“First Mover” ยุทธศาสตร์ 3D ซัมซุง

ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ ยังรอเวลาวางขายทีวี 3D ไปถึงปลายปี บางรายอาจกินเวลาไปถึงต้นปีหน้า แต่ “ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์” กลับใช้โอกาสนี้กระชับพื้นที่ตลาดทีวี 3D ก่อนใคร

ความไม่พร้อมของตลาด 3D ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ผลิตค่ายนี้ เมื่อเทียบกับยุทธศาสตร์ในการก้าวไปสู่ Global Brand ซึ่งซัมซุงทุ่มเทมาตลอดหลายปี ทั้งในแง่ของเทคโนโลยี ดีไซน์ ตลอดจนกลยุทธการตลาด การเป็น First Mover หรือรายแรกในตลาด จึงเป็นเป้าหมายสำคัญก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตทีวี โดยที่ไทยในเอเชีย เป็น 1 ใน 7 ประเทศที่เป็น Strategic Country ซัมซุงจึงพร้อมที่จะทุ่มสรรพกำลัง เพื่อให้แบรนด์ “ล้ำหน้า” เหนือคู่แข่งที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต

ซัมซุง รู้ดีว่าเส้นทางการแข่งขันไม่มีอะไรแน่นอน ยังต้องใช้เวลายาวไกล ค่ายคู่แข่งอย่างโซนี่เองแม้จะก่อนหน้านี้จะเคยตกเป็นรองในตลาด แต่ก็ยังมีเขี้ยวเล็บอยู่มาก โดยเฉพาะในเทคโนโลยี 3D ด้วยแล้ว โซนี่มีทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ล่าสุดยังคว้าลิขสิทธิ์จากฟีฟ่าให้ถ่ายทอดสดในระบบ 3 มิติ ไปใน 30 เมืองใหญ่ทั่วโลก

แม้โซนี่จะมีภาษีเหนือว่าในเรื่องนี้ แต่เมื่อยังไม่มีสินค้าออกวางตลาด ซัมซุงจึงใช้โอกาสนี้ ใส่เกียร์ 5 เดินหน้าวางขายทีวี 3D ในไทยทันที แม้ซัมซุงไม่ใช่แบรนด์แรกที่มีทีวี 3D แต่เป็นแบรนด์แรกจะมีเครื่องขายให้ลูกค้าหาซื้อได้ก่อนใคร

“ยิ่งแบรนด์ไหนออกมาให้ข่าวเรื่อง 3D แต่เขายังไม่มีวางขาย ก็เท่ากับสร้างข้อได้เปรียบให้กับซัมซุง เพราะคนที่เขาอยากได้ เมื่อไม่มีสินค้าให้เขาก็ต้องซื้อซัมซุง นี่คือโอกาสมหาศาลของเรา ทำให้เราได้อานิสงส์อย่างไม่คาดคิด” รัชตะ สุทธาพัฒน์ธานนท์ หัวหน้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ภาพและเสียง (เอวี) บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ บอก

การออกสตาร์ทก่อนย่อมส่งผลให้แบรนด์ซัมซุงดูดี ทันสมัย มีอินโนเวชั่นล้ำหน้าเหนือคู่แข่งไปก่อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบเทคโนโลยี และลูกค้าที่ต้องการซื้อเพื่อแสดงถึงฐานะทางสังคม เป็นตลาดที่ซัมซุงต้องช่วงชิงตลาดนี้ก่อนใคร
“ลูกค้ากลุ่มนี้ คือกลุ่มที่เคยซื้อแอลซีดีเมื่อ 5 ปีที่แล้ว พอมีทีวี 3D ขายราคา 2-3 แสน จึงไม่ใช่ปัญหาของลูกค้ากลุ่มนี้ มันอยู่ที่เราจะทำตลาดตรงกับความต้องการของเขาได้หรือไม่”

