ตม.สหรัฐฯ อาจส่งนักศึกษาต่างชาติกลับประเทศ ถ้ามหา’ลัยที่เรียนเปลี่ยนไปสอนออนไลน์

(Photo by Gustavo Fring from Pexels)
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือ ICE ของสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2020 ว่า นักเรียนต่างชาติที่กำลังอยู่ระหว่างศึกษาในสหรัฐฯ อาจถูกส่งกลับประเทศบ้านเกิด หากมหาวิทยาลัยที่บุคคลนั้นเรียนอยู่ปรับไปเป็นระบบเรียนออนไลน์เท่านั้น ระเบียบนโยบายใหม่นี้อาจส่งผลกระทบต่อนักเรียนต่างชาติ 1.2 ล้านคนในประเทศสหรัฐฯ

มหาวิทยาลัยจำนวนมากของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาปรับการเรียนการสอนไปเป็นการเรียนออนไลน์เท่านั้น เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Harvard ประกาศปรับไปเป็นการเรียนออนไลน์ทุกวิชา ไม่ว่านักศึกษาจะยังอยู่ในเขตแคมปัสมหาวิทยาลัยหรือไม่ ซึ่งทำให้นักศึกษาสามารถเดินทางออกจากสหรัฐฯ กลับประเทศบ้านเกิดได้เลย

“มีความไม่แน่นอนมากมายและน่าหงุดหงิดอย่างมาก” วาเลอเรีย เมนดิโอล่า นักศึกษาด้านบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัย Harvard กล่าวกับสำนักข่าว CNN “ถ้าฉันต้องกลับไปเม็กซิโก ฉันก็กลับได้ แต่นักเรียนต่างชาติหลายคนไม่สามารถทำอย่างนั้นได้”

จากข่าวประชาสัมพันธ์ที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ICE ประกาศวันที่ 6 ก.ค. 2020 เปิดเผยว่า นักเรียนนักศึกษาต่างชาติที่ใช้วีซ่านักเรียน “ไม่สามารถปรับไปเรียนออนไลน์ทั้งภาคการศึกษาแล้วยังคงพักอาศัยในสหรัฐฯ ต่อได้” รวมถึงเสริมว่า “กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะไม่ออกวีซ่าให้กับนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียนในโปรแกรมหรือในสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทุกวิชาสำหรับทั้งภาคการศึกษา และด่านตรวจคนเข้าเมืองจะไม่อนุญาตให้นักเรียนกลุ่มนี้เข้าสู่สหรัฐฯ ด้วย”

ทั้งนี้ ปกติวีซ่าประเภท F-1 ที่ให้ชาวต่างชาติพำนักในประเทศระยะยาวได้ตลอดการศึกษา จะอนุญาตให้นักศึกษาผู้ถือวีซ่าเรียนวิชาที่เปิดสอนแบบออนไลน์ได้ไม่เกิน 1 วิชาต่อเทอม สำหรับกรณีนี้ ICE จะอนุโลมให้ผู้ถือวีซ่า F-1 เรียนออนไลน์ได้หลายวิชา แต่ต้องไม่ใช่ทุกวิชา ดังที่กล่าวไปข้างต้น

มหาวิทยาลัย Harvard หนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ ซึ่งจะปรับมาเป็นระบบการเรียนการสอนออนไลน์ทุกวิชา รับมือโรค COVID-19 (photo: college.harvard.edu)

นโยบายใหม่นี้ทำให้นักเรียนต่างหัวหมุน โดยเอเจนซี่ที่ดูแลการเรียนต่อของนักศึกษาแนะนำว่านักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในสหรัฐฯ ไปแล้วควรใช้วิธีหลีกเลี่ยงนโยบายนี้ เช่น โอนย้ายหน่วยกิตไปอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ยังมีการเรียนแบบผสมผสาน คือมีทั้งเรียนออนไลน์และยังมีคลาสเรียนแบบปกติอยู่

แบรด ฟาร์นสเวิร์ธ รองประธาน สภาการศึกษาอเมริกัน หน่วยงานที่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยกว่า 1,800 แห่งทั่วประเทศ กล่าวว่า ประกาศของ ICE ทำให้เขาและอีกหลายคนแปลกใจ และมองว่าประกาศนี้จะสร้างความสับสนและความไม่แน่นอนยิ่งขึ้นไปอีก

ฟาร์นสเวิร์ธมองว่า นโยบายนี้จะเป็นอย่างไรต่อ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายลงในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-พฤศจิกายน) และมหาวิทยาลัยจำนวนมากกว่านี้ตัดสินใจปรับไปเป็นการเรียนออนไลน์ทุกวิชาเพื่อช่วยป้องกันโรค

