ออื่น

นสพ.คมชัดลึก ก็เช่นเดียวกัน เราได้รับทราบความเปลี่ยนแปลงนี้มาเป็นเวลานาน เราจึงให้กองบรรณาธิการคมชัดลึกเป็นองค์กรนำร่องในการทรานส์ฟอร์มไปสู่สื่อดิจิทัล โดยเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะทรานส์ฟอร์มสื่อกระดาษ หรือออฟไลน์ไปสู่สื่อดิจิทัล หรือออนไลน์ 100% ภายในกลางปีนี้ ซึ่งกระบวนการทุกอย่างเดินหน้าไปด้วยความเรียบร้อย

ปัจจุบัน คมชัดลึก ออนไลน์ ได้รับความนิยมจากนักบริโภคข่าวสารที่เข้าไปในเว็บและผ่านช่องทางโซเชียลฯ เดือนละประมาณ 23 ล้านเพจวิว เราจึงได้วางแผนในการพัฒนาเพื่อการทรานส์ฟอร์ม นสพ.คมชัดลึก ไปสู่ คมชัดลึก ออนไลน์ แบบเต็มรูปแบบ

แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่นอกเหนือจากการวางแผน และเป็นสถานการณ์ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอ่าน และธุรกิจโฆษณา เดิมคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงเรื่อยๆ แต่เมื่อโควิดเข้ามา ทำให้แผงหนังสือปิด คนอ่านไม่กล้าเดินไปซื้อหนังสือ นี่คือตัวเร่งอีกปัจจัยหนึ่ง โดยที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะจบลงเมื่อไหร่

แน่นอนว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำใหเราตัดสินใจที่จะทรานส์ฟอร์ม นสพ.คมชัดลึก ไปสู่ คมชัดลึกออนไลน์และสื่อดิจิทัลในเครือเร็วกว่าเป้าหมายที่เรากำหนดไว้

กองบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก เราได้รับใช้คนอ่านมา 19 ปี วันนี้ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สื่อที่ทันสมัยกว่าเดิม เนื้อหารวดเร็ว ครบถ้วน ยังคงไว้ซึ่งความเป็นคมชัดลึกที่ “ลึกกว่าข่าว” อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ที่เพิ่มเติมคือ เราจะเสิร์ฟข่าวด่วนข่าวร้อนไปถึงมือทุกท่านตลอดเวลา หวังว่า คุณผู้อ่านทุกท่านพร้อมที่จะเดินไปกับเราในรูปโฉมของสื่อดิจิทัลเต็มรูปแบบ”

ย้อนรอย 18 ปี คมชัดลึก

สำหรับหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เป็นหนังสือพิมพ์ข่าวทั่วไปภาษาไทยในเครือเนชั่น กรุ๊ป ยุคที่นายสุทธิชัย หยุ่น เป็นบรรณาธิการอำนวยการ ตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2544 หรือเมื่อ 18 ปีก่อน หลังจากที่ขยายธุรกิจสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เนชั่นแชนแนล ร่วมกับโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก “ยูบีซี” ช่อง 8 เมื่อปี 2543

โดยชื่อของคมชัดลึก มาจากรายการสนทนาข่าว (นิวส์ทอล์ก) ที่มี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นพิธีกร ในหนังสือกรรมกรข่าวที่นายสรยุทธเป็นผู้เขียน ระบุว่า เดิมจะตั้งชื่อรายการว่า “ชัดลึก” มาจากการโฟกัสภาพ “ชัดตื้น” และ “ชัดลึก” แต่นายสุทธิชัยเสนอให้เพิ่มคำว่า “คม” นำหน้า จึงกลายเป็นที่มาของชื่อรายการในปัจจุบัน และนำไปตั้งชื่อหนังสือพิมพ์ภาษาไทย

