เปิดเบื้องหลัง SCB ฉีกเเนวธนาคาร เปิดตัว Robinhood ลงศึกฟู้ดเดลิเวอรี่เเบบ “ไม่เก็บค่า GP”

เปิดเบื้องหลังการฉีกกรอบธุรกิจเเบงก์ของ SCB ข้ามฟากกระโจนลงสนาม “ฟู้ดเดลิเวอรี่” ทุ่ม 100 ล้านเปิดตัว “Robinhood” เเอปฯ สั่งอาหารน้องใหม่สัญชาติไทย ไม่หวั่นตลาดเเข่งดุมากช่วง COVID-19 เน้นเป็น CSR ไม่หวังกำไร ลดภาระผู้บริโภค เเก้ Pain Point ช่วยร้านค้าขายของไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

“ไอเดียนี้เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 ที่ผมต้องสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่มากินที่บ้าน แล้วเห็นว่าการสั่งอาหารออนไลน์ในเเต่ละวัน ทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตของคนไทยสูงขึ้นมาก ราคาเเพงขึ้น อีกทั้งร้านค้าที่กำลังเดือดร้อนอยู่เเล้วก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือค่า GP ถึง 30-35%…ผมจึงฉุกคิดขึ้นมาว่า เราเป็นธนาคารดิจิทัลที่มีทรัพยากรเพียงพอ มีฐานลูกค้า ไม่ต้องลงทุนพันล้านเหมือนสตาร์ทอัพเจ้าอื่น เราสามารถพัฒนาส่วนนี้เพื่อช่วยสังคมได้”

นี่คือจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของ Robinhood”เอปพลิเคชั่นสั่งอาหารน้องใหม่สัญชาติไทย จากอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

ประเด็นการถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม GP จากเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ในอัตราที่สูง เป็น Pain Point ที่ถูกถกเถียงในสังคมไทยอย่างมากในช่วงที่ธุรกิจนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น เมื่อร้านค้าต้องหันมาพึ่งพาการขายออนไลน์ ผู้ซื้อต้องสั่งอาหารออนไลน์เพราะออกจากบ้านลำบาก จากมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดที่ทำให้เกิด New Normal การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในหลายรูปแบบ

“เราไม่ได้คิดจะเเข่งกับใคร ไม่ได้อยากจะปั้นสตาร์ทอัพให้เป็นยูนิคอร์น เเละก็ไม่ตั้งเป้าว่าจะต้องทำยอดเท่าไหร่ด้วย เราอยากทำให้ Robinhood เป็นเเอปฯ ที่ช่วยให้ผู้ขายไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ผู้ซื้อได้อาหารที่ราคาไม่บวกเพิ่ม คนขับได้รายได้จากการขนส่ง ทุกอย่างจะไม่หักอะไรเลย”

ซีอีโอ SCB ยืนยันว่า Robinhood เป็นหนึ่งใน CSR ของบริษัทที่ “จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม GP ทั้งในช่วงนี้และต่อไป” เเละถ้าหากในอนาคตมีคนใช้จำนวนมาก แนวทางการหารายได้จะเป็นไปในทาง “เสนอสินเชื่อ” ให้ผู้ประกอบการมากกว่าที่จะหันมาหักค่า GP

สำหรับเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ภายใต้ชื่อ “Robinhood” จะดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ในอนาคตอาจจะแยกบริษัทออกไป โดยเริ่มต้นจะมีพนักงานดูเเลราว 40-50 คน (ไม่รวมคอลเซ็นเตอร์) ถือเป็นการลงทุนที่จริงจังเเละหวังผลระยะยาว

“ตอนเอาไปเสนอบอร์ดบริหาร ก็ได้รับการสนับสนุนให้ทำเลย อีกทั้งยังถามว่าขยายไปมากกว่าฟู้ดได้ไหม ทีมงานก็ทุ่มเทช่วยกันทั้งเเรงกายเเรงใจ อยากให้เป็นอีกทางเลือกของคนไทย ทีมงานก็มีถามนะว่าเราจะใช้ชื่ออื่นอีกไหม ผมก็ขอว่าให้ใช้ชื่อ Robinhood (โรบินฮู้ด) เถอะ”

โดยชื่อ Robinhood นี้ อาทิตย์ได้เเรงบันดาลใจมากจากสตาร์ทอัพฟินเทคในต่างประเทศที่มีชื่อว่า “Robinhood” เช่นกัน ซึ่งเป็นเเพลตฟอร์มที่กำลังดิสรัปต์ธุรกิจโบรกเกอร์ ด้วยการไม่เก็บค่าคอมมิชชันในการซื้อขายหุ้น

