ก้าวใหม่กสิกรไทย เปิดเเนวคิด “กอบกาญจน์-ขัตติยา” รับไม้ต่อ พาธุรกิจเเบงก์ฝ่าวิกฤต

การปรับทัพของเเบงก์ใหญ่ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 น่าจับตามองยิ่ง หลังการอำลาวงการธนาคาร 40 ปีของ “บัณฑูร ล่ำซำ” ที่เพิ่งลงจากตำแหน่งประธานกรรมการ เปิดทางผู้บริหารหญิง 2 คน ได้ก้าวขึ้นมากุมบังเหียนสูงสุดของ “กสิกรไทย” เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา

คนเเรกคือ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทยคนใหม่ที่ก้าวขึ้นมารับตำเเหน่งหลังเป็นกรรมการอิสระมานาน กลับเข้าสู่งานธนาคารอีกครั้ง หลังไปเป็น “รัฐมนตรี” บริหารงานภาครัฐ

กอบกาญจน์ เคยร่วมงานในฐานะกรรมการอิสระมาแล้วในปี 2554 ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อพ้นจากตำแหน่งได้กลับมาร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยอีกครั้ง เดือนเมษายน 2561 ในฐานะรองประธานกรรมการและประธานกรรมการอิสระ ควบคู่กับประธานกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ต่อมาเดือนตุลาคม 2561 ได้ทำหน้าที่ประธานกรรมการกากับความเสี่ยงเพิ่มเติม ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด และเป็นที่ปรึกษา หอการค้าไทย สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี (สถาปัตยกรรมศาสตร์) Rhode Island School of Design สหรัฐฯ

อีกคนคือ “ขัตติยา อินทรวิชัย” ลูกหม้อที่งานอยู่กับเเบงก์สีเขียวมายาวนาน ค่อยๆ เลื่อนตำเเหน่งจนขึ้นมาเป็น
“ซีอีโอ” คนเเรกที่ไม่ได้มาจากตระกูล “ล่ำซำ”

เธอเริ่มทำงานกับกสิกรไทยมาตั้งเเต่ปี 2530 สำเร็จการศึกษา ปริญญาโท (บริหารธุรกิจ-การเงินและการลงทุน)
University of Texas at Austin สหรัฐฯ จากการเป็นนักเรียนทุนธนาคารกสิกรไทย หลังจากสำเร็จปริญญาตรี (บริหารธุรกิจ-การตลาด) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ด้านสินเชื่อ ยทธศาสตร์องค์กร การตลาด การเงิน เทคโนโลยีทรัพยากรบุคคล เคยผ่านเหตุการณ์สำคัญมาตั้งแต่ยุค re-engineering ปี 2553 ผ่านวิกฤติการเงิน “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 และ K-Transformationปี 2550

สองผู้บริหารคนใหม่แห่ง KBank ได้เปิดตัวครั้งเเรกเวที HER TALK พูดคุยกับสื่อมวลชนผ่านออนไลน์ ถึงหลักการทำงาน วิสัยทัศน์ ทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรในช่วงโรคระบาด เเละเป้าหมายต่อไปของการเป็นธนาคารเเห่งอาเซียน

กอบกาญจน์ เล่าว่าในฐานะคณะกรรมการ บทบาทสำคัญคือการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล เพื่อให้ธนาคารดำเนินการให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและบริหารความเสี่ยงให้พอเหมาะ โดยสิ่งที่จะทำอย่างแรก คือ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการกับฝ่ายจัดการ ที่ต้องความสัมพันธ์ที่มีอิสระต่อกัน แต่ทำงานร่วมกัน

ภารกิจสำคัญอีกอย่างอย่างการ “หาคนเก่งมาร่วมงาน” โดยจะความสำคัญการสรรหาบุคคลชั้นนำ ที่มีการพัฒนาทักษะ มีความรู้ความสามารถหลากหลาย เเละมิติความหลากหลายทางเพศ เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมการธนาคาร เพื่อให้มีส่วนผสมครบทุกมุมมอง

“ปัจจุบันคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทยมีสัดส่วนผู้หญิงมากถึง 41% มีจำนวน 7 คน จาก 17 คน เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในระบบธนาคารไทย เรามีกรรมการอิสระถึง 9 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ”

