ดิอาจิโอ : ในที่สุดแล้ว คนจะยังต้องการ “ประสบการณ์นอกบ้าน” เพื่อพบปะสังสรรค์กัน

“ดิอาจิโอ” บริษัทเจ้าของแบรนด์สุรานอก เช่น Johnnie Walker, Smirnoff, Hennessy ฯลฯ ลงทุนการตลาด 6 แสนบาทประเดิมคลายล็อกดาวน์ผับบาร์ มั่นใจผู้บริโภคยังต้องการ “ประสบการณ์” การดื่มนอกบ้าน โดยการท่องเที่ยวภายในประเทศจะเป็นปัจจัยบวก อย่างไรก็ตาม ด้วยความเข้มงวดการควบคุมการระบาดภายในผับบาร์ ธุรกิจกลุ่มนี้จะฟื้นตัวได้ช้ากว่าร้านอาหารทั่วไป

“อเล็กซานเดอร์ แคร์โรลล์” ผู้อำนวยการด้านผลิตภัณฑ์รีเสิร์ฟ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมตั้งแต่เกิดสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ว่าเริ่มมีผลกระทบกับบริษัทตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม โดยเริ่มจากธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้เกิดผลเป็นโดมิโนต่อร้านอาหารและผับบาร์ จนในที่สุด ร้านอาหารและผับบาร์ต้องปิดชั่วคราวเมื่อประเทศไทยมีมาตรการล็อกดาวน์ดังที่ทราบกันดี

อย่างไรก็ตาม หลังภาครัฐเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ ปัจจุบันร้านอาหารสามารถกลับมาจำหน่ายสุราได้แล้ว และร้านประเภทผับบาร์ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดทำการในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ทำให้บริษัทต้องการสนับสนุนเพื่อช่วยร้านค้าพันธมิตรผ่านแคมเปญ Welcome Back Offers เป็นโปรโมชันที่จัดผ่านร้านค้าพันธมิตร และแคมเปญที่่ช่วยสนับสนุนบาร์เทนเดอร์ ด้วยการจัดส่งผลิตภัณฑ์สุราให้กับบาร์เทนเดอร์ 100 คน รวมมูลค่าแคมเปญทั้งหมดนี้ประมาณ 6 แสนบาท

แบรนด์บางส่วนในพอร์ตของ ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย)

นอกจากนี้ บริษัทยังจัดทำแผ่นพับคำแนะนำสำหรับร้านค้าเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วง COVID-19 โดยเป็นไกด์ไลน์ที่เหมาะกับร้านที่ขายสุราโดยเฉพาะ เพราะจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเตรียมเครื่องดื่มที่บาร์ให้ปลอดภัย การจัดจุดสูบบุหรี่ การปรับมาตรการลานจอดรถ เป็นต้น

 

ผลกระทบหนักที่สุดอย่างน้อยในรอบทศวรรษ

อเล็กซานเดอร์กล่าวกับ Positioning ว่า ผลกระทบครั้งนี้หนักที่สุดอย่างน้อยในรอบสิบปีที่เขาอยู่กับบริษัทมา หนักมากกว่าช่วงโรคซาร์สระบาดมาก

แม้จะไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขแน่ชัดได้ แต่เขากล่าวว่า ปกติยอดขายของดิอาจิโอ จะมาจากช่องทาง On Premise หรือกลุ่มร้านอาหาร ผับบาร์ ราว 40% ส่วนช่องทาง Off Premise คือซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า ออนไลน์ มีสัดส่วนราว 60%

“อเล็กซานเดอร์ แคร์โรลล์” ผู้อำนวยการด้านผลิตภัณฑ์รีเสิร์ฟ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด

ที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มล็อกดาวน์ปิดร้านอาหารแบบนั่งทานจนถึงอนุญาตให้ขายสุราแบบนั่งทานภายในร้านอาหารได้ กินเวลายาวนานเกือบ 3 เดือน ในระหว่างนั้นยังมีช่วงที่ภาครัฐงดขายสุราทุกช่องทางในหลายจังหวัดนาน 10-20 วัน การปิดช่องทางขายเช่นนี้ก็พอจะบอกได้ว่า ยอดขายบริษัทเหล้าเบียร์ทุกแห่งจะหล่นไปมากขนาดไหน

