AIS เปิดงบ Q1/63 กำไรสุทธิ 7,004 ล้านบาท ลูกค้าลดลง ผลกระทบจาก COVID-19

เอไอเอสรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/63 มีรายได้ และกำไรลดลง มีลูกค้าลดลง 8.6 แสนราย เหลือ 41.16 ล้านราย แต่ยังครองเบอร์ 1 ในตลาด จากปัจจัยพิษ COVID-19 และ “สงครามราคา” ดึงลูกค้า และการปิดประเทศทำให้ขาดนักท่องเที่ยวซื้อแพ็กเกจ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ห้างฯ ทำให้ยอดขายมือถือลดลง แต่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตสดใส โตพุ่ง 27%

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีรายได้รวมอยู่ที่ 42,845 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 7,004 ล้านบาท (*ไม่รวมผลจากนโยบายบัญชีใหม่ TFRS16)

โดยพบว่ารายได้ลดลง -1.0% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือลดลง -12% เทียบไตรมาสต่อไตรมาส ส่วนกำไรสุทธิ ลดลง -7.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือลดลง -0.9% หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาส

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า รายได้ที่ลดลงมาจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มีรายได้ลดลง -1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการแข่งขันของอุตสาหกรรม ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้รายได้จากกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวลดลง สะท้อนถึงจำนวนลูกค้าเอไอเอสที่ลดลง 8.6 แสนรายจากไตรมาส 4/62 เหลือจำนวนลูกค้าระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 41.16 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม สมชัยกล่าวว่าจำนวนลูกค้าของเอไอเอสยังเป็นอันดับ 1 ในตลาด แบ่งเป็นลูกค้าระบบรายเดือนจำนวน 9.1 ล้านราย และมีลูกค้าระบบเติมเงินอยู่ที่ 32.0 ล้านราย

รายได้ที่ลดลงของเอไอเอสอีกส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจขายเครื่องมือถือและซิม ซึ่งไตรมาสนี้ลดเหลือ 6.5 พันล้านบาท ลดลง -11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ศูนย์การค้าและปิดเมืองทำให้ยอดขายส่วนนี้ลดลง

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส

เอไอเอส ไฟเบอร์ ยังโตต่อเนื่อง

ส่วนที่เอไอเอสมีผลประกอบการดีขึ้นคือธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง “เอไอเอส ไฟเบอร์” มีรายได้ 1.64 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 27% เทียบกับปีก่อน หรือโตขึ้น 3.9% เทียบไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการเติบโตเริ่มชะลอลง มีลูกค้าเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ 52,800 ราย ลดจากค่าเฉลี่ยที่มีลูกค้าเพิ่ม 76,775 รายต่อไตรมาส เนื่องจากลูกค้ามีการยกเลิกแพ็กเกจที่ให้ส่วนลด แต่ได้อานิสงส์จากการ Work from Home ทำให้ยอดขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม

แม้ว่ารายได้และกำไรสุทธิจะลดลง แต่สมชัยชี้ว่า EBITDA (กำไรก่อนหักค่าเสื่อมและภาษี) อยู่ที่ 1.96 หมื่นล้านบาท เติบโต 3.8% จากปีก่อนหน้า สะท้อนว่าเอไอเอสยังมีความสามารถในการทำกำไร ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

นอกจากนี้ สมชัยย้ำว่าวิสัยทัศน์ของเอไอเอสในระยะยาวคือการเป็นผู้นำการพัฒนาบริการ 5G หลังจากที่เอไอเอสชนะการประมูลคลื่นความถี่ในเดือนกุมภาพันธ์สำหรับพัฒนาบริการ 5G

รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนเพื่อให้บริการ 4G โดยการลงทุนขยายโครงข่ายบนคลื่นความถี่ใหม่ย่าน 2600MHz ได้เริ่มต้นในปีนี้ เพื่อให้บริการทั้งบนเทคโนโลยี 4G และ 5G โดยมีงบการลงทุน 3.5-4.0 หมื่นล้านบาท