หลังการทำงานในฐานะผู้บริหารธุรกิจมาเกือบ 40 ปี เเละมีโอกาสทำหน้าที่รัฐมนตรีบริหารประเทศ “กอบกาญจน์” มีหลักการทำงานที่ถือปฏิบัติอยู่เสมอ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1. สร้างคน ต้องเปิดกว้างให้พนักงานกล้าคิด กล้าคิดนอกกรอบ กล้าทำ ดึงศักยภาพของเขาออกมาให้คน
ทำงานมีเเรงบันดาลใจ

2. ทำให้คนเก่งเหล่านั้นร่วมมือกันในทิศทางเดียวกัน เพราะในบริษัทหนึ่งมีคนเก่งจากหลายมิติ เเต่สิ่งสำคัญคือต้อง “ใจเดียวกัน” มีเป้าหมายเดียวกัน ถึงจะมีพลังขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ฝันที่ตั้งเป้าไว้

3. ผู้นำต้องเข้มแข็ง ต้องมีสติ ต้องมีวินัย ตัดสินใจดี ทำงานบนความถูกต้อง ความเสมอภาค จะทำให้เติบโตต่อไปอย่างมั่นคง

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร (ซ้าย) ขัตติยา อินทรวิชัย (ขวา)

พระอาทิตย์ขึ้นใหม่เสมอ – เรียนรู้ตลอดชีวิต – เท้าต้องติดดิน

ประธานกรรมการกสิกรไทย ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงานและกำลังขบคิดว่าทำอย่างไรจะให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขว่า เราต้องมีจุดยืน มีปรัชญาในการดำรงชีวิต ปรัชญาในการทำงาน เพื่อที่ว่าจะได้แน่วแน่ไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้

“การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเรียนจบอะไรมาหรือประสบความสำเร็จในอดีต วันนี้และวันข้างหน้าสำคัญกว่า อะไรที่อยู่ในตำราวันนี้อาจจะล้าสมัยไปแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญคือเท้าต้องติดดิน รับฟังความเห็นของผู้อื่น เราต้องกล้าที่จะรับฟังความคิดเห็นจากคนรอบข้าง”

ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวเเละมีปัญหารอบด้าน กอบกาญจน์เเนะว่า ต้องเชื่อมั่นในประเทศ เชื่อในจังหวัดที่เราอยู่ เชื่อมั่นในธุรกิจที่ทำ

“เรามักจะมองสนามหญ้าหน้าบ้านคนอื่นเขียวกว่าเรามักคิดว่าธุรกิจเราเป็นประเภทพระอาทิตย์ตกหรือเปล่า เมื่อเราปล่อยให้มันตก ก็จะตกทันที เเต่ถ้าคิดว่าในทุกๆ ที่มีสิ่งดีๆ อยู่ เราจะกล้าหาญสร้างสรรค์ พระอาทิตย์จะขึ้นใหม่เสมอ ในธุรกิจของเรา ในจังหวัดของเรา และในประเทศของเรา”

คำว่า “โชคดี” ไม่มีจริง – ทำงานเเบบมองไปข้างหน้า

คำว่า “โชคดี” ไม่มีจริง แต่มีประโยคหนึ่ง คือ life is what happens when preparation meets opportunity หมายถึง ทุกอย่างเราต้องเตรียมพร้อม เราต้องเตรียมความพร้อมเสมอ ไม่หยุดเรียนรู้ ไม่มีใครแก่เกินเรียน

นี่คือความเชื่อของขัตติยา โดยเธอเล่าให้ฟังอีกว่า ตอนนี้ได้เริ่มเรียนภาษาจีนเพื่อรองรับกับการเป็นธนาคารในภูมิภาค รวมถึงได้เรียนเรื่อง design thinking ผ่านออนไลน์เพราะเป็นทักษะใหม่ในยุคนี้

“กสิกรไทยเปิดโอกาสให้คนได้แสดงความสามารถ และจะผสมผสานคนแต่ละรุ่น ความเก่งในหลายมุมที่เรียกว่า multi-disciplinary เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่คนเก่งหลากหลายมุมทำงานร่วมกันได้ ให้ประสบการณ์ต่างๆ ผสมผสานกัน สร้างสิ่งดีไปในอนาคต”

