กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี หั่นคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ -8.1%

กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี หั่นคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ -8.1% จากเดิมที่คาดไว้ -5.3% หลังเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัวกว่าที่คาด เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้

วันนี้ (24 มิ..63) ทิตนันทิ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก รวมทั้งจะมีผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกรุนแรงกว่าที่คาดไว้และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ การจ้างงานและรายได้มีแนวโน้มลดลง ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด

คณะกรรมการฯ มองว่ามาตรการการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยังจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าจะต้องมีนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงด้วย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าคาดตามราคาพลังงานที่ลดลงแรงตามอุปสงค์ที่ลดลงจากการชะลอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง ด้านสินเชื่อขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและเพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง สภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าต้องดูแลให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินสกุลภูมิภาคส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ระบบการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง โดย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 และเร่งดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ธุรกิจ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้า

คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย