‘หัวเว่ย’ ยกไทยผู้นำ ‘5G’ อาเซียน แนะเสริมเเกร่ง AR/VR ต่อยอดการท่องเที่ยว

ไทยเริ่มประมูลคลื่นสำหรับใช้ ‘5G’ ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง ‘หัวเว่ย’ ระบุว่า ‘เร็วมาก’ เมื่อเทียบกับทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนที่เริ่มทำ 5G ดังนั้น ไทยถือว่าเป็น ‘ผู้นำ’ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ 5G ก็มีวิกฤติ Covid-19 เข้ามา ทำให้เห็นการนำ 5G มาประยุกต์ใช้กับด้าน Healthcare ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ ไทยสามารถควบคุม Covid-19 ได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม 5G ไม่ได้เข้ามาช่วยได้แค่ Healthcare แต่ยังสามารถขยายไปได้อีกหลายอุตสาหกรรม

วรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า 5G จะช่วยต่อยอดไปสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ อย่างในส่วนของผู้บริโภค 5G สามารถทำให้เกิดการให้บริการในรูปแบบ Virtual Reality (VR), Augment Reality (AR), การเล่นเกมแบบ Cloud Gaming ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบการถ่ายทอดสดออนไลน์ (Live-streaming) ด้วยความละเอียดระดับ 4K หรือผ่าน VR/AR เป็นต้น

สำหรับภาคธุรกิจองค์กร 5G จะเข้าไปมีบทบาทได้ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม โดยสามารถพัฒนาโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ในสามเรื่องหลัก ได้แก่ 1.การเพิ่มจำนวนผลผลิต 2.ลดจำนวนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีตำหนิ หรือไม่ได้มาตรฐาน และ 3.ลดต้นทุนให้แก่กระบวนการผลิตและการดำเนินการ

“5G จะช่วยยกระดับด้านการเชื่อมต่อ ในขณะที่ AI จะช่วยยกระดับด้านความชาญฉลาด เมื่อนำนวัตกรรมทั้งสองมาผสานกันจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม (Smart Manufacturing) อุตสาหกรรมสาธารณสุขอัจฉริยะ (Smart Healthcare) หรือแม้แต่ระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้แก่องค์กรในประเทศไทย รวมถึงสร้างโอกาสการต่อยอดรายได้และเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ มากขึ้น”

วรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ ระบบนิเวศ 5G ต้องพร้อมด้วย 1.นวัตกรรมในภาคธุรกิจ ทั้งบริการใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น 2.พาร์ตเนอร์ในอีโคซิสเต็ม ทั้งผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแบบแนวดิ่ง ผู้ให้บริการด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างหัวเว่ย และผู้จัดทำโซลูชั่นในประเทศ เป็นต้น 3.5G ที่ใช้งานได้จริง (Real Use Cases) และ 4.ประสบการณ์ ในการนำเอาเทคโนโลยีระดับโลกมาประยุกต์ใช้ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มนำ 5G มาใช้ได้ประมาณ 6 เดือนจนมียูสเคสมากมาย โดยเฉพาะ Healthcare แต่ในด้านอื่น ๆ อีโคซิสเต็มอาจจะยังไม่สมบูรณ์ อาทิ VR, AR ที่ยังขาดคอนเทนต์โปรดิวเซอร์ ขณะที่ประเทศเกาหลีมีความแข็งแรงในด้านนี้ ทั้งนี้ หัวเว่ยอยากให้บริษัทไทยส่งเสริมกันเองภายในประเทศ เพราะการนำแพลตฟอร์มจากต่างประเทศเข้ามาอาจจะไม่เหมาะสมมากนัก ดังนั้น การพัฒนาภายในประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

“เราเชื่อว่าประเทศไทยสามารถนำ 5G เข้ามาประยุกต์ช่วยโปรโมต และสร้างความเชื่อมั่นในภาคการท่องเที่ยวได้ โดยแบ่งเป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อช่วยโปรโมตภาคการท่องเที่ยวของไทย และการประยุกต์ใช้ 5G เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคการท่องเที่ยวของไทย”

นอกจากนี้ 5G ยังสามารถประยุกต์ทำการเกษตรแบบอัจฉริยะ สามารถทำให้เกิดประโยชน์ใน 3 รูปแบบพร้อมกัน ได้แก่ ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตทางด้านการเกษตรที่ดีขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม Smart Farm และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร รวมถึงยังสามารถประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในช่วง Covid-19 นี้ เช่น เพิ่มช่องทางการวินิจฉัยโรคทางไกลแบบ Telemedicine ให้กับแพทย์ และใช้โซลูชั่น AI เพื่อช่วยแพทย์วินิจฉัยผู้ป่วย Covid-19 ได้เร็วขึ้น

“หัวเว่ยอยากให้การใช้งาน 5G ของไทยขยายไปในหลายภาคส่วน โดยเราให้ความสำคัญกับทุกด้านที่ทำได้ เพราะภารกิจของหัวเว่ยประเทศไทยคือการเติบโตพร้อมไปกับประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เห็นว่ามีผู้ให้บริการรายไหนชะลอการลงทุนเรื่อง 5G”