ปลอดภัยหรือยัง? Google Assistant ทดลองระบบ “ยืนยันตัวตน” ซื้อสินค้าด้วย “คำสั่งเสียง”

ลำโพงอัจฉริยะ Google Nest (Photo: John Tekeridis)
Google Assistant เปิดทดลองโครงการนำร่อง สั่งซื้อสินค้าด้วย “คำสั่งเสียง” จากเดิมที่มีเฉพาะการยืนยันด้วยลายนิ้วมือหรือใบหน้า โดยผู้บริโภคบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึงระบบทดลองนี้ และยังใช้ได้เฉพาะการซื้อสินค้าหรือบริการบางประเภท

โฆษกบริษัท Google เปิดเผยกับ Android Police ว่าฟังก์ชันการยืนยันตัวตนด้วยคำสั่งเสียง เพื่อซื้อสินค้า-บริการเริ่มทดลองแล้ว แต่เปิดให้ใช้ผ่านผลิตภัณฑ์ลำโพงอัจฉริยะ (Smart Speakers) และผลิตภัณฑ์กลุ่มหน้าจออัจฉริยะ (Smart Display) ของ Google เท่านั้น

รวมถึงจะซื้อได้เฉพาะสินค้าหรือบริการภายในแอปพลิเคชันที่ดาวน์โหลดผ่าน Google Play (in-app purchase) กับการสั่งอาหารจากร้านอาหารบางแห่ง และจำกัดเพดานมูลค่าการซื้อด้วยวิธียืนยันตัวตนรูปแบบนี้

อย่างไรก็ตาม ฟังก์ชันนี้ยังเป็นโครงการนำร่องจึงเปิดให้ใช้เฉพาะผู้บริโภคกลุ่มเล็ก โดยทั่วไปแล้วหากจะสั่งซื้อสินค้าผ่าน Google Assistant จะยังยืนยันตัวตนได้เพียง 2 ระบบคือลายนิ้วมือกับระบบจดจำใบหน้า

รวมถึงแพลตฟอร์มจะยังแจ้งเตือนก่อนใช้งานว่า “ผู้ที่มีเสียงเหมือนกับเจ้าของบัญชีหรือการอัดเสียงเจ้าของบัญชีมาใช้งาน อาจจะยืนยันการสั่งซื้อบนอุปกรณ์นี้ได้เช่นกัน”

หน้าจอแสดงฟังก์ชันซื้อสินค้าด้วยระบบคำสั่งเสียงของ Google Assistant (Photo: Android Police)

แม้ว่าจะดูเป็นระบบที่ไม่ปลอดภัยนักในขณะนี้ แต่ในทางทฤษฎีแล้ว การใช้ระบบยืนยันตัวตนด้วยเสียงมีศักยภาพที่จะเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดในการยืนยันตัวตนเมื่อเทียบกับการใช้ลายนิ้วมือหรือใบหน้า

หรือหากเทียบกับระบบ Alexa ในคู่แข่งลำโพงอัจฉริยะ Echo ที่มีระบบยืนยันด้วยคำสั่งเสียงแล้วแต่ต้องตั้ง PIN และเจ้าของต้องพูดเลข PIN เหล่านั้นเพื่อยืนยันอีกขั้น ทำให้การใช้งานค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้น ถ้าหาก Google Assistant สามารถทำให้การยืนยันด้วยเสียงมีความปลอดภัยในขั้นตอนเดียว น่าจะได้เปรียบเรื่องความสะดวกสบายมากขึ้น

สำหรับ Google Assistant นั้นเป็นระบบ “ผู้ช่วยอัจฉริยะ” เหมือนกับ Siri ใน iOS หรือ Alexa จาก Amazon เหมือนกับเป็นเลขานุการส่วนตัวที่เราสามารถคุยตอบโต้ สอบถาม และสั่งการต่างๆ ได้ โดยมีฟังก์ชันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการยืนยันตัวตนคือจัดการซื้อสินค้าและบริการให้ เช่น สั่งซื้อของใช้ในบ้านจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ สมัครสมาชิกบริการสตรีมมิ่งเพลงหรือภาพยนตร์ ซื้อไอเทมหรือคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ เป็นต้น

เดิมที Google ตั้งใจจะเปิดตัวฟังก์ชันยืนยันตัวตนด้วยเสียงที่งาน Google I/O 2020 เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เนื่องจากงานต้องยกเลิกไปด้วยเหตุการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้เปิดการทดลองโครงการอย่างเงียบๆ ทั้งนี้ Google ยังไม่มีข้อมูลออกมาว่าจะเปิดให้ใช้ระบบยืนยันตัวตนด้วยคำสั่งเสียงในวงกว้างมากขึ้นเมื่อไหร่

Source