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

สำหรับหลักการทำงานของเธอ คือการ “มองไปข้างหน้า” ในฐานะที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอ สิ่งที่ต้องทำคือต้องบริหารเวลาให้ดีขึ้น ทำในสิ่งที่ซีอีโอสามารถทำได้ งานที่เป็นของคนอื่นทำได้ก็ให้คนอื่นทำ จะได้โฟกัสไปยังสิ่งที่สำคัญจริงๆ

“เราต้องเพิ่มอำนาจให้ทีม ต้องเชื่อมั่นในทีมงานของเรา และต้องดูแลสุขภาพเพื่อไม่ให้งานสะดุด”

อีกเรื่องที่ขัตติยา อยากฝากถึงคนวัยทำงาน คือชีวิตเราต้องมี work-life-balance จากประสบการณ์ของตัวเองนั้น
เมื่อทำงานหนัก ต้องหาเวลาพัก ซึ่งการพักของเเต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจเป็นการได้อยู่กับครอบครัว การออกกำลังกาย ในการทำงานเราก็หาความสุข หรือพัฒนาตัวเองได้ด้วย เป็นการเสริมกันเเละกัน ทำให้มีพลังและกลับมาทำงานใหม่ได้

ส่งไม้ต่อ…ช่วงวัดใจ

ด้าน “บัณฑูร ล่ำซำ” ก็ออกมาเปิดใจเช่นกันว่า มั่นใจในการปรับทัพทีมบริหารใหม่ครั้งนี้จะผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ไปได้ โดยช่วงชีวิตต่อไปของเขาจะขอเดินหน้าทำงานด้านสิ่งเเวดล้อมสานต่อโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” เต็มตัวเเละยืนยันไม่มีแนวคิดลงเล่นการเมือง

บัณฑูร มองว่าการส่งไม้ต่อตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดแล้ว ไม่มีเรื่องกังวล เพราะทีมงานเก่งทุกคน

“ตอนนี้เป็นอีกฉากหนึ่งของชีวิต ทำมาเต็มที่แล้ว ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ทำงานแบงก์มา 40 ปี อยากไปทำอย่างอื่นบ้าง
สมควรแก่เวลาในการส่งต่ออย่างดี ตอนนี้ไม่มีความกังวลอะไรเลย แถมยังมีความสุขด้วย เพราะมั่นใจว่าทีมงานเก่งทุกคน จบฉากเดิมอย่างสบายใจ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชีวิต”

บัณฑูรบอกว่าเหตุผลที่เลือก “กอบกาญจน์” นั่งแท่นรักษาการประธานกรรมการ เพราะเป็นคนเก่ง เป็นบุคลากรคุณภาพจากหลายแวดวง มีประสบการณ์ มีมุมมองหลากหลาย เป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับ และมีคุณธรรม ทางด้านของ “ขัตติยา” เป็นคนเก่ง ใจดี มีเมตตา เฉียบคมทั้งด้านความรู้ และทางเทคนิค

“ที่ลงจากตำแหน่งในวิกฤตเป็นช่วงเวลาที่ดี แสดงว่าเชื่อมั่นในคณะผู้บริหาร เป็นการทดสอบทีมใหม่ ถ้ารับมือกับสถานการณ์ตอนนี้ได้ ก็สามารถรับมือกับตอนไหนก็ได้ จังหวะนี้จึงดีที่สุด เป็นเวลาของเธอที่จะรับโจทย์ยากๆ และก็โชคดีที่จัดการเรื่องต่างๆ เข้าที่มานานแล้ว ส่งไม้ต่อได้ทันที ทุกระดับมีความพร้อม”

อ่านเพิ่มเติม : เปิดใจ “บัณฑูร ล่ำซำ” ปิดฉาก 40 ปีนายแบงก์กสิกรไทย สู่ฉากชีวิต “รักษ์ป่าน่าน” เต็มตัว

สู้ศึกหนัก วิกฤต COVID-19  

กอบกาญจน์กล่าวว่า ในปีที่ผ่านเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวจากหลายปัจจัย สิ่งสำคัญคือ ดิสรัปชันของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ทำให้สะเทือนทุกภาคธุรกิจ

