กรณีศึกษา : เยียวยาทุกมิติ ฉบับ “ธรรมศาสตร์โมเดล” บริหารจัดการวิกฤต COVID-19

COVID-19 สะเทือนทุกหย่อมหญ้า ทั้งภาคธุรกิจ บริษัทเล็กบริษัทใหญ่ คนรายได้น้อยไปจนถึง “สถานศึกษา” ที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการเรียนการสอนใหม่ มีผู้ได้รับผลกระทบในหลายภาคส่วน

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” (มธ.) เป็นสถานศึกษาเเรกๆ ที่ออกมาตรการฝ่าวิกฤต COVID-19 เเละได้รับเสียงชื่นชมมากมาย ด้วยการช่วยเหลือที่รวดเร็ว ตรงจุด ครอบคลุมทั้งนักศึกษา ร้านค้าในโรงอาหาร แม่บ้าน วินมอเตอร์ไซค์ ช่วยทั้งด้าน “ออนไลน์” เเละ “ออฟไลน์” ตั้งเเต่ผ่อนผันค่าเทอม ลดค่าหอพักยันเเจกสิทธิ์ให้ดู Netflix

มาตรการต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยออกมา “Take Action” ในช่วง COVID-19 เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่ง “ธรรมศาสตร์โมเดล” ถือเป็น “ผลงานชิ้นโบเเดง” ของทีมบริหารเพื่อรับมือกับโรคระบาดในตอนนี้

เปลี่ยนหอพักเป็น รพ.สนาม

ประเดิมด้วยการเปิด “โรงพยาบาลสนามชั่วคราว” เพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา จากสถานการณ์ที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเเละมีพื้นที่รองรับไม่เพียงพอ ธรรมศาสตร์จึงนำอาคาร Dluxx Thammasat ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของมหาวิทยาลัย เป็นหอพัก 14 ชั้นมารองรับผู้ป่วย เพราะมีความเหมาะสมต่อการจัดพื้นที่ให้ได้มาตรฐาน มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด จัดระบบการรับผู้ป่วย ยาเวชภัณฑ์เเละบุคลากรทางการแพทย์

โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์ที่ร่วมในโครงการ 5 แห่ง ได้เเก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติที่จะช่วยสนับสนุนบุคลากร

ลดค่าหอพัก – ให้ทุน นศ. 5,000 ทุน 

ในช่วงเวลาที่มีความลำบากทั้งในการเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน และด้านเศรษฐกิจของทุกๆ คน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกมาตรการบรรเทาเยียวยาค่าใช้จ่ายด้าน “หอพักนักศึกษา” ดังนี้

1.นักศึกษาที่เช็กเอาต์ออกจากหอพักตั้งแต่ 21 มี.ค. 63 และต่อไปจากนี้ สำนักงานบริหารทรัพย์สินฯ จะคืนเงินค่าเช่าตามจำนวนเดือนที่ออกก่อนครบสัญญา 1 ปี พร้อมกับเงินประกัน

2.นักศึกษาที่ยังอยู่ในหอพัก และปีการศึกษาหน้า จะอยู่หอพักมหาวิทยาลัยต่อไป สำนักงานบริหารทรัพย์สินฯ จะลดค่าเช่าหอพักในปีหน้าให้ 2 เดือน

3.สำหรับนักศึกษาที่ยังอยู่ในหอพัก แต่ปีการศึกษาหน้าจะไม่ได้พักในหอพักของมหาวิทยาลัยแล้ว สำนักงานบริหารทรัพย์สินฯ จะลดค่าหอให้ 50% เป็นเวลา 3 เดือน โดยวิธีการคืนเงินและเวลาที่จะคืนเงินให้ สำนักงานบริหารทรัพย์สินจะได้แจ้งต่อไปอีกครั้งหลังจากนี้

