ชุมชนมหา’ลัยเปิดกลุ่ม “ฝากร้าน” พลังสถาบันช่วยเหลือกันในยุค COVID-19 ขายตั้งแต่ของกิน ยันจระเข้!

เมื่อมีการเริ่มต้นตั้งกลุ่มบน Facebook ในชื่อ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” จุดประสงค์ให้บัณฑิตและนิสิตมา “ฝากร้าน” ได้ทุกอย่าง ตั้งแต่สารพัดร้านขายอาหารไปจนถึงบริการดูดวงออนไลน์!? จุดกระแสฮิตให้ชุมชนมหาวิทยาลัยหลายแห่งตั้งกลุ่มลักษณะเดียวกันมาช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า-บริการ บอกเลยว่าของที่ลงขายมีหลากหลายเกินคาดพร้อมกับกระแสฮือฮาเมื่อเหล่าเซเลบคนดังยังมาลงขายกับเขาด้วย

แอดมินกลุ่ม 6 คนได้ตั้งกลุ่มบน Facebook ชื่อ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 63 เพื่อให้พี่น้องม.ธรรมศาสตร์ ช่วยกันซื้อช่วยกันขายในยุคเศรษฐกิจฝืดจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ปรากฏว่ากลุ่มนี้ฮิตระเบิดจนปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 68,000 คนเข้าไปแล้ว

ด้วยจำนวนสมาชิกขนาดนี้ และจากพลังสายสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องร่วมสถาบันที่ต้องการช่วยเหลือกันก่อน ทำให้ของที่ลงขายนั้นขายได้จริงและขายดีเกินคาดด้วย ล่าสุดแอดมินกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้านเล่าเรื่องราวเพื่อขอบคุณสมาชิกทุกคนที่เข้ามาช่วยซื้อขายว่า สมาชิกในกลุ่มบางรายมีคิวดูดวงออนไลน์แน่นทั้งวันจนมีเงินพอจ่ายค่าเช่าตึกแล้ว หรือสมาชิกที่มีสวนทุเรียนสามารถขายทุเรียนได้หมดทั้งสวนจากพลังของสมาชิกกลุ่ม

สีสันภาพปกของกลุ่มขายของสถาบันต่างๆ

กระแสการเปิดช่องทางขายใหม่เช่นนี้กระจายไปสู่ชุมชนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เริ่มตั้งกลุ่ม Facebook เฉพาะกิจขึ้นมาเหมือนกันเช่น กลุ่ม “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” จำนวนสมาชิกวิ่งไปถึงเกือบ 86,000 คน! “ตลาดนัด มศว” สมาชิกกว่า 3,300 คน “ม.เกษตร มาร์เก็ต และการฝากร้าน” สมาชิกกว่า 1,100 คน “Silpakorn Online Market : ชีวิตสั้น ฝากร้านกันยาวๆ” สมาชิกกว่า 3,700 คน

 

ขายทุกอย่างที่คุณจะนึกออกและนึกไม่ออก

ถ้าการไถหน้าจอดูของใน Lazada หรือ Shopee ว่ามีของมากมายแล้ว กลุ่ม Facebook ขายของจากชาวสถาบันเหล่านี้มีสินค้าและบริการแบบครอบจักรวาลยิ่งกว่า ทั้งในแง่มูลค่า และในแง่ความแปลกแตกต่าง เหมือนได้เดินตลาดทุกแห่งทั่วประเทศพร้อมกันในรอบเดียว รู้ตัวอีกทีน่าจะสั่งไปแล้วหลายอย่าง พร้อมลิสต์ร้านน่าสนใจอีกยาวเป็นหางว่าว

สินค้าที่ทุกคนคงไม่แปลกใจที่มีขายคือ “หมวดอาหาร” สารพัดอาหารทั้งของแปรรูปและยังไม่แปรรูปมารวมกันในกลุ่มสถาบัน เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน โรตี สะตอ ก๋วยเตี๋ยวญวณ ผัดไท ครัวซองต์ คึ่นช่าย