ช่องทางที่พอจะดีขึ้นบ้างคือ การขายออนไลน์ โดยอเล็กซานเดอร์กล่าวว่า ช่วงที่ปิดร้านอาหารไป ทำให้ยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นสูง โดยเฉพาะสุราที่ใช้ในการทำอาหาร เช่น Bailey’s ซึ่งสามารถปรับใช้กับการทำขนม ชงกาแฟได้

 

ร้านอาหารฟื้นแล้ว ผับบาร์ต้องใช้เวลา

มองไปในอนาคตว่าการฟื้นตัวจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่ อเล็กซานเดอร์ตอบว่า “บอกยาก” แต่ถ้ายกตัวอย่างในประเทศจีนซึ่งเริ่มคลายล็อกดาวน์ก่อนไทย จะเห็นได้ว่าร้านอาหารแบบ “ร้านนั่งชิล” กลับมาเป็นปกติแล้ว แต่ผับบาร์ยังต้องใช้เวลา

เขามองว่าในเมืองไทยน่าจะคล้ายกัน โดยร้านอาหารที่ขายสุราได้ บรรยากาศจะค่อนข้างคล้ายเดิม เพราะมีโต๊ะเก้าอี้ สามารถจัดระยะห่างได้ แต่สำหรับผับบาร์จะเปลี่ยนไปจากเดิมมากด้วยมาตรการที่เข้มงวด เช่น ต้องมีโต๊ะที่นั่งชัดเจน ห้ามลุกขึ้นเต้น ห้ามส่งเสียงร้องเพลง ห้ามย้ายโต๊ะไปรวมกลุ่มกับโต๊ะอื่น ซึ่งทำให้บรรยากาศไม่เหมือนเดิม จึงอาจจะต้องใช้เวลากว่าที่คนจะต้องการกลับมาเที่ยวอีกครั้ง

แต่ภาพรวมแล้วเขายังมองในแง่บวกว่าสถานการณ์หลังจากนี้จะดีขึ้น แต่แน่นอนว่ายังเป็นปีที่ยากลำบากอยู่

“ในที่สุดแล้ว คนเราต้องการประสบการณ์ การดื่มที่บ้านหรือดื่มผ่านออนไลน์ก็ไม่เหมือนกับการมาพบปะ มีปฏิสัมพันธ์กัน ดังนั้นเชื่อว่าผู้คนต้องการบรรยากาศเหล่านี้อย่างยิ่ง” อเล็กซานเดอร์กล่าว

เจน แก้วยอด บาร์เทนเดอร์จากร้าน Sorrento

เขาเสริมด้วยว่า คาดว่าการเปิดให้ท่องเที่ยวภายในประเทศได้ และมีการทำข้อตกลงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้บางกลุ่ม (Travel Bubble) จะเป็นตัวช่วยสำคัญเช่นกัน เชื่อว่าการเดินทางไปจุดหมายปลายทาง เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย นักท่องเที่ยวจะต้องการกินดื่มมากขึ้น

ด้าน “เจน แก้วยอด” บาร์เทนเดอร์จากร้าน Sorrento Sathorn ให้ข้อมูลว่าหลังร้านอาหารสามารถขายสุราได้ทำให้ลูกค้ากลับมาที่ร้านจนเกือบจะเป็นปกติแล้ว จากช่วงก่อนหน้านี้ที่ร้านเปิด 1 เดือนแรกยังค่อนข้างเงียบเหงา

สอดคล้องกับเทรนด์จาก Google Mobility Report รายงานเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 63 พบว่าการเดินทางไปยังสถานที่ในกลุ่มรีเทล เช่น ศูนย์การค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ ฯลฯ อยู่ในระดับน้อยกว่าปกติก่อนสถานการณ์ COVID-19 เพียง 11% เท่านั้น เทียบกับช่วงต้นเดือนมิถุนายนซึ่งการเดินทางไปสถานที่เหล่านี้น้อยกว่าปกติราว 20%

อนาคตของธุรกิจสุรายังไม่แน่ชัด ต้องรอดูหลังการเปิดผับบาร์ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ว่าผู้บริโภคจะให้การตอบรับแค่ไหนภายใต้กฎใหม่ รวมถึงต้องช่วยกันรักษาระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดรอบสอง ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้งด้วย