“แอร์บัส” มั่นใจระบบกรองอากาศบนเครื่องบินปลอดภัย ลดเสี่ยง COVID-19 

(Photo by Gideon Mendel/Corbis via Getty Images)
“แอร์บัส” มั่นใจระบบฟอกอากาศภายในห้องโดยสารเครื่องบิน ลดความเสี่ยง COVID-19 ชี้ทุกส่วนในอุตสาหกรรมการบินร่วมมือกำหนดมาตรการและข้อกำหนด เชื่อเรียกเชื่อมั่นผู้โดยสาร กระตุ้นเดินทาง

อานันท์ สแตนลีย์ ประธานบริษัท แอร์บัส ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการเดินทางโดยเครื่องบินในช่วงที่ผ่านมา โดยขณะนี้ สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย และหลายสายการบินเริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้ง ซึ่งการสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารในเรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการ และมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 จึงเป็นสิ่งสำคัญ”

ในฐานะผู้ผลิตเครื่องบิน ยืนยันถึงการออกแบบและการใช้อุปกรณ์ที่ทำให้คุณภาพอากาศในห้องโดยสาร สะอาดเทียบเท่ากับห้องผ่าตัดในโรงพยาบาล ซึ่งเชื้อไวรัสจะแพร่กระจายได้น้อยมากเนื่องจากอากาศภายในห้องโดยสารจะผ่านการฟอกครบทุกขั้นตอน และหมุนเวียนใหม่ในทุกๆ 2-3 นาที

โดยอากาศที่เข้าสู่ห้องโดยสารจะผ่านช่องระบายอากาศที่อยู่ใกล้กับช่องสัมภาระเหนือศีรษะ และไหลลงที่ต่ำในแนวดิ่งที่อัตรา 1 เมตรต่อวินาที ทิศทางการไหลของอากาศที่ลงต่ำในแนวดิ่งนี้จะช่วยเลี่ยงไม่ให้อากาศภายในห้องโดยสารเคลื่อนที่ในแนวขวาง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนซึ่งกันและกัน

โดยอากาศจะถูกนำออกจากห้องโดยสารโดยผ่านช่องระบายอากาศที่ระดับพื้นทางเดินผู้โดยสารและผ่านแผงกรองอากาศชนิดประสิทธิภาพสูง (HEPA) โดยขั้นตอนนี้จะช่วยกำจัดอนุภาคต่างๆ ภายในห้องโดยสารรวมถึงไวรัสและแบคทีเรียเช่นโคโรนาไวรัสที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ได้มากกว่า 99.9% จากนั้นอากาศที่ผ่านกระบวนการกรองแล้วจะถูกผสมกับอากาศบริสุทธิ์ที่ดึงมาจากภายนอกเครื่องบินก่อนจึงจะนำเข้ามาสู่ห้องโดยสาร ซึ่งเทคโนโลยีการฟอกอากาศนี้ได้รับยอมรับว่ามีประสิทธิภาพ เพราะผ่านสถานการณ์โรคซาร์ส โคโรนาไวรัส และไวรัสเมอร์สมาแล้ว

นอกจากนี้ สายการบินเองมีมาตรการเพิ่มข้อปฏิบัติการดูแลรักษาความสะอาดเครื่องบิน ทำความสะอาดจะครอบคลุมทั้งห้องโดยสาร ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์บริเวณรอบเก้าอี้โดยสารในแต่ละที่นั่ง ห้องเตรียมอาหาร และห้องสุขา และผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ยาวนานขึ้นสูงถึง 5 วัน นอกจากนี้ ในระหว่างเที่ยวบิน ผู้โดยสารและลูกเรือจะต้องสวมหน้ากากอนามัย และการจัดระเบียบการรักษาระยะห่างกัน

อานันท์กล่าวว่า การเดินทางจะกลับมาเร็วหรือช้า อยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการบิน สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (ACI) ที่จับมือร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล สายการบิน ท่าอากาศยาน และผู้ผลิตอากาศยานจะต้องร่วมมือกัน

เนื่องจากความปลอดภัยในการเดินทาง จะเริ่มตั้งแต่ที่สนามบิน ขั้นตอนในการเข้าอาคารผู้โดยสาร การตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกาย และลดการสัมผัสกับผู้อื่นให้น้อยลงในทุกขั้นตอนเช็กอินไปจนถึงขึ้นเครื่อง

Source