ฝากร้านหมวดอาหาร

“หมวดของใช้” อย่างต่างหู เครื่องกีฬา กระถางต้นไม้ ลำโพง “หมวดบริการ” รับงานล่าม แปล ทนายความ
ดูแลรถยนต์ ฯลฯ

ฝากร้านหมวดของใช้

ไปจนถึงสินค้าที่คุณนึกไม่ถึง อย่างการขายหมูป่า และจระเข้เป็นๆ จากฟาร์ม กำไลหินโหราศาสตร์ ดูดวงออนไลน์ พระเครื่อง ไปจนถึง…ขายง้าวโบราณ

สิ่งที่นึกไม่ถึงอย่างฟาร์มปศุสัตว์เฉพาะทางก็มาขายกันในนี้ (ภาพจากกลุ่ม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน)

ในแง่มูลค่าก็เช่นกัน สินค้ายอดฮิตที่ลงขายกันมากคือ อสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่ดินเปล่า บ้าน คอนโดฯ มูลค่าขายตั้งแต่หลักล้านต้นจนถึงพันล้านก็มีคนลงขายมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีการโพสต์ธุรกิจ B2B ต่างๆ อีกมาก เช่น รับเหมาก่อสร้าง โรงงานผลิตเสื้อผ้ากีฬา แพ็กเกจจิ้ง โรงพิมพ์ อุปกรณ์โรงงาน ฯลฯ

กระทั่งที่ดิน-คอนโดฯ ราคาหลักล้านถึงพันล้านก็มีขาย

 

ดารา-คนดัง-ทายาทธุรกิจ ก็ฝากร้านกับเขาด้วย

ไม่ใช่แค่คนทั่วไปที่เข้าไปฝากร้าน แม้แต่ดารา คนดัง หรือทายาทธุรกิจก็ขออาศัยช่องทางนี้ฝากร้านกับเขาด้วย!

ที่ฮือฮากันช่วงนี้คือ “เชฟป้อม-ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล” บัณฑิตจากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รหัส 22 ยังเข้าไปฝากร้านข้าวแช่ของตนเองในกลุ่ม “รวิศ หาญอุตสาหะ” บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รหัส 39 ขอเข้ามาฝากเครื่องสำอางศรีจันทร์ กระทั่ง “เบียร์-ปิยะเลิศ ใบหยก” บัณฑิตครุศาสตร์ จุฬาฯ รหัส 42 ก็เข้าไปขายชุดข้าวแช่จากโรงแรมหัวช้าง เฮอริเทจของครอบครัว

คนดังชาวจุฬาฯ ฝากร้านในจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส
คนดัง ม.ธรรมศาสตร์ ก็มาฝากร้านด้วย

ฟาก ม.ธรรมศาสตร์ก็ไม่น้อยหน้า “วู้ดดี้ มิลินทจินดา” บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ ภาคอินเตอร์ (BE) มธ. รหัส 37 เข้ามาฝากรายการ Woody From Home Live หรือ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ มธ. ที่เข้ามาฝากรายการเถื่อนทราเวล

กลุ่ม Facebook มหา’ลัยเหล่านี้อาจจะเริ่มจากการซื้อขายของเฉพาะหน้าเพื่อช่วยกันรอดพ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 แต่เมื่อของขายหลากหลายขึ้น คนมากขึ้น จะพบว่ากลุ่มนี้ทำให้ “คอนเน็กชัน” ในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้องสถาบันเกิดขึ้นชัดเจนและเป็นวงกว้างมากกว่าเดิม เพราะทำให้คนขายของต้นน้ำได้มาเจอกับคนขายกลางน้ำและปลายน้ำในกลุ่มเดียวกัน กลายเป็นระบบนิเวศทางธุรกิจที่ทรงพลัง