ส่อง 5 แคมเปญ “แบรนด์” สินค้าในประเทศไทยฉลอง “Pride Month” ประจำปี 2020

เดือนมิถุนายนเดือนแห่ง “Pride Month” เวียนมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยความสำคัญของเดือนนี้คือการกาปฏิทินร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ หลายแบรนด์ที่จำหน่ายสินค้า-บริการในประเทศไทยมีการออกแคมเปญร่วมสนับสนุน LGBTQ ในเดือนแห่งความภาคภูมิใจนี้ด้วย Positioning จึงขอยกตัวอย่างแคมเปญดีๆ ที่เราเห็นถึงความตั้งใจขับเคลื่อนสังคมให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ปีนี้เป็นปีที่ 51 นับจากการประท้วง Stonewall Riots ในสหรัฐอเมริกา และเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์เรียกร้องสิทธิชาวเกย์ และขยายครอบคลุมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งหมดในเวลาต่อมา โดยเลือกเอาเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์เป็นเดือนแห่ง “Pride Month” ร่วมรณรงค์กันตลอดเดือน

ประวัติของ Stonewall Riots มาจากตำรวจบุกตรวจค้นผับ Stonewall Inns ซึ่งเป็นแหล่งรวมชาวเกย์และเลสเบี้ยนในนิวยอร์กในปี 1969 การบุกตรวจค้นมีการแยกเอาชายที่แต่งกายเป็นหญิงและหญิงที่แต่งกายเป็นชายไว้ต่างหาก เนื่องจากในยุคนั้นวิถี LGBTQ และการแต่งกายข้ามเพศถือว่าผิดกฎหมาย รวมถึงถูกตราหน้าว่ามีความผิดปกติทางจิต การบุกค้นครั้งนี้นำไปสู่ความรุนแรงทั้งจากผู้ถูกจับกุมต่อตำรวจ และจากตำรวจต่อชาวเกย์ จนเกิดการจลาจลประท้วงบนถนนต่อเนื่อง 6 วัน

ขบวนพาเหรด Pride Month ในเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เดือนมิถุนายน 2019 (Photo: Shutterstock)

แม้การเรียกร้องสิทธิ LGBTQ จะส่งผลให้มุมมองของสังคมต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศดีขึ้นเป็นลำดับ แต่การเลือกปฏิบัติยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง ทำให้ “Pride Month” ยังมีต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2019 มีผู้ร่วมงานเดินขบวนเทศกาลนี้ในนิวยอร์กถึง 5 ล้านคน และมีการจัดเทศกาลในทำนองเดียวกันทั่วโลก

ปี 2020 อาจจะเป็นปีที่การรณรงค์ “Pride Month” เงียบเหงาไปสักหน่อยเนื่องจากโรคระบาด COVID-19 ทำให้ไม่สามารถจัดการเดินขบวนรณรงค์ได้ แต่เหล่าแบรนด์สินค้าและบริการที่มีจุดยืนสนับสนุนความหลากหลายทางเพศเหล่านี้ ยังคงจัดแคมเปญหรือแนวนโยบายเพื่อแสดงจุดยืนของตนเอง ที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนโลโก้หรือออกสินค้าสีรุ้งเท่านั้น!

 

1.”แสนสิริ” – ลงนามกับ UN ผลักดันสิทธิ LGBTI

ปีนี้ “แสนสิริ” แบรนด์อสังหาริมทรัพย์ไทย ยกระดับการสนับสนุน LGBTI (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล บุคคลข้ามเพศ และบุคคลเพศกำกวม) ด้วยการลงนามในข้อตกลง UN Standards of Conduct for Business ซึ่งเป็นข้อตกลงเพื่อให้คำมั่นว่าบริษัทจะปฏิบัติตามหลักการทางธุรกิจ 5 ข้อเหล่านี้

  • เคารพสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBTI ในทุกการดำเนินการทางธุรกิจ
  • ขจัดการเลือกปฏิบัติกับกลุ่ม LGBTI ในสถานที่ทำงาน
  • ให้การสนับสนุนเชิงรุกแก่พนักงาน LGBTI สร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวก ให้ความเชื่อมั่น ทำให้พนักงานทำงานร่วมกันได้อย่างมีเกียรติ
  • ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่อาจเกิดจากการกีดกันโดยคู่ค้า คู่สัญญา ลูกค้า หรือบุคคลอื่นๆ
  • ผลักดันประเด็นความเท่าเทียมอย่างเป็นสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยในสังคม สนับสนุนทางการเงิน หรือปัจจัยอื่นๆ

