ส่องมาตรการ “ลดค่าไฟ 10-20%” ของเวียดนาม – ด้านไทยเกิดกระเเสสงสัย “ค่าไฟเเพง”

Photo : Shutterstock

ตอนนี้ “เวียดนาม” เป็นหนึ่งในประเทศที่ควบคุมการเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เเละมีมาตรการเเบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนออกมาเรื่อยๆ

โดยช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติให้ลดค่าไฟลง 10% ในทุกครัวเรือนตั้งเเต่เดือนเม.ย. จนถึงเดือน มิ.ย. รวม 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้เสนอแผน “ลดค่าไฟ” ให้กับภาคธุรกิจเเล้ว ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการ
พิจารณาเเละเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ โดยจะมีผลทันที

สำหรับมาตรการลดค่าไฟในปัจจุบัน จะเน้นไปที่การช่วยเหลือ “ภาคครัวเรือน” โดยบ้านที่ระดับการใช้ไฟฟ้าที่ 1-4 (ปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 kWh) หากอยู่ในข่ายนี้จะได้รับการลดหย่อนค่าไฟลงถึง 10% โดยการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ได้นำไปปรับใช้แล้วตั้งเเต่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา

ส่วน “ภาคธุรกิจ” ก็จะได้รับส่วนลดค่าไฟลง 10% เช่นกัน ครอบคลุมช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุด ช่วงปกติ แลนอกช่วงการใช้งาน ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักของนักท่องเที่ยวจะได้รับการลดหย่อนค่าไฟฟ้าเช่นเดียวกับครัวเรือน ภาคการผลิตเเละบริษัทต่างๆ

พิเศษสำหรับสถานประกอบการที่ใช้สำหรับกักกันโรคหรือใช้เป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันและสงสัยว่าจะติดเชื้อ COVID-19 จะได้รับการยกเว้น “ไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า” โดยเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว

รวมถึงโรงแรมและที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ตอนนี้ถูกนำใช้ในการกักกันผู้ป่วยและสงสัยว่าผู้ป่วย COVID-19 จะได้รับการลดค่าไฟลง 20% ขณะที่ผู้ให้บริการทางการเเพทย์เพื่อตรวจเชื้อผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันและผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 ก็จะได้รับการลดค่าไฟลง 20% เช่นกัน

ไทยลดค่าไฟ 3% เกิดข้อสงสัย “ค่าไฟเเพง” 

ด้านเมืองไทยก็มีมาตรการลดค่าไฟ 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเเละมีมาตรการลดค่าไฟฟ้าฟรีให้กับครัวเรือนที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 เเอมป์ เเละขยายเวลาการชำะค่าไฟ ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้างวดเดือน เม.ย.-มิ.ย. รวม 3 เดือน
เพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน

ส่วนมาตรการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชกำหนด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 ประเภทที่ 4 ประเภทที่ 5 ประเภทที่ 6 และประเภทที่ 7
ให้มีผลตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.นี้ รวม 3 เดือน โดยคิดตามความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดที่ใช้จริงหรือเป็นการเรียกเก็บตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยต่อเดือนจากปริมาณการใช้จริง จากปัจจุบันคิดค่าไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยต่อเดือน แต่คิดตามหน่วยแบบขั้นบันไดคือใช้จำนวนมากก็เสียค่าไฟฟ้ามากขึ้น

ขณะเดียวกัน ในไทยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ “ค่าไฟแพง” เกิดคำถามว่ามีคำถามว่าลดจริงหรือไม่ โดยการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ (20 เม.ย.) ระบุว่า สำหรับมาตรการลดค่าไฟฟ้าในอัตรา 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือนนั้นจะเริ่มรอบจดหน่วยวันที่ 14 เม.ย. 63 เป็นต้นไป หากรอบจดหน่วยของท่านจดก่อนวันที่ 14 จะลดค่าไฟฟ้าในรอบบิลถัดไป

ทั้งนี้ หากประชาชนพบว่าค่าไฟแพงขึ้น “ผิดปกติ” สามารถแจ้งเรื่องไปยังสำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อให้ตรวจสอบ หรือสามารถยื่นเรื่องผ่านเว็บไซต์ www.mea.or.th

ล่าสุด (21 เม.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติมาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาภาระประชาชน ระหว่างเดือน มี.ค. – พ.ค.63 วงเงิน 23,688 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมาตรการดังกล่าว เป็นการช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้ไฟฟ้า ประเภทที่อยู่อาศัยจำนวน 22 ล้านราย

ส่วนภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ก่อนจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง

สำหรับมาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้เเก่

? มิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรีได้ไม่เกิน 150 หน่วย

? มิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ จะมีข้อกำหนดคือ หากใช้มากกว่าเดือน ก.พ.63 แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. เเต่หากใช้เกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ.บวกกับส่วนที่เกิน ที่ได้รับส่วนลด 50% และหากใช้เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. บวกกับส่วนเกิน ซึ่งได้รับส่วนลด 30%

ทั้งนี้ การลดหย่อนดังกล่าวจะมีการคืนค่าใช้จ่ายให้ในรอบบิลถัดไป

 

ที่มา : vnexpress