สอดคล้องกับเเนวคิดที่ได้นำมาใช้กับเเอปฯ สั่งอาหาร Robinhood ที่ชูจุดเด่นการไม่เก็บค่าธรรมเนียม GP จากร้านอาหาร สมัครเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ฟรี ร้านอาหารได้รับเงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมงนับตั้งแต่เกิดการทำธุรกรรม ไม่จำเป็นต้องใช้ SCB รวมถึงในอนาคตร้านอาหารขนาดเล็กก็จะมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและรวดเร็วด้วย

โดย SCB ใช้เวลาในการพัฒนา Robinhood ประมาณ 3 เดือน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งทางธนาคารได้จับมือพันธมิตรอย่าง Skootar ในการให้บริการส่งอาหาร และพร้อมจับมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ เพื่อให้บริการเพิ่มในอนาคต คาดว่าช่วงเปิดบริการจะมีร้านอาหารเข้าร่วมกว่า 20,000 แห่ง และภายในสิ้นปีนี้อาจจะเพิ่มเป็น 40,000–50,000 แห่ง โดยเน้นให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน จากนั้นจะขยับไปหัวเมืองใหญ่เเละขยายไปทั่วประเทศ

ส่วนจำนวนเป้าหมายผู้ใช้งาน Robinhood ตอนนี้ SCB ยังไม่มีการตั้งเป้าใดๆ เเต่จะเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีของลูกค้า โดยหวังว่าในช่วง 3 เดือนแรกน่าจะได้รับความนิยมอย่างแน่นอน

เกิดคำถามว่า ก่อนหน้านี้ SCB ได้ร่วมมือกับ GET ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่รายใหญ่ เป็นพันธมิตรด้าน Financial Business จะเป็นการเเย่งตลาดกับพาร์ตเนอร์หรือไม่นั้น ผู้บริหาร SCB ตอบว่ามีการพูดคุยกันเป็นที่เรียบร้อย โดยทางธนาคารไม่ได้จะทำธุรกิจเดลิเวอรี่เเข่งกับ GET แต่อย่างใด เพราะ GET ก็มีฐานลูกค้าที่เเข็งเเกร่ง มีประสบการณ์มากกว่า และในอนาคตก็สามารถร่วมมือกันได้

ด้านข้อสงสัยจากมุมมองของผู้บริโภคเกี่ยวกับ “ค่าจัดส่ง” ว่าจะคิดตามระยะทางเหมือนเจ้าอื่นหรือไม่ และถ้า Robinhood ซึ่งไม่มีนโยบายที่จะลงทุนทำ “โปรโมชั่น” จะทำให้อัตราค่าส่งเเพงกว่าฟู้ดเดลิเวอรี่รายอื่นหรือไม่นั้น

ซีอีโอ SCB ตอบว่า “ทีมงานเคยมีการดีเบตกันหนักมากในประเด็นค่าส่ง ซึ่งผู้บริโภคคนไทยมักดูที่ค่าส่งเป็นหลัก เเต่ผมเชื่อว่าเเม้เราจะไม่มีโปรโมชั่นมาอัดให้ถูกกว่าเจ้าอื่น เเต่ค่าอาหารเราคิดตามราคาจริง ไม่ได้ไปเพิ่มค่าอาหารเพื่อให้ได้ค่าส่งถูกตามโปรโมชั่นที่เห็นกันในปัจจุบัน ดังนั้น Robinhood ก็จะมีการคิดตามระยะทางเหมือนกับเเอปฯ อื่น ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเเละเทียบ “ราคารวม” ทั้งหมดก่อนกดสั่งได้

“เรายืนยันว่าแนวทางการให้บริการของ Robinhood จะเป็นไปในลักษณะการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและร้านอาหาร มากกว่าการแข่งขันกับผู้ให้บริการเจ้าอื่น การที่เราไม่ต้องทุ่มเงินทำโปรโมชั่น ก็ทำให้เราไม่ต้องไปเก็บค่า GP กับร้านค้า เป็นไปตามจุดประสงค์ว่าต้องการให้ประโยชน์คืนกับสังคม”

ต้องรอดูว่า Robinhood เเอปฯ สั่งอาหารน้องใหม่ จะได้รับเสียงตอบรับอย่างไร เเละพัฒนาต่อไปในทิศทางใด เพราะครั้งนี้ SCB ย้ำชัดว่าจริงจังเเละไม่ได้มาเล่นๆ