โดยแสนสิริมีข้อปฏิบัติในองค์กรที่แสดงออกตามหลักการเหล่านี้แล้ว เช่น การจัดห้องน้ำแบบไม่ระบุเพศที่ชั้น 1 ของทุกตึกในสำนักงานใหญ่ หรือการเป็นพันธมิตรธนาคาร 4 แห่ง คือ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย ออมสิน และ ยูโอบี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครอบครัว LGBTI กู้ซื้อบ้านร่วมกันได้ง่ายขึ้น

ประเด็นการช่วยผลักดันให้ LGBTI กู้ซื้อบ้านร่วมกันเพื่อสร้างชีวิตคู่เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปกติแล้วธนาคารมักจะไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสหรือเป็นเครือญาติกู้สินเชื่อบ้านร่วมกัน เมื่อประเทศไทยยังไม่มีการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกัน ทำให้การกู้ซื้อบ้านของคู่รัก LGBTI ยุ่งยากขึ้น แต่ก็มีหลายธนาคารดังกล่าวข้างต้นที่มีเกณฑ์การตรวจสอบและอนุมัติให้แล้วในปัจจุบัน

 

2.โรงหนัง House Samyan – จัดพื้นที่ฉายให้หนัง LGBTQ

ไม่เพียงแต่เปลี่ยนโลโก้มีแถบธงสีรุ้งด้านล่าง เดือนนี้โรงหนัง House Samyan ยังมีโปรแกรมฉายภาพยนตร์เก่า 3 เรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตและความรักของ LGBTQ อย่าง Beautiful Thing (1996), Tangerine (2019) และ Portrait of a Lady on Fire (2019)

เดือนมิถุนายนปีนี้เป็นช่วงที่วิกฤตโรคระบาด COVID-19 เพิ่งคลี่คลาย และโรงภาพยนตร์เพิ่งได้รับอนุญาตให้กลับมาฉายได้ตามปกติ ทำให้ภาพยนตร์เด่นๆ หลายเรื่องเลือกจะเลื่อนเปิดฉายออกไปก่อน จนโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ต้องดีลหนังเก่าที่ผู้ชมน่าจะสนใจดูซ้ำกลับมาฉายใหม่

สำหรับโรงหนัง House ก็เช่นกัน ภาพยนตร์หลายเรื่องในตารางเป็นการฉายซ้ำหนังเก่า โดยเลือกที่จะสนับสนุน “Pride Month” ด้วยการอุทิศพื้นที่ฉายราว 1 ใน 3 ให้กับหนัง LGBTQ ซึ่งมีส่วนช่วยเปิดพื้นที่ให้คอนเทนต์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศไปสู่สังคมได้มากขึ้น

 

3.Guss Damn Good – เวิร์กช็อปค้นหารสไอศกรีม

ไอศกรีมรส Equality จาก Guss Damn Good ที่ได้จากการเวิร์กช็อปร่วมกับลูกค้าเมื่อปี 2019

มาถึงแบรนด์ของกินกันบ้าง แบรนด์ไอศกรีม Guss Damn Good ที่มี 9 สาขาหน้าร้านและจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเป็นแบรนด์ไอศกรีมคนไทยที่ก่อตั้งเมื่อปี 2014

ปีนี้น่าเสียดายที่วิกฤต COVID-19 ทำให้ Guss Damn Good ไม่สามารถจัดเวิร์กช็อปค้นหารสชาติไอศกรีมเพื่อเฉลิมฉลอง “Pride Month” ได้ แต่ได้นำรสชาติไอศกรีม Equality ที่ได้จากการเวิร์กช็อปปีที่แล้วกลับมาจำหน่ายใหม่ พร้อมกับการตกแต่งร้านด้วยธงสีรุ้งทั่วทั้งร้าน และเปลี่ยนสติกเกอร์ปิดกล่องจัดส่งพัสดุไอศกรีมเป็นสีรุ้ง

ย้อนไปปี 2019 แบรนด์ Guss Damn Good จัดเวิร์กช็อป We support LGBTQ+ เนื่องจาก “นที จรัสสุริยงค์” ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ เล็งเห็นถึงความไม่เท่าเทียมต่อ LGBTQ ในสังคมไทย เพราะพนักงานเพศหลากหลายของร้านคนหนึ่งถูกเลือกปฏิบัติจากลูกค้า

หน้าร้าน Guss Damn Good ประดับธงสีรุ้ง (Photo by Guss Damn Good)

ตัวแบรนด์ที่มีจุดยืนเป็นไอศกรีมที่ถ่ายทอดรสชาติความทรงจำ ต้องการให้ทานไอศกรีมแล้วนึกถึงบางสิ่งบางอย่างอยู่แล้ว จึงนำจุดยืนของแบรนด์มาช่วยสนับสนุน สร้างสรรค์เวิร์กช็อปกับลูกค้า จนออกมาเป็นไอศกรีมรส Equality (ความเท่าเทียม) และ Love is Love (รักก็คือรัก)

