ล็อกดาวน์ทำให้ขยะในเมืองลดลง 13-55% แต่ขยะพลาสติกจากเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นเท่าตัว!

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หวั่นการบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ในกรุงเทพฯ และปริมลฑล รวมทั้งเมืองใหญ่ต่างๆ ที่ให้ความสะดวกสบาย ขยายตัวมากกว่า 100% ในช่วงประกาศภาวะฉุกเฉิน เดือนมีนาคมและเมษายน ที่ล็อกดาวน์ สร้างขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์มหาศาล

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า

ในช่วง COVID-19 แพร่ระบาด พบว่าเขตเมืองต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ต่างมีปริมาณขยะรวมลดลง เช่น กรณีที่ภูเก็ต ลดลงจาก 970 ตันต่อวัน เป็น 840 ตันต่อวัน (ลด 13%) พัทยา จาก 850 ตันต่อวัน เป็น 380 ตันต่อวัน (ลด 55%) เป็นต้น

“แต่โดยรวมแล้วสัดส่วนขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นในเกือบทุกเมือง โดยเฉพาะจากการสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ส่งถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน ซึ่งมีบริการในหลายจังหวัดในประเทศไทย และแต่ละครั้งที่สั่งอาหาร มีจำนวนพลาสติกไม่น้อยกว่า 5 ชิ้น”

ขยะพลาสติกจาก Food Delivery เพิ่มขึ้นเท่าตัว

การบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ (Food Delivery) เริ่มเติบโตมาแล้วระยะหนึ่ง พร้อมๆ กับการเติบโตของระบบ Online Shopping ซึ่งมีการขยายตัวชัดเจนมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในกรุงเทพฯ และปริมลฑล รวมทั้งเมืองใหญ่ต่างๆ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น มีความก้าวหน้าด้าน เทคโนโลยี และการเดินทางที่ไม่สะดวก

ก่อนหน้านี้มีการคาดกันว่าจะเติบโตประมาณปีละ 10 -20% ในภาวการณ์ปกติ แต่ในช่วง COVID-19 และการประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 กลับมีการเติบโตมากว่า 100%

Photo : Shutterstock

สิ่งที่ตามมาด้วย คือ ขยะพลาสติก ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากกิจกรมดังกล่าวด้วย ขยะจากการส่งอาหารประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์หีบห่อและอุปกรณ์ ได้ก่อให้เกิดขยะพลาสติกไม่น้อยกว่า 5 ชิ้นต่อการสั่งอาหารแต่ละครั้ง ได้แก่ ถุงพลาสติก กล่องกระดาษใส่อาหาร กล่องพลาสติกใส่ อาหาร กล่องพลาสติก/ซองพลาสติกแยกชนิดอาหาร ซองเครื่องปรุงรส แก้วพลาสติกใส่เครื่องดื่ม ตะเกียบไม้หรือพลาสติก ช้อนและส้อมพลาสติก พร้อมซองพลาสติกใส่ตะเกียบหรือช้อน กระดาษทิชชู เป็นต้น

ดร.วิจารย์ แนะให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการ Food Delivery ตระหนักถึงการเป็นผู้สร้างขยะ โดยการช่วยลดการใช้พลาสติกที่มาจากบรรจุภัณฑ์เพื่อลดก่อขยะพลาสติก ดังต่อไปนี้

1. ด้วยความต้องการความสะดวกสบายของผู้บริโภคส่วนใหญ่ เป็นตัวขับเคลื่อนให้ Food Delivery เติบโต การที่จะให้ผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่เป็นพลังปรับเปลี่ยนให้ Food Delivery ลดขยะพลาสติก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นความท้าทาย

2. การเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคที่มีปัจจัยด้านราคาเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงต้องคิดถึงปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าทางเลือกในการสั่งสินค้าแบบรับหรือไม่รับพลาสติก ความง่ายในการใช้งานแอปพลิเคชัน เป็นต้น

3. สำหรับผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ควรจะมีทางเลือกในการสั่งอาหารแบบ Food Delivery ที่สามารถลดขยะพลาสติกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือปฎิเสธบบรจุภัณฑ์พลาสติกบางประเภท

4. ทางเลือกที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ให้บริการ แอปพลิเคชัน และผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์อาหาร ควรทำเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก ได้แก่

  • งดการใช้และการให้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) เช่น ช้อนส้อม หลอดกาแฟ เป็นต้น
  • เลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบย่อยสลายได้ เช่น ผลิตภัณฑ์จากชานอ้อย จากกระดาษ เป็นต้น
  • เลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้ซ้ำ โดยจัดให้มีระบบค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ สำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (niche market)
  • ออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารให้เหมาะกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อลดจำนวนขยะที่เกิดขึ้น เช่น มีช่องแยกชนิดอาหาร
  • เพิ่มทางเลือกในการสั่งอาหารผ่านแอปฟลิเคชัน โดยระบุรับหรือไม่รับช้อนพลาสติกหรืออื่นๆ ที่ไม่ต้องการ
เซ็ตทำขนมโตเกียวของร้าน Foodmania.th

5. การคัดแยกขยะก็ยังนับว่ามีความสำคัญในทุกสถานการณ์ ทั้งก่อนและหลัง COVID-19 เพื่อเพิ่มโอกาสให้ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นได้ถูกรวบรวมและนำไปแปรรูปกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ถือว่าลดการใช้ทรัพยากรอีกทางหนึ่ง ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งภาครัฐต้องสร้างระบบการจัดการเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ว่าหากแยกขยะแล้วจะไม่นำกลับไปเทและฝังกลบรวมกันเช่นที่ผ่านมา ได้แก่ การแจกถุงขยะรีไซเคิลตามบ้านและรวบรวมเก็บบางวัน มีจุดทิ้งขยะรีไซเคิลในชุมชน เป็นต้น

6. ภาครัฐต้องส่งเสริมและกำกับดูแลลดการใช้ Single-use plastics และใช้มาตรการจูงใจเพื่อขยายตลาดสินค้าบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมให้แข่งขันได้กับตลาดสินค้าทั่วไปให้ได้

ทั้งนี้ ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปีละกว่า 27.8 ล้านตัน จากการที่คนหนึ่งคนสร้างขยะวันละ 1.13 กิโลกรัม ในนั้นประมาณ 12 -13% เป็นขยะพลาสติก ยกเว้นในเขตกรุงเทพมหานครที่มีปริมาณขยะพลาสติก ประมาณ 20% หรือ 2,000 ตันต่อวัน จากปริมาณขยะรวมของกรุงเทพฯ 10,500 ตันต่อวัน

Source