“ตลาดนัดมหาลัย” ขายของพ่วงดราม่า “จุฬาฯ” เจอ Elite แย่งซีน “มธ.” ฝากพรรคการเมือง

เมื่อตลาดนัดออนไลน์ของ 2 มหาวิทยาลัยดัง “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน” เริ่มส่อแววดราม่า ฝั่งจุฬาฯ คนโอดว่าคนที่เดือดร้อนจริงๆ ลงขายของ แต่โดน Elite แย่งซีน ส่วนทางธรรมศาสตร์เจอ “ทิม พิธา” ฝากพรรคการเมือง

น้องพี่ชาวมหาลัย ช่วยกันฝ่าวิกฤต

เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สร้างสีสันให้ยุค COVID-19 ได้อย่างดี เมื่อโลกออนไลน์ได้ผุดตลาดนัดออนไลน์ของชาวมหาวิทยาลัย เป็นการสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊กเพื่อให้ร้านค้า ผู้ประกอบการที่เป็นศิษญ์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของสถาบันได้ “ฝากร้าน” กันโดยเฉพาะ สร้างบรรยากาศจับจ่ายใช้สอยได้เป็นอย่างดี

2 กลุ่มยอดนิยม และเป็นกระแสมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน” เป็น 2 กลุ่มที่คึกคัก และแอคทีฟกันอย่างมาก มีสินค้าขายภายในกลุ่มมากมายหลายกลุ่มตั้งแต่ อาหาร ของกิน ของใช้ อุปกรณ์กัน COVID-19 อสังหาริมทรัพย์ เสื้อผ้า แฟชั่น สัตว์เลี้ยง และอื่นๆ อีกมากมาย

ความสนุกของกลุ่มเหล่านี้คือการที่มีพี่น้องในสถาบันเดียวกันเข้ามาฝากร้าน โดยที่แต่ละคนได้แนะนำตัวเองว่าอยู่คณะอะไร รุ่นอะไร รหัสอะไร และทำธุรกิจอะไร บางคนก็ทำธุรกิจส่วนตัว บางคนก็รับช่วงกิจการต่อจากครอบครัว หรือบางคนก็ทำงานในวงการบันเทิง เข้ามาฝากร้าน ฝากผลงานกันมากมาย

จนกลุ่มนี้ได้กลายเป็นคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ เหมือนการรียูเนียนเพื่อน พี่ น้องในสถาบัน ทำให้ได้รู้จักว่าแบรนด์ดังแบรนด์นี้ มีเจ้าของ หรือผู้บริหารที่จบมาจากคณะเดียวกัน ยิ่งช่วยเพิ่มพลังในการช้อปปิ้งให้มากขึ้นไปอีกด้วย

จุฬาฯ ดราม่าชาว Elite แยงซีน

กลุ่มจุฬาฯ ได้เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 146,xxx คนเข้าไปแล้ว ซึ่งหลังจากที่มีกระแสของการขายของอยู่ไม่กี่วัน ก็เริ่มเกิดกระแสดราม่าให้เห็น อย่างที่หลายคนได้เห็นว่า ทั้ง 2 กลุ่มจะมีทั้งดารา นักแสดง นักร้อง เจ้าของกิจการดังๆ มาร่วมฝากร้าน ฝากผลงานกันเนืองแน่น ยิ่งสร้างสีสันให้กลุ่มน่าสนใจมากขึ้น

แต่ในกลุ่มจุฬาฯ กลับมีดราม่าเนื้อหาประมาณว่า โพสต์ของคนดัง หรือโพสต์สินค้าที่จับต้องไม่ได้อย่างที่ดินราคา 2,000 ล้านบาท คนกลับให้ความสนใจเยอะ ดันทำให้โพสต์ของคนที่มีความเดือดร้อนจริงๆ ที่ต้องการขายของจริงๆ หล่นลงไปล่างๆ และอาจจะเสียโอกาสในการขายของได้

ในที่นี้หลายคนจะให้นิยามคนกลุ่มเหล่านั้นว่า Elite หรือคนที่มีฐานะทางสังคมดีกว่า คนดัง คนรวย หรือคนที่มีโอกาสทางสังคมนั่นเอง

ก็พบว่าในกลุ่มของจุฬาฯ มีศิษย์เก่าที่เป็นดาราในวงการบันเทิงเข้ามาฝากร้าน ฝากผลงานกันมากมาย ทั้งพีช พชร, กันต์ กันตถาวร, อิ๊งค์ วรันธร, สน ยุกต์, เชฟป้อม และยังมีเจ้าของกิจการ หรือทายาทแบรนด์ดังๆ อีกมากมาย

ประเด็นนี้สร้างความคิดเห็นที่หลากหลาย บางคนก็มองว่าทุกคนก็เดือดร้อนเหมือนกัน ไม่สามารถวัดได้ว่าใครเดือดร้อนมากกว่า หรือน้อยกว่า การที่มีคนดังเข้ามาฝากร้านก็ช่วยสร้างสีสัน และความน่าสนใจได้ แต่บางคนก็เห็นด้วยกับประเด็นนี้ มองว่ามีคนที่เดือดร้อนจริงๆ ต้องการขายของจริงๆ แต่กลับถูกโพสต์ของคนดังกลบกระแสไปหมด

ธรรมศาสตร์มีฝากพรรคการเมือง

ทางด้านของธรรมศาสตร์ที่มีสีสันไม่แพ้กัน ได้สร้างกลุ่มก่อนจุฬาฯ ตั้งแต่วัน 7 เมษายน 2563 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 114,xxx ราย

ในกลุ่มของธรรมศาสตร์ก็มีดารา นักแสดง คนดัง เจ้าของกิจการ ทายาทแบรนด์ใหญ่ๆ เข้ามาฝากร้านเช่นกัน แต่ไม่ได้มีดราม่าเท่ากับกลุ่มของจุฬาฯ

แต่กลับพบว่ามีดราม่าการฝาก “พรรคการเมือง” โดยมีกระแสเมื่อ “ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เข้ามาฝากพรรคการเมืองแทนการฝากร้าน พบว่ามีคนที่ชื่นชอบ และมีคนที่ไม่ชื่นชอบเช่นกัน

เพราะมองว่าในกลุ่มควรเปิดให้แค่ฝากร้านขายของ ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ แต่ในภายหลังแอดมินของกลุ่มได้ออกมาชี้แจงว่าสามารถขายของ หรือฝากพรรคการเมืองได้ เพียงแต่อย่าตั้งกระทู้ที่สร้างความแตกแยกก็เป็นพอ

เป็นบทพิสูจน์ได้ว่า คนไทยสามารถดราม่าได้ทุกเรื่อง แต่ที่สุดแล้ว… ต่างคนต่างมีความคิด และเหตุผลของตัวเอง เพียงแค่อยู่ในสังคมร่วมกันอย่างสงบสุขได้ ซึ่งการที่มีกลุ่มเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19 ถือเป็นเรื่องราวที่ดี ช่วงสร้างสีสัน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในครัวเรือน (สถาบัน) ให้ดีขึ้น

หวังว่าเรื่องราวดราม่าต่างๆ จะผ่านไปได้ด้วยดี พร้อมกับฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน