3 แนวทางปรับตัวของ ‘Startup’ เมื่อการระดมทุนทำได้ยากขึ้น

ปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลกกว่า 5 ล้านคนที่ติดเชื้อ Covid-19 ซึ่งการระบาดใหญ่ได้ทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำลง เนื่องจากรัฐบาลส่วนใหญ่หยุดดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อป้องกันไวรัส ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ต่างก็ได้รับผลกระทบทั้งหมด และการจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะเหล่า ‘Startup’ ต่างก็กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ท้าทาย เนื่องจากแต่ละกองทุนต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง อีกทั้งยังเผชิญกับภาวะเงินทุนที่ลดลง

ปิดรอบระดมทุนให้เร็วที่สุด

Hemanth Mohapatra หุ้นส่วนในบริษัท Lightspeed India ซึ่งเป็นบริษัทกองทุนที่ลงทุนใน Startup กล่าวว่า การเริ่มต้นการระดมทุนในปัจจุบันจำเป็นต้องปิดรอบของพวกเขาทันทีที่ทำได้

“คำแนะนำของเราสำหรับผู้ก่อตั้งคือ การปิดรอบของพวกเขาโดยเร็วที่สุด ไม่ต้องรอหลายเทอม และแม้ว่าภาพรวมการลงทุนใน Startup จะลดลง แต่คาดว่าตลาดจะกลับมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้”

ที่ผ่านมา Crunchbase คาดการณ์ว่าจะมีการลงทุน 7,600 รอบในไตรมาสที่ 1 ปี 2020 ลดลงจากไตรมาสก่อน 5% และลดลง 4% เมื่อเทียบเป็นรายปี และถือว่าต่ำที่สุดในรอบห้าไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าการลงทุนทั่วโลกในไตรมาสแรกอยู่ที่ประมาณ 63.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อน 17% และลดลง 8% เมื่อเทียบรายปี นี่คือการคาดการณ์ว่าจะเป็นจำนวนเงินต่ำสุดในรอบสองปี

เช็กให้ชัวร์ว่ายังมีเงินทุน

Rajan Anandan กรรมการผู้จัดการของ Sequoia Capital India และผู้ดูแลโครงการ Surge ของบริษัทร่วมทุนในการลงทุนใน Startup ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้กิจกรรมการระดมทุนโดยรวมลดลงและแนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ของปียังจะยิ่งเลวร้าย ดังนั้น เหล่า Startup ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ายังมีเงินสดในมือ และหากธุรกิจอยู่ในส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาจพิจารณาเปลี่ยนธุรกิจไปยังสิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง โดยอาจเปลี่ยนวิธีขายและหาลูกค้าใหม่

“ดังนั้น Startup ที่พยายามสร้างธุรกิจ พวกเขาต้องเข้าใจว่า COVID-19 กำลังจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้ในอนาคตและธุรกิจจะต้องรู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร และปรับกลยุทธ์ของคุณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าคุณมีเงินสดในมือ นี่คือเวลาที่ต้องสร้างทางใหม่ เพื่อแยกตัวออกจากการแข่งขัน”

Young startup businessmen teamwork brainstorming meeting to discuss the new project investment.

หายนะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์

Vinod Nair นักลงทุน angel กล่าวว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 2 ประเภท 1.พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนเร็วกว่าที่คาด จากที่คาดว่าจะใช้เวลาถึงสองปี แต่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การใช้ช้อปปิ้งออนไลน์ การชำระเงินดิจิทัล การเรียนออนไลน์ ไปจนถึงการให้คำปรึกษากับแพทย์ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างในอินเดียนั้น จะเห็นการเติบโตในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีการศึกษาที่จำนวนผู้เรียนออนไลน์ด้เพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

2.การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น คนจำนวนมากขึ้นอาจจะทำงานจากที่บ้าน แม้การระบาดจะสิ้นสุดลง และนอกเหนือไปจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วการระบาดใหญ่ได้เร่งให้เกิดการพัฒนาระบบดิจิทัลของแต่ละประเทศให้ดีขึ้น

“หลังจากผ่านวิกฤตหลายครั้ง เราได้เห็นบริษัทที่ดีที่สุดและผู้ก่อตั้งที่ดีที่สุดมาจากวิกฤตเหล่านี้ เราคิดว่าหายนะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ”

หนึ่งในข้อดีของ Startup ก็คือ ความคล่องตัว ดังนั้น อาจจะใช้จุดเด่นในส่วนนี้ ทดลองทดสอบ หาบิสซิเนสโมเดลใหม่ ๆ เพื่อปรับให้ล้อไปกับพฤติกรรม New Normal ที่เกิดจาก COVID-19 ไม่แน่ว่า ผลจากการทดลองใหม่ ๆ นี้ จะดึงดูดทั้งนักลงทุน รวมถึงช่วยให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นก็เป็นได้

Source Source