พลิกสูตร “สหพัฒน์” จัดงานเเฟร์ออนไลน์ ครั้งเเรกรอบ 24 ปี “เอาเงินค่าเช่าที่ มาอัดโปรโมชั่น”

ก่อนจะเกิดการเเพร่ระบาดของ COVID-19 เชื่อว่าหลายคนตั้งตารอจะไปเดินงานเเฟร์เพื่อเลือกซื้อสินค้าลดราคาและหาดีลพิเศษมากมาย โดยเฉพาะงานใหญ่ประจำปีอย่างสหกรุ๊ปแฟร์ซึ่งจัดขึ้นมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษเเล้ว

แต่ในปีนี้เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น การจัดงานที่มีผู้คนนับหมื่นไปรวมตัวกัน เป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยง เเบรนด์ต่างๆ เเละฝ่ายผู้จัดต้องสรรหาหนทางใหม่ เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เมื่อการซื้อของออนไลน์ได้กลายเป็น New Normal แห่งวงการค้าปลีก

COVID-19 จึงเป็นเหมือนตัวเร่งให้เครือสหพัฒน์ต้องปรับตัวมาจัดสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์ครั้งแรกในปีที่ 24 ด้วยเเคมเปญ #ช้อปหยุดโลก

ด้วยจุดเด่นของงานแฟร์ คือการได้ลองของจริง มีให้เลือกหลากหลายและราคาถูก รวมถึงเป็นเเหล่งการเกิดดีลธุรกิจต่างๆ การจัดสหกรุ๊ปแฟร์แบบออนไลน์ครั้งนี้ จึงไม่ง่ายนักและมีความท้าทายอยู่มาก แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

สหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์ครั้งนี้ จะเป็นโมเดลการทดลองขายสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านทางออนไลน์ของเรา

ธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์กล่าว

เอาเงินค่าเช่าที่…มาอัดโปรโมชั่น

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำห้เครือสหพัฒน์ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานในปีนี้มาเป็นสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 กรกฎาคม 2563 จับมือกับ 3 แพลตฟอร์ม

E-Marketplace รายใหญ่อย่าง Lazada , Shopee เเละ JD Central นำสินค้ากว่า 100 แบรนด์ รวม 2 หมื่นรายการ พร้อมมีเว็บไซต์ sahagroupfair.com เป็นเว็บที่รวบรวมโปรโมชั่น ถ่ายทอดสดกิจกรรมต่างๆ และเชื่อมไปยังแพลตฟอร์มนั้นๆ

การจัดงานเเฟร์ปกติกับการจัดทางออนไลน์ สเกลมันไม่เท่ากันอยู่เเล้ว เราต้องยอมรับสถานการณ์ โดยปีนี้วางเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 100 ล้านบาท ถือว่าลดลง 50% เมื่อเทียบกับการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์เเบบปกติในปีท่ี่ผ่านมา ที่สร้างรายได้สะพัดราว 200 ล้านบาท

ธรรมรัตน์ ไม่ได้เปิดเผยถึงงบประมาณในการจัดงานครั้งนี้ แต่ระบุว่า การจัดงานในรูปออนไลน์ไม่ต้องเสียค่าเช่าที่” และทางสหพัฒน์ก็มีการพัฒนาด้านออนไลน์ตลอด ดังนั้นต้นทุนจึงน้อยกว่าการจัดงานเเฟร์ปกติ อีกทั้งยังมีการขายเเบบ 24 ชั่วโมงซึ่งน่าจะเป็นการเพิ่มยอดขายได้

โดยจะมีการนำเงินส่วนที่เหลือมาใช้ในการอัดโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้สั่งของออนไลน์มากขึ้น รวมถึงให้เปอร์เซ็นต์ส่วนเเบ่งกับแพลตฟอร์ม E-Marketplace ที่เข้าร่วมทั้ง 3 เจ้าให้มีการเสนอดีลพิเศษต่างๆ ให้กับลูกค้าด้วย อย่างการส่งฟรี ให้คูปองส่วนลด มี Flash Sale เป็นต้น

ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ของเครือสหพัฒน์ มีอัตราการเติบโตถึง 300% แต่เมื่อเทียบกับยอดขายทางออฟไลน์แล้ว ก็ยังคงมีสัดส่วนน้อย โดยปัจจุบันการขายออนไลน์มีสัดส่วนในยอดขายทั้งหมดที่ 20% อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ตั้งเป้าการเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัวในอนาคต  ดังนั้นสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์จึงเป็นก้าวเเรกที่สำคัญในการต่อยอดเเละปรับตัวครั้งนี้

ภาพบรรยากาศงานสหกรุ๊ป เเฟร์ ครั้งที่ 23 ในปี 2019 ก่อนที่ปีนี้จะมีการปรับมาจัดทางออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19

ให้ส่วนลดเเลกกับการรอคอย

คอนเซ็ปต์หลักๆ ของสหกรุ๊ปแฟร์ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่ผู้คนเปลี่ยนจากการเดินดูซื้อของ ไปเป็นการใช้นิ้วคลิกเลือกซื้อแล้วรอรับที่บ้าน

