เปิด 3 แนวทางติดตาม 11 กลุ่มต่างชาติเดินทางเข้าไทย “แยกกัก-กักกัน-คุมสังเกตอาการ”

(Photo by Sergei BobylevTASS via Getty Images)
ศบค.แจงยิบแบ่ง 11 กลุ่มคนเข้าไทย ใช้ 3 แนวทางติดตามสกัด COVID-19 ใช้วิธี “แยกกัก” ในคนป่วย หากไม่ป่วยอยู่ระยะยาวใช้วิธี “กักกัน” 14 วัน ในสถานที่ตามเหมาะสมแต่ละกลุ่ม ทั้ง State Quarantine แบบจ่ายเงินเอง รพ. สถานทูต หรือสถานที่ที่องค์กรจัดเอง ส่วนแขกรัฐบาล-มาระยะสั้น ใช้วิธี “คุมไว้สังเกตอาการ” มีบุคลากรทางการแพทย์ติดตาม ห้ามออกนอกเส้นทาง

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของไทย เนื่องจากต่างประเทศยังมีผู้ป่วยเพิ่มวันละมากกว่าแสนราย ว่า เรามีการประชุมในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเสนอต่อ ศบค.ชุดใหญ่ โดยเรามีความพร้อมเรื่องเตียง

  • กทม.มีเตียงระดับไอ.ซี.ยู. 106 เตียง ไม่ใช่ไอ.ซี.ยู. 1,589 เตียง โรงแรมที่จัดทำเป็นสถานที่พักผู้ป่วย (Hospitel) 568 เตียง
  • ทั่วประเทศไอ.ซี.ยู. มี 465 เตียง ไม่ใช่ไอ.ซี.ยู. 9,617 เตียง และ Hospitel 9,781 เตียง
  • รวมแล้วมีไอ.ซี.ยู. 571 เตียง ไม่ใช่ไอ.ซี.ยู. 11,206 เตียง และ Hospitel 10,349 เตียง
  • เวชภัณฑ์ หน้ากาก N09 มี 1.12 ล้านชิ้น ชุด PPE มี 5.11 แสนชุด และเครื่องช่วยหายใจ 1.1 หมื่นเครื่อง
  • ยาฟาวิพิราเวียร์ มี 3.19 แสนเม็ด สำหรับผู้ป่วย 4,571 คน และจะมีอีก 4 แสนเม็ดภายใน ก.ค. 2563

มาตรการรองรับการเดินทางมาจากต่างประเทศ การจัดการในทางกฎหมายโดย พ.ร.บ.โรคติดต่อ บัญญัติวิธีการไว้ 3 อย่าง คือ

1. แยกกัก คือ ลงเครื่องมาป่วยเอาเข้า รพ.ทันที เรียกว่า Isolation

2. กักกัน (Quarantine) มี 4 ประเภท คือ

  • กักกันที่บ้าน (Home Quarantine)
  • สถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine : SQ) หรือตามต่างจังหวัด (Local Quarantine :LQ ) และที่จ่ายเงินเอง (Alternative State Quarantine ASQ) และในระดับจังหวัด (Alternative Local Quarantine : ALQ)
  • องค์กรนั้นจัดขึ้นมาและให้พักในพื้นที่ตนเองจัดไว้ (Organization Quarantine : OQ) ซึ่งข้อกำหนดฉบับที่ 12 แบ่งคนออกมา 11 ประเภท มีกลุ่มหนึ่งที่มาเป็นโรงเรียน ครู นักเรียนต่างชาติ ผู้บริหารต่างๆ มาครั้งหนึ่งอาจหลายสิบหรือร้อยคน แต่มีหอพัก หรือ รพ.ประจำสถานศึกษาอยู่แล้ว เราก็อนุญาตให้พักในสถานที่ที่องค์กรจัดได้ แต่จะต้องผ่านมาตรฐานที่กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และฝ่ายมั่นคงเข้าไปกำกับตรวจสอบ และยืนยันว่า จะไม่มีการออกไปข้างนอกให้เกิดการแพร่เชื้อ
  • Hospital Quarantine สำหรับคนที่เดินทางมารักษาหรือดูแลสุขภาพ โดยใช้ รพ.เป็นสถานที่กักกัน
(Photo by Adisorn Chabsungnoen/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

3. คุมไว้สังเกตอาการ (Close Observation) คือ ไม่ต้องนอนใน รพ.หรือ รพ. ประเภทนักธุรกิจมาระยะสั้นๆ มาเซ็นสัญญานอน 2-3 วันกลับบ้าน ก็ไม่อยากมาอยู่ 14 วัน แต่ต้องมีระบบตรวจสอบตั้งแต่ก่อนมา ระหว่างมา และก่อนจะกลับ ว่าไม่มีเชื้อ ตรวจกันยิบ และต้องมีแผนว่าจะไปไหนให้เราเห็น โดยรถยนต์ส่วนตัว จะไปดูไปตรงไหนต้องบอกเราทั้งหมดและไปในเส้นทางนี้ และต้องจ่ายเอง นอนโรงแรมไหน โรงแรมนั้นก็ต้องเป็น Alternative State Quarantine มีแพทย์ พยาบาลประกบ และจะไปที่ไหนจะไปเดี่ยวๆ ไม่ได้ ต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามไปด้วย คือ เป็นการคุมไว้สังเกต อยู่ในสายตาของเราตลอด และต้องไม่เป็นความเสี่ยงกับเรา

11 กลุ่มเข้าไทย

การผ่อนปรน 6 กลุ่มที่จะเข้าไทย 200 คนต่อวัน กลุ่มคนที่จะเข้ามาในประเทศไทยมี 11 กลุ่ม ดังนี้

1. ผู้มีสัญชาติไทย อยู่ได้ทั้ง SQ LQ ALQ

2. ผู้มีเหตุยกเว้น ใช้แนวทางคุมไว้สังเกตอาการ

3. บุคคลในคณะทูต ใช้วิธีกักตนเองในสถานทูตนั้น (Home/Self Quarantine)

4. ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น เมื่อขนส่งเสร็จเข้ามาก็ขับรถออกไปได้ ไม่ต้องอยู่

5. ผู้ควบคุมยานพาหนะ อาจต้องพักค้าง เช่น กัปตันเครื่องบิน แอร์โฮสเตส สายการบินทั้งหลาย ใช้วิธี ASQ

6. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นคู่สมรสคนมีสัญชาติไทย ใช้ ASQ

7. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีถิ่นที่อยู่ในไทย ใช้ ASQ

8. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีใบอนุญาตทำงาน ใช้ ASQ

9. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาในไทย ใช้ ASQ หรือ OQ

10. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาในไทย ใช้กักใน รพ.

11. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้รับอนุญาตเข้ามาในไทยตามข้อตกลงพิเศษ มาระยะยาวใช้วิธี ASQ หรือมาระยะสั้นๆ ใช้วิธีคุมไว้สังเกตอาการ