สำหรับทุนการศึกษา จะมอบแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี โครงการปกติ ที่ได้รับผลกระทบในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 5000 ทุน เเบ่งเป็นทุน 2 ประเภทคือ
-ทุนช่วยเหลือ 5,000 บาท จำนวน 1,000 ทุน
-ทุนช่วยเหลือ 2,500 บาท จำนวน 4,000 ทุน

โดยมหาวิทยาลัยจะจัดสรรทุนให้เเต่ละคณะไม่เกิน 15% ของจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี โครงการปกติในคณะ ซึ่งนักศึกษาที่คิดว่าตนเองเข้าเกณฑ์รับทุนผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สามารถติดต่อเเละดูรายละเอียดได้ที่ sa.tu.ac.th

แจกอินเทอร์เน็ตฟรีให้ นักศึกษา “เรียนออนไลน์”

เพราะการเรียนออนไลน์อาจจะไม่ได้สะดวกสำหรับนักศึกษาทุกคน ก่อนหน้านี้ มธ.ได้มีมาตรการ “แจกซิมอินเทอร์เน็ตฟรี” สำหรับนักศึกษาที่มีปัญหาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเเล้ว

ล่าสุดได้จัดทำโครงการ Educational SIM สำหรับนักศึกษาทุกคนที่ ประสบปัญหาการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนแบบออนไลน์ โดยนักศึกษาที่มีความจำเป็นขอให้ลงทะเบียนได้ผ่านไลน์ @Thammasat Univeristy Official เพื่อลงทะเบียนขอรับ Internet Package ความเร็ว 4 Mbps (unlimited) เป็นเวลา 3 เดือน

สำหรับนักศึกษาที่มีระบบรายเดือน ที่อยากลงทะเบียนก็อาจจะเปลี่ยนเบอร์เดิมเป็นแบบเติมเงิน หรือซื้อซิมใหม่แบบเติมเงินมาลงทะเบียนได้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  โครงการ EDUCATIONAL SIM สำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลน

ช่วยผู้มีรายได้น้อย-ลูกจ้างในมหา’ลัย เปลี่ยนวิน เป็น Food Delivery

นอกจากการช่วยเหลือนักศึกษาเเล้ว ผู้ได้ประกอบการในมหาวิทยาลัยก็ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่แพ้กัน หลังได้เปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์มาตั้งเเต่ 16 มี.ค. เเละมีการสั่งปิดมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยในโรงอาหาร ร้านค้าต่างๆ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างภายในศูนย์รังสิต รวมถึงเเม่บ้านเเละลูกจ้างของบริษัทต่างๆ ด้วย เนื่องจากไม่มีคนมามหาวิทยาลัย และนักศึกษาที่อยู่หอพักก็กลับบ้านกันไปกว่าครึ่งหนึ่ง

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิต เปิดเผยว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการและผู้มีรายได้น้อยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้

1. ลดราคาค่าเช่าเดือนมีนาคมเหลือ 50% ให้กับร้านอาหารในโรงอาหาร และผู้ประกอบการอื่นในมหาวิทยาลัย (เพราะได้ขายเป็นปกติถึงแค่วันที่ 15 มีนาคม) โดยในเดือนเมษายนอาจพิจารณาลดมากกว่า 50% เพราะแม้ว่าวันที่ 13 เมษายนจะเปิดมหาวิทยาลัยอีกครั้ง แต่จะสอนออนไลน์ต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งกำลังหารือกับสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬาที่เป็นผู้ดูแลโรงอาหาร และจะเสนอท่านอธิการบดีให้อนุมัติต่อไป

2. สำหรับโรงอาหารกรีนแคนทีนและโรงอาหารรอบดึก ซึ่งบริษัทซีพีเป็นผู้ดูแลนั้น ได้ทำหนังสือพร้อมกับโทรศัพท์ไปแจ้งผู้จัดการแล้วว่า ขอให้บริษัทซีพีฯ ลดราคาค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการในโรงอาหารกรีนแคนทีนเหมือนกับโรงอาหารของมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยก็จะลดค่าสนับสนุนการศึกษาที่บริษัทต้องนำส่งมหาวิทยาลัยเป็นรายเดือนให้