ด้วยเหตุนี้ ไฮไลต์สำคัญจึงเป็นการให้ส่วนลดที่มากกว่าปกติ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มกับการรอคอยเเละคุ้มกับค่าจัดส่ง 

สำหรับสินค้าในสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์ จะเเบ่งออกเป็น 7 หมวด ได้เเก่ Fashion, Lingerie, Health & Beauty, Baby & Toddler, Household, Grocery และ Services & Education โดยมีสินค้ามาจำหน่ายกว่า 100 แบรนด์ กว่า 20,000 SKU อย่าง วาโก้ บีเอสซี แอร์โรว์ ลาคอสท์ แอล (ELLE) เอราวอน กี ลาโรช อองฟองต์ แอ็บซอร์บา ฟาร์มเฮ้าส์ มาม่า มองต์เฟลอ ริชเชส ซื่อสัตย์ เอสเซ้นต์ เปา ซิสเท็มมา คิเรอิคิเรอิ โชกุบุสซึ วาเซดะบุนกะ ซึ่งสินค้า 7 หมวดนี้ จะมีทั้งสินค้านวัตกรรม สินค้าใหม่ สินค้าขายดี และสินค้า Clearance ที่นำมาลดพิเศษสูงสุดถึง 80% ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากการจำหน่ายสินค้าแบบ B2C ให้กับผู้สนใจทั่วไปแล้ว จะมีการจำหน่ายแบบ B2B ให้กับร้านค้าทั่วไป ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และผู้ที่ซื้อสินค้าไปจำหน่ายต่อในราคาพิเศษ 

ในเว็บจะมีการไลฟ์สดช่วง Flash Sale และการแจกคูปองส่วนลดเพื่อนำไปลดเพิ่มใน LAZADA SHOPEE และ JD CENTRAL ซึ่งทุกบิลที่ซื้อสามารถนำมากรอกข้อมูลชิงรางวัลในเว็บ กว่า 3,000 รางวัล รวมกว่า 9 แสนบาท สำหรับผู้ที่ต้องการสั่งซื้อล่วงหน้าจะเปิดให้มีพรีออเดอร์ (PRE SALES) สินค้าใหม่ในวันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2020 เฉพาะที่ LAZADA พร้อมทั้งจะมีการรับสมัครสมาชิกและสะสมคะแนน His & Her ด้วย 

“ในทุกปีๆ สิ่งที่ลูกค้าคาดหวังจะมาดูในสหกรุ๊ปแฟร์ คือกิจกรรมเเละนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งในเว็บจะยังคงมีกิจกรรมที่สร้างสีสัน เเต่เราจะทำให้พิเศษกว่าเดิม เพราะเป็นการเเสดงทางออนไลน์ โดยจะมีการจัดแฟชั่นโชว์ เวิร์กช็อปเเต่งหน้า กิจกรรมจากดาราและเซเลบริตี้ รวมไปถึงการรับสมัครงาน” 

ส่วนสินค้าไฮไลต์ที่จะมาเปิดตัวในปีนี้ จะเน้นไปด้าน Wealthness การดูเเลสุขภาพและนวัตกรรมใหม่ อย่าง นวัตกรรมผ้ายับยั้งเชื้อไวรัส ที่ได้ทำการทดสอบกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 ซึ่งสามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมไปถึงกางเกงในอนามัยรุ่นใหม่จากวาโก้ หน้ากากจากแอร์โรว์

ด้านเครื่องสำอางจะมีการเปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ arty professional x snoopy ส่วนโรงเรียนสอนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ จะมีการจัดคอร์สสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ ขณะที่เเบรนด์ “มาม่า” จะมีการเปิดตัวข้าวต้มคัพ รสปลาทรงเครื่อง และเเบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์จะมีโปรโมชั่นพิเศษเเละการจัดส่งให้ถึงบ้าน

อีกหนึ่งจุดเด่นของ “สหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์” คือการ “Cash Back เเละสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ” จากสถาบันการเงินและกองทุน 11 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อให้ส่วนลดเงินสดและเครดิตเงินคืนสำหรับการซื้อแบบ B2C และให้สินเชื่อพิเศษสำหรับการซื้อแบบ B2B ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

โดยมีดีลที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น เสนอวงเงินกู้ตั้งเเต่ 2 เเสน- 20 ล้านบาทเพื่อซื้อของในงานด้วยดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนาน 7-10 ปี การใช้บัตรเครดิตเพื่อรับ Cash Back สูงสุด 30% หรือการสะสมเเต้ม ใช้คะเเนนทำยอดซื้อ เเละรับ E-coupon เป็นต้น (โดยรายละเอียดจะเเตกต่างไปตามเงื่อนไขของธนาคารที่เข้าร่วม)

โจทย์ยากของ “สหพัฒน์” 