ระหว่างนั้น คมชัดลึกเปิดตัวด้วยโฆษณาโทรทัศน์ ที่ใช้เด็กขายหนังสือพิมพ์เป็นตัวเดินเรื่อง พร้อมจัดโปรโมชันชิงโชคโดยตัดคูปองหน้า 2 แจกรถปิกอัพ จักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บ้านพร้อมที่ดิน รวมกว่า 20 ล้านบาท อีกทั้งมีการแจกผงซักฟอกเปา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ทำให้หนังสือพิมพ์คมชัดลึกมียอดขายเป็นอันดับ 3 รองจากไทยรัฐ และ เดลินิวส์ในเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมพิเศษ “คมชัดลึก อวอร์ด” งานประกาศรางวัลในวงการบันเทิง เพื่อหารายได้หล่อเลี้ยงองค์กร โดยจัดมาเป็นระยะเวลา 16 ปี ครั้งล่าสุดผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ดิจิทัลเข้าดิสรัปต์กลุ่มเนชั่น

แต่ในช่วงที่วงการสื่อมวลชนถูกดิจิทัลดิสรัปชัน ผู้บริหารเครือเนชั่นกรุ๊ปชุดก่อน มีแผนที่จะปิดหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน หลังจากปิดตัวนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ไปเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 แต่สุดท้ายแก้ปัญหาด้วยการควบรวมฉบับวันเสาร์-อาทิตย์รวมกัน นับตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. 2560 เป็นต้นมา

เมื่อกลุ่ม ฉาย บุนนาค” เข้ามาบริหารงานเครือเนชั่นกรุ๊ป แทนกลุ่ม นายสุทธิชัย หยุ่น ที่ประกาศยุติบทบาทในเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2561 ได้พิจารณาถึงการปิดสิ่งพิมพ์ในเครือ พบว่า หนังสือพิมพ์คมชัดลึกมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า มีการปรับตัวให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และคอนเทนต์สามารถสร้างรายได้ในแพลตฟอร์มนิวมีเดียได้ง่าย

สุดท้ายจึงตัดสินใจยุติการพิมพ์ “หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น (The Nation)” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ไปเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2562 แล้วหันมาทำเว็บไซต์ Nation Thailand แทน เนื่องจากเห็นว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ขาดทุนเฉลี่ยปีละ 30 ล้านบาท อีกทั้งการขายส่วนใหญ่เป็นไปในรูปแบบ B2B เน้นกลุ่มลูกค้าโรงแรม โรงพยาบาล และสายการบิน ที่ขายในราคาต่ำกว่าราคาปก ตกฉบับละ 8 บาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 นายฉายประกาศมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจนำมาตรการไปปรับใช้ ตั้งแต่ปรับลดเงินเดือน ลางานโดยไม่รับค่าจ้าง ยกเลิกสวัสดิการ ค่าตอบแทนอื่น และเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจเลิกจ้างพนักงานได้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

กระทั่งวันที่ 4 เม.ย. บริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด ทำหนังสือเลิกจ้างถึงพนักงาน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 และบริษัทยินดีจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้างตามกฎหมายจำนวน 10 เดือน โดยพนักงานจะต้องยอมรับเงื่อนไข โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ และจะไม่ฟ้องดำเนินคดีกับบริษัทและผู้เกี่ยวข้อง โดยพบว่ามีทั้งหนังสือพิมพ์คมชัดลึก คมชัดลึกออนไลน์ และ เนชั่นสุดสัปดาห์ออนไลน์

เครือเนชั่นกรุ๊ปในยุคนายฉาย ยังเหลือสื่อสิ่งพิมพ์เพียงฉบับเดียว ได้แก่ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่มี นายวีระศักดิ์ พงษ์อักษร เป็นบรรณาธิการบริหาร ไม่นับรวมหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ที่แยกการบริหารต่างหาก แต่ได้ทำงานร่วมกันกับเครือเนชั่นกรุ๊ป เช่น การจัดรายการโทรทัศน์ห้องข่าวเศรษฐกิจทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี เป็นต้น

Source