“ธุรกิจของธนาคาร จะต้องปรับตัวอย่างเข้มข้น ธนาคารเองต้องทำตัวให้มีความหมาย ทำให้ผู้บริโภค ซึ่งคือลูกค้าของธนาคารใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ และทำให้ลูกค้าธุรกิจสามารถต่อยอดและขยายธุรกิจต่อไปได้ด้วยมือของเขาเอง”

การระบาดของไวรัสนี้ มีผลกระทบต่อคนทุกชนชั้น คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะอยู่ที่ -5% หากสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ภายในไตรมาสสอง แต่ยังมีปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ การลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัว 3% รัฐต้องเร่งผลักดันการลงทุนออกมาในปีนี้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนบอบช้ำพอสมควรน่าจะอยู่ที่ -5%

ในมุมมองของอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กอบกาญจน์มองว่านักท่องเที่ยวจะหายไปเหลือครึ่งหนึ่งราว 17 ล้านคน อาจจะเริ่มกลับมาได้ไตรมาส 3-4 เเละหากพ้นวิกฤตนี้ไปประเทศไทยต้องกลับมาคิดใหม่ เรื่องการเเจ้งเกิดการท่องเที่ยว Health & Wellness เเละ Sport Event ควบคู่ไปกับการส่งเสริม “ไทยเที่ยวไทย”

Photo by Lauren DeCicca/Getty Images

ด้านขัตติยา กล่าวถึงความรู้สึกในการรับตำแหน่งใหม่ในช่วงนี้ว่ามีความท้าทายมาก มีปัญหาภัยแล้ง เศรษฐกิจถดถอย ดิสรัปชัน และ COVID-19 ธนาคารจึงต้องดำเนินธุรกิจในหลายมิติ ทั้งต้องพยายามทำให้ผลประกอบการดีเเละต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด รวมถึงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้ความยากลำบากนี้เรายังต้องทำให้ระบบการเงินการธนาคารของประเทศฝ่าฟันไปได้

“เป็นความท้าทายที่หนักทีเดียว แต่หากเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งเเล้ว ครั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภาระหนี้ต่างประเทศไม่สูง ไม่มีการเก็งกำไรในหุ้นหรือในอสังหาริมทรัพย์เหมือนในครั้งต้มยำกุ้ง อีกทั้งมาตรการความช่วยเหลือต่างของรัฐมาเร็วกว่าคราวก่อน แต่ครั้งนี้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การเติบโตเศรษฐกิจของไทยไม่ค่อยเติบโตมาระยะหนึ่งแล้ว หนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง เมื่อมาเจอ COVID-19 เหตุการณ์นี้เป็นโจทย์ของทั้งโลก ทุกประเทศ ทุกบริษัท”

“กสิกรไทยมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 มากกว่า 16% เราตระหนักว่าเงินกองทุนเป็นสิ่งสำคัญ จึงติดตามอย่างสม่ำเสมอ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่อยู่ในระดับที่จัดการได้ เพราะมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และมีทีมงานที่มีการจัดการอย่างดี เเละได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้านสินเชื่อไปแล้ว 115,000 ราย ยอดสินเชื่อ 124,000 ล้านบาท”

ซีอีโอ KBank ย้ำว่าบริษัทไม่มีนโยบายลดพนักงาน ในช่วงการระบาดของ COVID-19 เเละสุขภาพของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ ต้องดูแลพนักงาน ซึ่งจะมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อให้พนักงานและลูกค้าที่มาใช้บริการปลอดภัย โดยรวมเชื่อมั่นว่าจะผ่านไปได้

“หลังจากผ่านวิกฤตไปได้ กสิกรไทยจะเป็นธนาคารเเห่งความยั่งยืน ก้าวใหญ่กว่าดิจิทัลเเบงก์กิ้ง โดยจะเน้นขยายไปยังประเทศในอาเซียน ซึ่งกำลังเตรียมลงทุนในอินโดนีเซีย เเละเพิ่มศักยภาพการเติบโตในเมียนมา ลาวเเละกัมพูชา เป็นทิศทางที่เราต้องไป เเม้รายได้ตอนนี้จะยังไม่มากนักเเต่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเติบโตในอนาคต พร้อมกับการลงทุนใน “สตาร์ทอัพ” ที่เราทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าในยุคดิจิทัล”