3. แม่บ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่เป็นลูกจ้างของบริษัทที่รับงานดูแลความสะอาดและความปลอดภัย ผมได้แจ้งบริษัทไปแล้วว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะปิดในช่วงนี้ แต่ ห้ามเลิกจ้างแม่บ้าน และ รปภ. เพราะมหาวิทยาลัยจ้างเหมาเป็นรายปี บริษัทจึงมีรายได้แน่นอนอยู่แล้ว #จึงห้ามเลิกจ้างลูกจ้างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นลูกจ้างรายวัน

4.วินมอเตอร์ไซค์ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งสอบถามในเบื้องต้น ได้ข้อมูลว่าจากที่เคยวิ่งประมาณ 100 คัน ตอนนี้เหลือเพียง 40 คัน และมีรายได้ต่อคันเพียงวันละ 100 กว่าบาทเท่านั้น ผมจึงแจ้งบริษัทที่เป็นผู้ดูแลแล้วว่า ให้ลดค่าวินอย่างน้อย 50% และมหาวิทยาลัยจะลดราคาค่าสนับสนุนการศึกษาที่บริษัทจะต้องนำส่งมหาวิทยาลัยเป็นรายเดือนให้เช่นกัน

5. สำหรับมาตรการเพิ่มเติมในการช่วยร้านอาหารในโรงอาหารและวินมอเตอร์ไซค์ คือ ให้ร้านปรับเป็นการขายเป็นแบบจัดส่งอาหาร โดย วินมอเตอร์ไซค์จะเป็นคนขับส่งอาหาร ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือวินมอเตอร์ไซค์ และสนับสนุนมาตรการอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดด้วย

ในการดำเนินการนี้ ผศ.ดร.ปริญญาได้ขอให้สำนักงานบริหารทรัพย์สินฯ เป็นแม่งานในการสร้างระบบในการให้มีการสั่งอาหารออนไลน์ ให้เป็น Thammasat Food Delivery โดยจะต้องใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งโดยใส่ในถุงผ้าและเอาถุงผ้าคืน และถ้าเป็นปิ่นโต หรือทัปเปอร์แวร์ได้ก็จะดีที่สุดเลย ตอนนี้กำลังเตรียมการ เมื่อพร้อมแล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป

แจกประกันภัย COVID-19 ฟรีให้นักศึกษาทุกคน ทุกระดับ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดทำประกันภัย  COVID-19 ให้กับนักศึกษาทุกคน และทุกระดับชั้น ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกที่อยู่ในประเทศไทย โดยประกันภัยคุ้มครองดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 1 ปี

สำหร้บนักศึกษาที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ตามประกาศกรมควบคุมโรค ประกันจะเริ่มคุ้มครองหลังจากกลับมาประเทศไทยและผ่านการกักตัว 14 วัน ทั้งนี้เงื่อนไขประกันไม่คุ้มครองนักศึกษาที่อยู่ในต่างประเทศ และนักศึกษาที่ยืนยันติดเชื้อก่อนการทำประกัน โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถรับสิทธิ์ได้ ที่นี่

นอกจากนั้นยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่แสดงถึงความใส่ใจ อย่างการขยายเวลาผ่อนผันการชำระค่าเทอม การทำหนังสือไปยังทุกสายการบินเพื่อขอความร่วมมือให้งดค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนไฟลต์ หรือคืนเงินเต็มจำนวนสำหรับนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่จองไว้สำหรับงานรับปริญญาเเต่ที่ต้องเลื่อนไป