การจัดเวิร์กช็อปให้ลูกค้าเข้าร่วมคิดค้นรสชาติ ทำให้มีคนจำนวนมากขึ้นที่ได้ engagement กับการคิดคำนึงถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อถึงหรือเรียกร้องให้กับ LGBTQ ไม่ใช่แค่การหากิมมิกเพื่อขายสินค้าเท่านั้น

 

4.”เจนเนอราลี่” – ปลดล็อก “คู่ชีวิต” เป็นผู้รับประโยชน์กรมธรรม์

อีกแคมเปญที่มีผลต่อการใช้ชีวิตคู่ของคู่รักเพศเดียวกัน คือเรื่องของกรมธรรม์ประกันชีวิต ปีนี้ “เจนเนอราลี่” ออกแคมเปญ “Gen LOVE Wins เพราะความรักชนะทุกสิ่ง” โดยเปิดกว้างให้คู่ชีวิต LGBTQ สามารถระบุชื่อผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นคู่ชีวิตของตนเองได้ เพียงแสดงหลักฐานการใช้ชีวิตร่วมกัน เช่น ภาพถ่ายบนโซเชียลมีเดีย ภาพถ่ายการสมรส หลักฐานการซื้อหรืออยู่บ้านเดียวกัน หลักฐานการทำธุรกิจร่วมกัน ทะเบียนสมรส (กรณีจดทะเบียนในต่างประเทศ)

ประเด็นนี้มีความสำคัญเพราะปกติแล้วการลงชื่อผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิต มักจะต้องระบุความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือทางกฎหมาย ขณะที่คู่รักเพศเดียวกันในไทยยังไม่ได้รับการรับรองให้จดทะเบียนสมรสได้ ทำให้บริษัทประกันแต่ละแห่งจะต้องมีนโยบายของบริษัทเองเพื่อรองรับ

นอกจากเจนเนอราลี่แล้ว ยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่เปิดกว้างในประเด็นนี้เช่นกัน เช่น กรุงไทยแอ็กซ่า เมืองไทยประกันชีวิต เอฟดับบลิวดี ช่วยสนับสนุนให้ LGBTQ ดำเนินชีวิตได้อย่างเท่าเทียม

 

5.”Beautrium และ Levi’s” – สินค้าสีรุ้งส่งรายได้บริจาคให้ LGBTQ

(ซ้าย) แคมเปญจำหน่ายหน้ากากผ้าจาก Beautrium (ขวา) สินค้าคอลเลกชัน Levi’s Pride 2020 : Use Your Voice

วิธีสนับสนุน LGBTQ ที่ทำได้ไม่ยาก คือการสนับสนุนทางการเงิน โดยบางแบรนด์อาจจะจัดทำสินค้าการกุศลเพื่อระดมทุนไปบริจาคให้กับองค์กรที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

เช่นปีนี้ Beautrium แบรนด์ร้านขายเครื่องสำอางแบบมัลติแบรนด์สัญชาติไทย เลือกผนวกการฉลอง “Pride Month” เข้ากับยุค COVID-19 ผลิตหน้ากากผ้าสายสีรุ้งในราคา 99 บาท รวมถึงลดราคาสินค้ากลางปีวันที่ 15-30 มิถุนายน 2563 รายได้จากการจำหน่ายหน้ากากและสินค้าลดราคาช่วงนี้ จะนำไปบริจาคให้กับองค์กรที่สนับสนุนกลุ่ม LGBT เช่น สื่อออนไลน์ Spectrum ที่มุ่งเน้นเสนอคอนเทนต์เรื่องเพศและสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

หรือแบรนด์ Levi’s ที่ผลิตสินค้าคอลเลกชัน Levi’s Pride 2020 : Use Your Voice มีทั้งหมวก เสื้อยืด แจ็กเก็ตยีนส์ กระเป๋า โดยรายได้จะนำไปบริจาคให้กับ OutRight Action International องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ยุติความรุนแรงต่อ LGBTI ในระดับสากล

แบรนด์และแคมเปญเหล่านี้คือตัวอย่างของการสนับสนุน “Pride Month” ที่มากไปกว่าการกล่าวถึง เปลี่ยนโลโก้ หรือผลิตสินค้าสีรุ้งมาจำหน่าย แต่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ LGBTQ ใช้ชีวิตได้อย่างภาคภูมิใจและเท่าเทียมกับบุคคลรักต่างเพศมากขึ้น