ธุรกิจยามนี้ ทุกเเบรนด์ต่างหันมาขายออนไลน์กันอย่างเต็มที่ ปรับรับ New Normal ของผู้บริโภค แต่ความท้าทายของแบรนด์ในเครือสหพัฒน์ คือ ยังมีสินค้าจำนวนมากที่ยังไม่เหมาะกับขายผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างพวกสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีขนาดใหญ่ ค่าขนส่งเเพง หรือสินค้าประเภทที่ซื้อเเล้วต้องใช้ทันที สินค้าที่ลูกค้าอยากไปเดินช้อปปิ้งเเล้วได้กลับบ้านเลย

“มันเป็นโจทย์ยากในการปรับตัวมาขายออนไลน์ของเรา แต่สหพัฒน์ก็พยายามทำให้ดีขึ้น อย่างเรื่องการจัดส่งเราจะพยายามพัฒนาไปสู่การส่งเเบบวันเดียวถึง เสื้อผ้าก็ต้องทำให้มีไซส์มาตรฐาน มั่นใจว่ากดสั่งได้แม้ไม่ได้ลอง”

ขณะที่สิ่งที่ยังน่ากังวลคือ “กำลังซื้อ” ที่เพิ่งจะฟิ้นตัวอย่างช้าๆ เเม้จะมียอดขายทางออนไลน์จะมาช่วยบ้างเเต่ยังมีสัดส่วนน้อย โดยหลังจากปลดล็อกเเล้วกำลังซื้อก็เริ่มดีขึ้น โดยคาดว่าจะกลับมาได้เท่าช่วงก่อน COVID-19 ได้ภายในปีนี้

“ผมมองว่าคนไทยยังระมัดระวังในการจับจ่ายอยู่ และสิ่งที่น่าห่วงคือต้องรอดูภาวะการว่างงานหลังจากนี้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อ และจะฉุดให้ภาวะเศรษฐกิจหดตัวลากยาวต่อไปอีก” ธรรมรัตน์กล่าว

โดยคาดว่ายอดขายในส่วนของ ไอ.ซี.ซี.ฯ ปีนี้น่าจะติดลบ 10% จากเดิมตั้งเป้าหมายที่จะเติบโต 5% เนื่องจากในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์กำลังซื้อลดลงไปถึง 90% ซ้ำเติมจากก่อนล็อกดาวน์ที่ลดลงไป 10% แล้ว แม้ในช่วงคลายล็อกกำลังซื้อจะกลับมา 90% แล้วก็ตาม

ด้านการลงทุนกับพาร์ตเนอร์ต่างชาตินั้น ตามที่เคยมีการจับมือกับค้าปลีกญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง “ดอง กิโฮเต้” (Don Quijote) และร้านขายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง “Komehyo” ในช่วงที่ผ่านมา ปีนี้จะมีโอกาสจับมือกับพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ หรือไม่นั้น

พิภพ โชควัฒนา กรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ตอบว่า แบรนด์ในเครือยังมีการพิจารณาการลงทุนอยู่ แต่ด้วยความสะไม่ดวกในการประสานงานช่วงนี้ ทำให้การเซ็นสัญญาใหม่อาจจะน้อยลง เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมองว่าหากสถานการณ์คลี่คลาย ปีหน้าก็เป็นโอกาสอันดี

“เศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ กลุ่มเสื้อผ้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตในประจำวันยังขายได้ เเต่กลุ่มเสื้อผ้าเเฟชั่นน้อยลง จึงต้องทำธุรกิจเเบบตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ในช่วงนี้ธุรกิจด้านอาหารก็น่าสนใจ ซึ่งเราก็กำลังดูๆ ไว้อยู่”

เเบรนด์วาโก้ หันมาผลิตหน้ากากาอนามัย ในช่วง COVID-19

สำหรับนโยบายของ “เครือสหพัฒน์” ในช่วงเวลานี้ ธรรมรัตน์บอกว่าหลักๆ จะเเบ่งได้ดังนี้

  • การออกสินค้าใหม่ ต้องทบทวนใหม่ เช่นปกติเคยออก 3-4 คอลเลกชั่นต่อไตรมาส ก็จะมีการปรับลดลงตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ให้เเย่งยอดขายกันเอง
  • ช่องทางการขาย ดูว่าเหมาะกับการขายออนไลน์หรือออฟไลน์ เจาะตลาดที่มีความต้องการจริงๆ
  • ระบายสต็อกสินค้า ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะสินค้าเเฟชั่นที่ยังมีค้างสต็อกอยู่ จากเดิมที่เคยคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ตอนนี้อาจจะต้องใช้เวลาระบายสต็อกถึง 2 ปี
  • บุกตลาดออนไลน์ เป็นหนึ่งในนโยบายดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของบริษัท ซึ่งการจัดสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์จะเป็นการเปิดทางสู่การพัฒนาในยุค E-commerce เเม้ว่าตอนนี้สัดส่วนขายออนไลน์ของสหพัฒน์ยังอยู่ที่ 20% แต่เป้าหมายเพิ่มยอดขายออนไลน์ใน 5 ปี (2019-2023) ตั้งใจว่าทำรายได้ให้ถึง 5,000 ล้านบาท