มาตรการแจกหน้ากากผ้าของญี่ปุ่น สู่กระแส “อาเบะโนมาสก์” ถูกสับเปลืองภาษี 4.7 หมื่นล้านเยน

การแจกหน้ากากผ้าให้กับทุกครัวเรือนของนายกฯ ชินโซ อาเบะ สะท้อนความล้มเหลวในการแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนในญี่ปุ่นที่ยาวนานกว่า 3 เดือน และถูกวิจารณ์อย่างมากว่าสิ้นเปลืองภาษีประชาชน จนถูกขนานนามว่านโยบาย “อาเบะโนมาสก์”

ถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะออกมาตรการเข้มงวด เพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา ทั้งออกกฎหมายจำคุก 1 ปี ปรับเงิน 1 ล้านเยนผู้ที่โก่งราคาขายหน้ากาก หรือให้เงินสนับสนุนบริษัทต่างๆ เพิ่มกำลังการผลิตหน้ากาก แต่จนถึงขณะนี้หน้ากากอนามัยก็ยังหาซื้อไม่ได้ในญี่ปุ่น

นายกฯ ชินโซ อาเบะ แถลงข่าวโดยสวมหน้ากากผ้าขนาดกะทัดรัด ผิดมาตรฐานหน้ากากทั่วไป พร้อมระบุว่าจะแจกหน้ากากอนามัยผ้านี้ให้กับทุกครัวเรือนในญี่ปุ่น ครัวเรือนละ 2 ชิ้น และยังจะส่งหน้ากาก 500,000 ชิ้นไปให้กับสตรีมีครรภ์ทั่วประเทศด้วย ชาวญี่ปุ่นต่างเรียกนโยบายนี้ว่า “อาเบะโนมาสก์” Abenomask เลียนแบบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของนายอาเบะที่ขนานนามว่า “อาเบะโนมิกส์” Abenomics

หน้ากากผ้าไม่ได้มาตรฐาน

หน้ากากของนายอาเบะเริ่มจัดส่งให้สตรีมีครรภ์และประชาชนเมื่อวันศุกร์ที่ 17 เม.ย. แต่เมื่อประชาชนได้รับกลับตกตะลึงเมื่อพบว่า หน้ากากอนามัยบางส่วนเปรอะเปื้อน ขึ้นรา มีเส้นผมของมนุษย์และฝุ่นติดอยู่ ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ มีการร้องเรียนหน้ากากที่มีปัญหามากกว่า 11,500 ชิ้น

แต่กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นกลับบอกว่า หน้ากากอนามัยที่มีปัญหาจะได้รับการเปลี่ยนใหม่ พร้อมเรียกร้องให้บริษัทที่ผลิตหน้ากากตรวจสอบให้ดี แต่ยังเดินหน้าแจกหน้ากากต่อไป

ชาวญี่ปุ่นได้ไปตั้งกระทู้ถามในเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขว่า ทำไมหน้ากากของนายอาเบะมีขนาดเล็ก เหมือนกับของเด็กใช้? แต่ทางกระทรวงฯ อ้างว่าหน้ากากมีขนาดใหญ่พอที่จะปิดปากและจมูกของผู้ใหญ่

เมื่อวัดพิสูจน์พบว่า หน้ากากของนายอาเบะมีขนาด 95 X 135 มม. ขณะที่หน้ากากอนามัยมาตรฐานมีขนาด 95 X 175 มม.

สิ้นเปลืองภาษี 47,000 ล้านเยน

ไม่เพียงแค่เรื่องขนาดของหน้ากากที่ผิดมาตรฐาน และความเลอะเทอะเปรอะเปื้อน แต่สื่งที่ชาวญี่ปุ่นไม่พอใจนโยบาย “อาเบะโนมาร์ก” คือ การใช้งบประมาณมากถึง 47,000 ล้านเยน เพื่อการนี้ ทั้งๆ ที่ควรจะนำเงินไปช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานแทบไม่ได้พักผ่อน หรือเพิ่มการตรวจคัดกรองเชื้อ ที่จะช่วยสกัดกั้นการระบาดได้มีประสิทธิภาพกว่า

โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า หน้ากากของนายอาเบะราคาชิ้นละ 200 เยน (ราว 60 บาท) แพงกว่าราคาทั่วไปเพราะมีค่าใช้จ่ายอื่น เช่น การทำแผ่นพับแนะนำวิธีซัก โดยเฉพาะค่าบรรจุซองและจัดส่งทางไปรษณีย์ก็สูงกว่า 1,000 ล้านเยน

ชาวญี่ปุ่นให้ความเห็นเช่น

“หน้ากากหาซื้อไม่ได้มา 3 เดือนแล้ว ตอนนี้เพิ่งมาแจกไม่สายไปหน่อยหรือ?”

“เปลืองทั้งเงิน เวลา และแรงงานพนักงานไปรษณีย์ แจกหน้ากากผ้าที่ใช้งานไม่ได้”

“เอาเงินไปช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และคนที่ตกงานจะดีกว่าไหม?”

“บรรจุซองมาอย่างดี พร้อมแนะนำวิธีซัก (ที่รู้อยู่แล้ว) แต่หน้ากากขึ้นรา สกปรก”

“ WHO ชี้ชัดว่า หน้ากากผ้าไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ เป็นเรื่องโง่ ๆ ที่คิดว่าหน้ากากนี้จะสกัดไวรัสที่ขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน”

“ทำไมมีกฎหมายจำคุก ปรับล้านเยนแล้ว ถึงยังหาซื้อหน้ากากไม่ได้ รัฐบาลต้องเสียงบประมาณมาแจก”

ชาวญี่ปุ่นบางคนจึงคิดจะนำหน้ากากของนายอาเบะไปบริจาค หรือขายต่อทางอินเทอร์เน็ต ทำให้เว็บไซต์ขายสินค้ารายใหญ่อย่าง Mercari และ Yahoo Japan ไปสั่งห้ามขายหน้ากากผ้าบนเว็บของตนแล้ว

ชาวญี่ปุ่นหลายคนดัดแปลงภาพในการ์ตูนชื่อดังเพื่อเสียดสีนโยบาย “อาเบะโนมาร์ก” เช่น ครอบครัวพ่อแม่ลูก แต่ได้รับหน้ากากแค่ 2 ชิ้น หรือภาพนายอาเบะนั่งหลับคาหน้ากากในรัฐสภา ขณะที่นายทาโร อาโซ รองนายกฯ สาละวนอยู่กับหน้ากากที่ปิดหน้าปิดตาตัวเอง และที่แสบสันที่สุด คือ ภาพตัดแต่งนายอาเบะมีหน้ากาก 2 ชิ้นปิดปากและดวงตา เสียดสีนโยบาย “ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิด”

Source