เจาะลึกทิศทาง E-commerce ปี 2020 ที่จากนี้จะกลายเป็นการ ‘งัดข้อ’ ของ Social Media และ E-marketplace

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ที่ยังไม่มีการ ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ช่องทาง E-commerce ถือเป็นช่องทางที่เติบโตเป็นอย่างมาก เพราะผู้บริโภค ไม่มีทางเลือก โดยคุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด หรือ Priceza ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงการเติบโตและความเป็นไปจากนี้ของ E-commerce พร้อมย้ำว่าแม้หมด COVID-19 แต่การขายของออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอดในยุคนี้

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด หรือ Priceza

สรุปภาพ E-commerce ปี 2019

ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในปี 2019 โดยสัดส่วนของมูลค่าอีคอมเมิร์ซเทียบกับมูลค่าค้าปลีก โดยจีนเป็นเบอร์ 1 มีสัดส่วน 25% ตามด้วยเกาหลีใต้ 22% อังกฤษ 22% สหรัฐฯ 11% และอินเดีย 3% เช่นเดียวกันกับประเทศไทยคิดเป็น 3% ของมูลค่าค้าปลีก หรือมีมูลค่าราว 183,300 ล้านบาท

ในปี 2019 นี้สัดส่วนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเฉพาะ B2C (Business-to-Consumer) และ C2C (Consumer-to-Consumer) พบว่าช่องทาง E-Marketplace (Lazada, Shopee) มีสัดส่วน 47% เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนเพียง 35% ส่วน Social Media (Facebook, Instagram, Line) มีสัดส่วนลดเหลือ 38% จากปีที่ผ่านมามีสัดส่วน 40% ส่วนช่องทางทางเว็บไซต์ Official ลดเหลือ 18% จากปีที่ผ่านมามีสัดส่วน 25% 

ทั้งนี้ ผู้นำตลาดของ E-Marketplace ในปี 2019 เป็น Shopee มีสัดส่วน 54% ส่วน Lazada มีสัดส่วน 46% ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดใน Social Media โดย Facebook มีสัดส่วน 42% ตามด้วย LINE 34% Instagram 19% และสุดท้าย Twitter 5%

E-commerce ปี 2020 คาดทะลุ 220,000 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2020 คาดว่าจะเติบโต 35% มีมูลค่า 220,000 ล้านบาท โดยใส่ปัจจัยอย่าง ‘COVID-19’ ไปในคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าสัดส่วนการขายของออนไลน์ใน 3 ส่วนหลักจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ แต่ที่สังเกตเห็นได้ชัดในช่วง COVID-19 นี้คือ ผู้ประกอบการที่ไม่เคยทำออนไลน์มาก่อนเข้ามาทำออนไลน์ โดยช่องทางแรกที่เข้ามาคือ ‘Social Media’ โดยเฉพาะการใช้ ‘Live Commerce’ ซึ่งคาดว่ามีการเติบโตหลายเท่าตัว ดังนั้นมีโอกาสที่สัดส่วน Social Commerce จะเติบโตมากขึ้น

ทั้งนี้ หากจัดอันดับสินค้าขายดีในช่วงก่อนเกิด COVID-19 (ม.ค.-ก.พ.) เทียบกับช่วงเกิด COVID-19 (มี.ค.-เม.ย.) พบว่า สินค้าสุขภาพและความงามเติบโตขึ้น 34% สินค้าอุปโภคบริโภค 34% หนังสือ 27% เครื่องใช้ไฟฟ้า 22% คอมพิวเตอร์ 4% เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน 2% ขณะที่สินค้าที่มีการซื้อขายลดลงได้แก่ สมาร์ทโฟนลดลง -27% อุปกรณ์กีฬา Outdoor -28% เสื้อผ้าและแฟชั่น -41% สุดท้ายที่ลดลงมากที่สุดคือ รถยนต์และยานพาหนะ -44%

Social Media งัดข้อ E-marketplace

จะเห็นว่า E-marketplace ในปัจจุบันไม่ใช่แค่ช่องทางซื้อขาย แต่ตอนนี้พยายามปรับตัวเป็น Social Media โดยจะเห็นว่าเริ่มมีฟีเจอร์คล้าย ๆ กับ Social มากขึ้น เช่น ฟีเจอร์แชท, ฟีเจอร์ไลฟ์ ดังนั้นในปี 2019 สัดส่วนการซื้อขายของ E-marketplace จึงเติบโตมากขึ้น ขณะที่ล่าสุด Facebook ได้เปิดตัว ‘Facebook Shops’ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วน LINE เองก็มี LINE MyShop ดังนั้นเชื่อว่าจากนี้จะเป็นการงัดข้อกันระหว่าง Social Media และ E-marketplace

ขณะที่ การช่องทางการเปิดเว็บไซต์ของตัวเองกำลังโดนกลืนไปเรื่อย ๆ เนื่องจากต้องลงทุนสูงและมีความเข้าใจสูงกว่าช่องทางอื่น ๆ เพราะต้องทำการตลาดออนไลน์เอง ดังนั้นผู้เล่นหน้าใหม่ไม่ไปลงทุน เพราะปิดใน E-marketplace และ Social ได้ง่ายกว่า แต่ก็มีคู่แข่งมากเช่นกัน ขณะที่ข้อดีของเว็บไซต์ของตัวเอง คือ สามารถควบคุมทุกอย่างเองได้

“ตอนนี้ผู้เล่นทุกรายพยายามดึงผู้ใช้จบการขายได้ในแพลตฟอร์มของตัวเอง อย่างคุยใน Facebook แต่ไปจบการขายที่ LINE แพลตฟอร์ม Facebook ก็ไม่ชอบใจ LINE เองก็คิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นมันเป็นเกมของแพลตฟอร์ม ต่างฝ่ายต่างอยากให้คนใช้เวลาบนแพลตฟอร์มตัวเองที่สุด”

ออฟไลน์ยังเป็น ‘วิถีชีวิต’ แต่ห้ามละเลย ‘ออนไลน์’

อย่างไรก็ตาม คนไทยยังคงซื้อของออฟไลน์ เพราะห้างสรรพสินค้ายังเป็น ‘วิถีชีวิต’ ของคนไทย แม้ว่าจะไปไม่ใช่เพื่อซื้อของ ดังนั้น COVID-19 อาจทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโตถึง 35% แต่ยังเชื่อว่าช่องทางออฟไลน์ยังคงเป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคคุ้นชิน ดังนั้น COVID-19 คงไม่ได้ทำให้ช่องทางอีคอมเมิร์ซมีสัดส่วน 30% ในค้าปลีก ปีนี้อย่างมากอาจจะมีสัดส่วน 4-5% และพฤติกรรมที่จะเห็นมากขึ้นแน่นอนคือ การซื้อของแบบ Omni-Channel หรือเลือกของออฟไลน์เทียบราคาออนไลน์

“สุดท้าย ออนไลน์เป็นช่องทางที่มีต้นทุนน้อยกว่า และมีการเติบโตสูงกว่าออฟไลน์ ดังนั้นไม่อยากให้ผู้ประกอบการออฟไลน์ละเลยการขายของบนออนไลน์ ตอนนี้ E-commerce ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอดในยุคนี้”