แทนที่เลือกใส่ฟีเจอร์ 3D ในทีวีรุ่นที่เป็นแฟลกชิป เหมือนกับแบรนด์อื่น ซัมซุงใส่ลงในจอภาพทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น แอลอีดี (LED) มีให้เลือก 6 รุ่น แอลซีดี (LCD)2 รุ่น แม้แต่ จอพลาสม่า (PLASMA) 2 รุ่น เครื่องเล่นบลูเรย์ 1 รุ่น และคอมพิวเตอร์ 1 รุ่น รวม 12 โมเดล วิธีนี้จะทำให้ตลาด 3D ไม่ถูกจำกัดเฉพาะระดับบน กลุ่มลูกค้าทั่วไปที่กำลังซื้อรองลงมาก็สามารถจับต้องได้ โดยตั้งราคาให้สูงกว่าทีวีปกติ เฉลี่ยประมาณ 20-25%

ขณะเดียวกันซัมซุงพยายามแก้ปัญหาจุดอ่อนในเรื่องแว่นตา 3 มิติ ที่มีลูกค้าจะไม่ได้รับความสะดวก ทั้งความไม่เคยชิน และน้ำหนัก ด้วยการออกแบบให้มีความหลากหลายของแว่นตา ที่มีให้เลือกหลายขนาด เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย เพื่อให้แว่นตาดูมีความเป็นแฟชั่นมากกว่าเป็นภาระที่ต้องสวมใส่
ส่วนปัญหาการขาดรายการ 3 มิติ ซัมซุงนำเทคโนโลยีการ Convert ภาพจาก 2 มิติ (การถ่ายทอดรายการปกติ) ไปเป็น 3 มิติมาใช้ใน ซึ่งคุณสมบัติที่ซัมซุงเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาซอฟต์แวร์รายการ 3 มิติ ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ กว่าที่รายการ 3 มิติจะถูกผลิตอย่างแพร่หลาย

การทำตลาดทีวี 3D ของซัมซุง จะให้น้ำหนักกับ
1.ความพร้อมของเทคโนโลยี มีสินค้าวางขายก่อนใคร
2.คู่ค้า หรือเอเย่นต์สำคัญสำคัญต่อการขายทีวี ที่ต้องพึ่งพาตัวแทนขายเป็นหลัก
3. เซลส์แมน หรือ พีซี ต้องดูดี พูดจากสุภาพ
4. โฆษณาผ่านสื่อ

งานนี้ ซัมซุงควักกระเป๋า 100 ล้านบาท อัดฉีดโฆษณาโปรโมต ทีวี 3Dแบบ 360 องศา ผ่านทุกสื่อ ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ และออนไลน์ โรงภาพยนตร์ 3 มิติ เพื่อสร้างภาพจำให้กับผู้บริโภค “นึกถึงซัมซุงต้องคิดถึง 3D”

ซัมซุงตั้งเป้าไว้ว่า ช่วงแรกทีวี 3D จะทำรายได้ให้กับซัมซุง 3-5% ของตลาดทีวีจอแบน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50% ของตลาดรวมทีวีในปีนี้ ( 1.2 ล้านเครื่อง) หรือคิดเป็น 20,000-30,000 เครื่อง จากนั้นจะเวลาเกิดในตลาด 3-5 ปี ทีวี 3 มิติ จะมีสัดส่วนในตลาด 15-20% พอๆ กับตลาดพลาสม่าเวลานี้ ซึ่งถือว่าไม่น้อยสำหรับอุตสาหกรรมทีวี ที่มีถึง 5 หมวดสินค้า

ถึงแม้จะใช้เวลา แต่ถ้าต้องแลกกับเส้นทางของการสร้างแบรนด์ และการยึดฐานลูกค้ากลุ่มแรกที่ถือว่าเป็น “ครีม” ของตลาดแล้ว ซัมซุงเชื่อว่าคุ้มค่า เพราะอย่างน้อยก็ได้ลูกค้าที่แน่นอนไว้ในมือได้ก่อนใคร