“ลลิล” ยังระวังตัวหลัง COVID-19 มองสถานการณ์ EEC หนักหน่วง เลื่อนเปิดใหม่ 3-6 เดือน

“ลลิล” สรุปยอดขาย 5 เดือนแรกทำได้ 3,000 ล้านบาท คิดเป็น 48% ของเป้าหมายปี 2563 แม้ตัวเลขดีแต่ยังระวังตัวสูง ขอรอดูสถานการณ์ถึงสิ้นไตรมาส 2 ก่อนกลับมาบุกตลาดเต็มตัว ส่วนการเปิดโครงการในเขต EEC เลื่อนยาว 3-6 เดือน ประเมินแล้วฟื้นยากกว่ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล

ชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์บริษัทช่วงหลังการระบาดของโรค COVID-19 ว่ากลับมาฟื้นตัวแล้วในเดือนพฤษภาคม โดยเริ่มเห็นยอดขายกลับมาเมื่อรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ ทำให้ผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น เข้ามาเยี่ยมชมโครงการและเลือกซื้อบ้าน

โดยปี 2563 ลลิลมีการเปิดตัวโครงการไปแล้ว 5 โครงการ มูลค่ารวม 3,600 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะเปิดใหม่ 9-11 โครงการ มูลค่ารวม 5,000-5,500 ล้านบาท และสร้างยอดขาย 5 เดือนแรกที่ 3,000 ล้านบาท คิดเป็น 48% ของเป้าหมายยอดขาย 6,200 ล้านบาทในปีนี้ (อ่านแผนธุรกิจปี 2563 ของลลิลได้ที่นี่)

ชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้

แม้ว่าผลการดำเนินงานจะออกมาดี แต่ชูรัชฏ์ชี้ว่า สถานการณ์ COVID-19 ทำให้ลูกค้าลดลงมากเป็นเวลา 1 เดือน แล้วกลับมาพุ่งขึ้นในเดือนพฤษภาคมแทน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะดีมานด์สะสมในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ก็ได้ ดังนั้น จะขอรอดูสถานการณ์ต่ออีก 1 เดือนว่าเป็นอย่างไร ก่อนจะเปิดโครงการใหม่ต่อไป

สถานการณ์ธุรกิจของลลิลคล้ายคลึงกับอีกหลายบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทย ต่างพบว่ายอดขายดีขึ้นมากในช่วงเดือนพฤษภาคม ทำให้มีความหวังว่าธุรกิจปีนี้อาจไม่แย่อย่างที่คาด

 

EEC ยังน่าห่วง เลื่อนเปิดใหม่ 3-6 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในแผนงานของปีนี้ ลลิลมีโครงการ 1-2 แห่งที่จะเปิดตัวในต่างจังหวัดแถบพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แต่เมื่อเกิดโรคระบาด ทำให้เขต EEC เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากเป็นเขตที่พึ่งพิงอุตสาหกรรมส่งออกและการท่องเที่ยว ดังนั้น บริษัทจะติดตามสถานการณ์อย่างน้อย 3-6 เดือนข้างหน้าก่อนตัดสินใจเปิดโครงการใหม่

Lio Bliss ชลบุรี – อมตะนคร หนึ่งใน 15 โครงการระหว่างขายของลลิลในเขตพื้นที่ EEC

“ผมคิดว่าโซน EEC หนักกว่ากรุงเทพฯ เพราะเป็นโซนที่หวังพึ่งอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาเราจะเห็นการย้ายฐานการผลิต หรือหลายๆ บริษัทมีการหยุดผลิต อีกส่วนหนึ่งคือธุรกิจบริการ เพราะภาคตะวันออกโดยเฉพาะเมืองพัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ 5 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 6 ล้านคนเท่านั้น สนามบินก็ยังไม่เปิดทำการ ทำให้กำลังซื้อโซนนี้อ่อนแอลง” ชูรัชฏ์กล่าว

“ช่วง 3-6 เดือนนี้เราจะมอนิเตอร์กันไปก่อนว่าเศรษฐกิจพื้นที่ EEC ดีขึ้นหรือยัง รายังไม่ทิ้งทำเลนี้ แต่คงไม่บุกลุยเหมือน 2-3 ปีที่แล้ว”

เขาประเมินด้วยว่าการฟื้นตัวอาจจะค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างธุรกิจท่องเที่ยวที่แม้ว่ากระแสไทยเที่ยวไทยจะเริ่มกลับมา แต่คงยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นธุรกิจให้ดีดังเดิม และกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักคือชาวจีน มีแนวโน้มว่าจะเที่ยวในประเทศจีนก่อน ตามแนวทางที่รัฐบาลจีนวางไว้

สรุปภาพรวมอีก 7 เดือนของลลิลหลัง COVID-19 ยังคงเดินด้วยความระมัดระวัง เน้นทำการตลาดแบบเจาะกลุ่มและระบบลูกค้าบอกต่อ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในงบประมาณที่ใช้ รวมถึงหวังว่าเมืองไทยจะไม่เกิดการระบาดซ้ำ เพื่อให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตคนกลับมาเป็นปกติให้ต่อเนื่องมากที่สุด