“ผมคิดว่าเรื่องนี้จะยิ่งก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักเรียนต่างชาติ รวมถึงว่าที่นักศึกษาที่กำลังมองหาสถาบันเรียนต่อในฤดูใบไม้ร่วง ความไม่แน่นอนนี้อาจจะผลักให้พวกเขาเลือกมหาวิทยาลัยในประเทศอื่นได้” ฟาร์นสเวิร์ธกล่าว

 

นักศึกษาหลายประเทศกลับบ้านเกิดไม่ได้

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่อนุมัติออกวีซ่าให้กับนักเรียนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในคอร์สแบบเรียนออนไลน์ทุกวิชาอยู่แล้ว แต่สถานการณ์นี้ก็ไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่เป็นเหตุผลให้ ICE ต้องควบคุมอย่างเข้มงวดเช่นนี้

“นี่ไม่ใช่พวกมหาวิทยาลัยห้องแถว ไม่ใช่การหลอกลวง นี่คือกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีตัวตนจริง เป็นมหาวิทยาลัยที่จะสอนในคลาสเรียนปกติอยู่แล้วหากไม่เกิดโรคระบาดขึ้น” เธเรซ่า คาร์ดินัล บราวน์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายตรวจคนเข้าเมืองและผู้อพยพจาก ศูนย์นโยบาย Bipartisan กล่าว

“ปัญหาใหญ่ไปกว่านั้นคือ ประเทศหลายประเทศออกกฎการเดินทางที่เข้มงวดไปแล้ว ทำให้นักศึกษากลับบ้านไม่ได้ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นพวกเขาจะทำอย่างไร มันจะกลายเป็นปัญหาที่ไร้ทางออกสำหรับนักเรียนหลายคน” บราวน์กล่าว

(Photo by Anna Shvets from Pexels)

ด้าน แลร์รี่ บาโคว ประธานมหาวิทยาลัย Harvard ตอบโต้ในวันเดียวกันนั้นว่า “เรามีความกังวลอย่างยิ่งต่อนโยบายที่ออกโดย ICE ซึ่งเป็นวิธีการอันรุนแรงและกำปั้นทุบดินสำหรับปัญหาที่สลับซับซ้อน สำหรับนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกปรับไปอยู่ในคอร์สออนไลน์แล้ว พวกเขาจะมีทางเลือกเพียงแค่เดินทางกลับประเทศหรือย้ายมหาวิทยาลัยเท่านั้น”

บาโควยังกล่าวต่อว่า นโยบายของ ICE นั้น “ทำลายวิธีการรับมือที่พิจารณามาอย่างถี่ถ้วนของมหาวิทยาลัยหลายแห่งและ Harvard ด้วยในการที่จะปกปักประโยชน์ของนักเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนต่อในโปรแกรม โดยที่ยังรักษาสุขภาพและความปลอดภัยจากโรคระบาดได้”

“เราจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศเพื่อหาหนทางต่อจากนี้” เขากล่าวเสริม

 

แผนสกัดนักศึกษาต่างชาติ?

รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวนโยบายเพิ่มความเข้มงวดต่อการเข้าเมืองของคนต่างชาติอยู่แล้ว ดังนั้นการระบาดของโรค COVID-19 จึงส่งผลให้สหรัฐฯ เร่งระงับวีซ่าทำงานของชาวต่างชาติ โดยที่โรงงานอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญ และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้อพยพ ต่างเห็นตรงกันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เพียงฉวยโอกาสนี้เป็นตัวเร่งนโยบายส่งกลับผู้อพยพ รวมถึงลดอัตราการอนุมัติให้คนต่างชาติเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายด้วย

นโยบายยกเลิกวีซ่านักเรียนต่างชาติก็เช่นกัน หากบังคับใช้จะทำให้นักเรียนต่างชาติ (ซึ่งมักจะเสียค่าเทอมสูงลิ่วให้ประเทศสหรัฐฯ) ต้องหาทางบินกลับประเทศบ้านเกิด

สถาบันศึกษานโยบายการอพยพ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในวอชิงตันดีซี ให้ข้อมูลว่า มีนักศึกษาประมาณ 1.2 ล้านคนตกอยู่ภายใต้กลุ่มวีซ่าที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายใหม่นี้ โดยนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ลงทะเบียนเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาราว 8,700 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูลจำนวนนักศึกษาเมื่อเดือนมีนาคม 2018)

ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า Top 3 สัญชาติของนักเรียนนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐฯ ได้แก่ จีน (31%), อินเดีย (17%) และเกาหลีใต้ (4.4%) ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนไทยในสหรัฐฯ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน รายงานว่ามีนักเรียนนักศึกษาไทยรวม 6,636 คน ในช่วงที่เกิดโรคระบาดเมื่อต้นเดือนเมษายน

จนถึงขณะนี้นักเรียนนักศึกษาบางส่วนเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว แต่อีกจำนวนมากยังพำนักอยู่ในสหรัฐฯ ดังนั้น นโยบายของ ICE อาจจะมีผลต่อนักเรียนไทยด้วยเช่นกัน

Source