ให้นักศึกษาและอาจารย์ดู Netflix ฟรี ในช่วง COVID-19

ห้องสมุด มธ. ให้นักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดู Netflix สตรีมมิ่งออนไลน์ได้ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ฟรี 1 วัน โดยผู้ใช้ต้องดาวน์โหลด TeamViewer เพื่อใช้ในสำหรับ Remote Desktop และสามารถใช้บริการผ่าน Web Browser เท่านั้น โดยมีขั้นตอนการใช้บริการดังนี้

  1.  ติดต่อขอใช้บริการผ่าน Inbox เพจ Thammasat University Library พร้อมแจ้งรหัสนักศึกษา ชื่อ-สกุล ภายในเวลา 09.00 – 21.00 น.
  2. แจ้งรหัส TeamViewer กับเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ยังมีบริการที่ “ห้องสมุด มธ.” ได้รับเสียงชื่นชมมาก นั่นคืการ “ส่งหนังสือ” จากหอสมุดให้แก่นักศึกษาและบุคลากรที่ต้องการยืมหนังสือ เเต่ต้องอาศัยอยู่บ้าน เเม้อาจจะดูว่าเล็กน้อย แต่ก็เป็นการคำนึงถึงความสะดวกต่อการเรียนรู้มากเลยทีเดียว

เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ผู้รับผลกระทบ COVID-19

คณะนิติศาสตร์ ได้จัดตั้ง “ศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (TU Pandemic Legal Aid Centre)” เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ในประเด็นปัญหาทางกฎหมายต่างๆ ที่เกิดจากจากสถานการณ์โคโรนาไวรัส ผ่านระบบออนไลน์ โดยเปิดให้บริการแล้วตั้งเเต่ช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

อ่านเงื่อนไขเเละขั้นตอนการให้บริการได้ ที่นี่ 

ผลิตหน้ากาก Thammask 

ในยุคที่หน้ากากหายากเเละราคาเเพง ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 2019 ยังได้ผลิตหน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติกันน้ำ ไม่ดูดซับความชื้น ที่มีชื่อว่า Thammask เพื่อแจกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งผลิตออกมาถึง 60,000 ชิ้น โดยใช้งบประมาณผ่านการระดมทุนจากทางโซเชียลมีเดีย

นอกจากนั้นยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่แสดงถึงความใส่ใจของมหาวิทยาลัยต่อบุคลากรและนักศึกษาในสถาบันอีกจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น การขยายเวลาผ่อนผันการชำระค่าเทอม การทำหนังสือไปยังทุกสายการบิน ขอความร่วมมือให้งดค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนไฟลต์ หรือคืนเงินเต็มจำนวนสำหรับนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่จองไว้สำหรับงานรับปริญญาที่ต้องเลื่อนไป

สปิริตผู้นำ : อธิการไม่รับเงินเดือนตามตำแหน่ง

สิ่งสำคัญนอกเหนือจากวิสัยทัศน์ การบริหารจัดการที่ดี ลงมือทำจริงเเล้ว ก็คือสปิริตของผู้นำ โดยรศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลือกที่จะไม่รับเงินเดือนตามตำแหน่ง ซึ่งเธอไม่รับเงินเดือนมาก่อนแล้ว ตั้งแต่แรกเข้ารับตำแหน่งในปี 2560 โดยนำใส่บัญชีเป็นกองกลางไว้ใช้จ่ายภายในมหาวิทยาลัย

สำหรับการบริหารมหาวิทยาลัยในช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ ผู้บริหารทุกคน ทั้งรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ตลอดจนคณบดีเเละผู้เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ในรูปแบบของ “วอร์รูม” เพื่อช่วยกันคิดและเสนอมาตรการต่าง ๆ เเละจัดตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมา ซึ่งจนถึงตอนนี้ ทีมงานในห้องวอร์รูมก็ยังคงติดตามและดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาและลดผลกระทบให้กับบุคลากรในมหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษา และประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนออนไลน์ไปด้วย

นับเป็น “ตัวอย่างที่ดี” ของการบริหารงานในภาวะวิกฤติ ที่ได้ผลตรงจุดเเละมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจ การดูเเลองค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