“เกาหลีใต้” เตรียมแก้ปัญหาการเก็บ “ข้อมูลส่วนตัว” ป้องกันระบาดซ้ำ บทเรียนจากผับอิแทวอน

บรรยากาศเงียบเหงาของผับบาร์ในย่านอิแทวอน กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2020 หลังจากพบการระบาดซ้ำที่ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากคลัสเตอร์นักเที่ยวในย่านนี้ (Photo by Chung Sung-Jun/Getty Images)
เกาหลีใต้พบคลัสเตอร์ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกสองในผับย่านอิแทวอน ทำให้รัฐบาลต้องพิจารณาระเบียบใหม่ในการเก็บและเผยแพร่ “ข้อมูลส่วนตัว” ของประชาชน โดยจะลดระดับการเผยแพร่ข้อมูลที่ระบุตัวตนได้ชัดเจน ช่วยปกปิดตัวตนของผู้ติดเชื้อ เพื่อให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐ

เกาหลีใต้เพิ่งพบการระบาดซ้ำของไวรัส COVID-19 จากคลัสเตอร์ที่เริ่มต้นจากกลุ่มนักเที่ยวในผับบาร์ย่านอิแทวอน กรุงโซล จนมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 29 คนนับจากสัปดาห์ก่อน (ข้อมูลวันที่ 13 พ.ค. 2020) หลังจากที่แดนโสมขาวไม่พบยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาหลายสัปดาห์ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งค้นหาตัวกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัส แต่ยังคงหาไม่พบอยู่อีกประมาณ 2,000 คน

แม้ว่าผับบาร์ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการอีกครั้งจะมีมาตรการรัฐบังคับว่าต้องเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ได้แก่ ชื่อสกุล เบอร์โทรศัพท์ ก่อนเข้าใช้บริการ แต่เนื่องจากประชาชนหวั่นกลัวว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะและถูกสังคมประณามในภายหลัง ทำให้ผับบาร์ได้รับข้อมูลปลอมหรือได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนจนเจ้าหน้าที่นำมาติดตามตัวต่อไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผับบาร์ในชุมชน LGBTQ (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานสเจนเดอร์ และเควียร์) ที่ลูกค้าจะระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนตัวอย่างมาก เพราะเกาหลีใต้ยังไม่เปิดกว้างต่อบุคคลที่เป็น LGBTQ หากถูกเปิดเผยต่อสาธารณะอาจเผชิญกับอคติของสังคม

เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลดาต้าโลเคชันจากเครือข่ายมือถือและภาพกล้องวงจรปิด มาเป็นหลักฐานค้นหากลุ่มเสี่ยงแทน ท่ามกลางเสียงจากสังคมทั่วไปที่ขอให้กลุ่มเสี่ยงแสดงตัวเข้ารับการตรวจด้วยตนเอง

ตัวอย่างภาพจากเว็บไซต์ http://coronamap.site/ แสดงผลจุดที่มีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาทางสังคมที่ผลต่อระบบสาธารณสุข โดยให้สัญญาว่าจะพยายามลดการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อที่มากเกินไปจนสามารถระบุตัวได้ เนื่องจากที่ผ่านมา เกาหลีใต้มักจะแสดงข้อมูลผู้ติดเชื้อโดยละเอียด ทั้งอายุ เพศ สถานที่ที่ไปเยือนทั้งหมด และในบางกรณีถูกระบุถึงนามสกุลและอาชีพด้วย

“เราวางแผนจะปรับระเบียบปฏิบัติใหม่เพื่อป้องกันการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ตารางการเดินทาง ของผู้ติดเชื้อที่มากจนเกินไป” คิมกังลิป รองนายกรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ กล่าว

ประชาชนที่หลีกเลี่ยงการเรียกตัวเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 จะมีค่าปรับสูงสุด 2 ล้านวอน (ประมาณ 52,300 บาท) และหลังจากเกิดการระบาดซ้ำ สำนักข่าวในเกาหลีใต้ต่างรายงานว่ากระแสสังคมต่างโจมตีทั้งรัฐบาลที่อนุญาตให้ผับบาร์กลับมาเปิดทำการ รวมถึงเหล่านักเที่ยวด้วย แม้แต่คนขับรถแท็กซี่ยังปฏิเสธที่จะไปส่งหรือรับผู้โดยสารจากย่านอิแทวอนเป็นการชั่วคราว

Source