ไขข้อข้องใจ “คนคอนโดฯ” ควรมีมาตรการอยู่ร่วมกันอย่างไรในยุค COVID-19?

สมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ออกแนวทางการบริหารคอนโดฯ ในยุค COVID-19 ในกรณีต่างๆ เพื่อเป็นคู่มือให้ทั้งนิติบุคคลและคนอยู่คอนโดฯ มีความเข้าใจร่วมกันในการรับมือการระบาดของไวรัส รวมถึงการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงในอาคาร

คอนโดมิเนียมเป็นที่พักอาศัยประเภทที่มีพื้นที่ใช้งานร่วมกับคนหมู่มาก ขณะที่โรคระบาดไวรัส COVID-19 เป็นโรคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้วิธีการทำงานของนิติบุคคลมีความท้าทายอย่างยิ่ง เพื่อช่วยให้ลูกบ้านอยู่อาศัยร่วมกันอย่างสันติและปลอดภัย หลังจากช่วงที่ผ่านมาคอนโดฯ แต่ละแห่งอาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน และมีความสับสนในการบริหารภายใต้สถานการณ์ใหม่เช่นนี้

เหตุนี้ สมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย จึงออกเอกสาร “สรุปแนวทางปฏิบัติในสถานการณ์ระบาดไวรัส COVID-19” เป็นคู่มือบริหารอย่างละเอียด โดยแบ่งเป็นกรณีต่างๆ 5 กรณี ได้แก่ 1.สถานการณ์ปัจจุบัน 2.มีกลุ่มเสี่ยงพักอาศัยในอาคาร 3.พบผู้ป่วยในอาคาร 4.มีการล็อกดาวน์อาคาร และ 5.มีผู้ป่วยพักรักษาตัวในอาคาร และแบ่งแนวทางปฏิบัติสำหรับ 3 กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ นิติบุคคลและเจ้าหน้าที่ กรรมการอาคารชุด (ตัวแทนลูกบ้าน) และผู้พักอาศัยทั่วไป

 

สร้างความมั่นใจและช่วยเหลือคนกักตัวในอาคาร

สำหรับนิติบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารอาคาร หน้าที่หลักคือต้องเป็นผู้ประชาสัมพันธ์ข่าวสารจากรัฐ และช่วยรักษาความสะอาดปลอดภัย

ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ นิติบุคคลต้องช่วยประชาสัมพันธ์มาตรการรัฐ และเป็นผู้ขอความร่วมมือผู้อยู่อาศัยกลุ่มเสี่ยงให้กักตัว 14 วัน เจ้าหน้าที่ทั้งหมดต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยปฏิบัติงาน ตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิทุกคนที่เข้าออกและมีบริการเจลล้างมือ ตั้งจุดรับส่งพัสดุหรืออาหารเดลิเวอรีจากภายนอก ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางบ่อยครั้งขึ้น และจัดถังแยกขยะติดเชื้อออกจากขยะทั่วไป

ตัวอย่างมาตรการตรวจวัดไข้พนักงานทุกคนในอาคาร โดย Plus Property

แต่ในกรณีที่ไม่ใช่สถานการณ์ทั่วไป คืออาจจะมีกลุ่มเสี่ยงกักตัวอยู่ในอาคาร หรือพบผู้ติดเชื้อในอาคาร จนถึงสถานการณ์ที่อาจจะสร้างความกังวลสูงสุดให้เจ้าของร่วมคือ มีผู้ติดเชื้อพักรักษาตัวอยู่ในอาคาร แนะนำให้นิติบุคคลเพิ่มมาตรการต่างๆ เช่น งดใช้พื้นที่ส่วนกลาง กำหนดเส้นทางเฉพาะให้ผู้ติดเชื้อใช้ในกรณีออกไปพบแพทย์ เจ้าหน้าที่มีการจัดเตรียมชุดป้องกันเชื้อกรณีต้องเข้าเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน

“ผู้ป่วยไม่ใช่ผู้ร้าย เราอยู่ร่วมกันได้” สามภพ บุนนาค นายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทยกล่าว

เขายังแนะนำว่านิติบุคคลควรจะให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกให้กลุ่มเสี่ยงที่อยู่ระหว่างกักตัวหรือผู้ป่วยที่พักรักษาตัว สามารถกักตัวในห้องชุดส่วนตัวได้สมบูรณ์ โดยอาจจะมีมาตรการช่วยเหลือส่งอาหารเครื่องดื่มที่สั่งให้ถึงห้องชุดถ้าหากลูกบ้านไม่มีผู้อื่นคอยดูแล เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้พักอาศัยคนอื่นๆ ด้วย

 

ระมัดระวังเรื่องอำนาจหน้าที่

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อนมากในช่วงที่ผ่านมาคือ การแจ้งถึงสถานการณ์ในคอนโดฯ ว่ามีผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงอาศัยอยู่หรือไม่

“จักรพันธ์ ภวังคะรัตน์” กรรมการฝ่ายวิชาการของสมาคมฯ แนะนำว่านิติบุคลลต้องแจ้งให้ผู้พักอาศัยร่วมกันทราบหากพบกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อ เพื่อให้ทุกคนระมัดระวังมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องระวังในการปกปิดตัวตนของกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อรายนั้นๆ ตามสิทธิของบุคคลที่ต้องได้รับความคุ้มครอง

ในกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากลูกบ้าน เช่น ผู้ป่วย/กลุ่มเสี่ยงไม่กักตัวตามคำสั่งของรัฐ สามภพกล่าวว่า ต้องไม่ลืมว่านิติบุคคลไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้นต้องประสานเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล ไม่ควรจัดการด้วยตนเอง ส่วนการแจ้งถึงลูกบ้านหากมีผู้ป่วย/กลุ่มเสี่ยงที่ไม่กักตัวในห้อง ยังใช้พื้นที่ภายในอาคารร่วมกัน อาจต้องใช้ดุลยพินิจชั่งน้ำหนักระหว่างการละเมิดสิทธิบุคคลกับความปลอดภัยของลูกบ้านทั้งหมด

 

อยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ

ด้านคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของลูกบ้าน หน้าที่สำคัญในช่วงนี้คือให้ความร่วมมืออนุมัติงบใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการรับมือ เพราะจะต้องจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ไว้ใช้งาน และอีกส่วนหนึ่งคือช่วยนิติบุคคลขอความร่วมมือจากเจ้าของร่วมทุกคนในการรับมือไวรัส รวมถึงช่วยสอดส่องแจ้งถึงพื้นที่ที่อาจจะเป็นแหล่งรวมเชื้อไวรัสได้

มาตรการตรวจวัดไข้บุคคลภายนอก เช่น ผู้จัดส่งเดลิเวอรี่ ก่อนเข้าอาคาร โดย LPP

ปิดท้ายที่เจ้าของร่วมทุกคน แน่นอนว่าการอยู่ในอาคารชุดที่มีผู้คนมากมายก็เหมือนกับการออกไปข้างนอก ดังนั้นเมื่อออกมาในพื้นที่ส่วนกลางต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ลิฟต์ ผนัง และให้ความร่วมมือกับระเบียบของอาคาร

ที่สำคัญคือ เจ้าของร่วมต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับนิติบุคคล โดยแจ้งเจ้าหน้าที่หากตนเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วย ในทางกลับกัน เจ้าของร่วมที่ยังไม่ป่วยต้องร่วมสร้างบรรยากาศที่ดีในการอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยหรือผู้ที่อยู่ระหว่างกักตัวด้วย