กางแผน “ขสมก.” รื้อระบบครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เตรียมออกตั๋วเหมา รอรถเหลือ 5-10 นาที

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ออกแผนฟื้นฟูปี 2563 รื้อระบบเดินรถใหม่ ลดจำนวนลด เพิ่มตั๋วแบบเหมาจ่าย ลดเวลารอเหลือ 5-10 นาที ตั้งเป้าใน 7 ปีต้องมีรายได้เลี้ยงตัว ไม่เป็นภาระภาครัฐ!

ขสมก. ยุค New Normal จะทำได้ไหม?

ต้องบอกว่าระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย โดยเฉพาะรถเมล์ รถโดยสารประจำทาง ล้วนมีปัญหากันมาช้านาน ทั้งรถเก่าบ้าง การขับรถ การให้บริการ รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้บริการ ราคาที่ขึ้นลงแบบไม่เสถียร การรอรถใช้เวลานาน ไม่มีระบบที่เช็กได้ (แม้ตอนนี้จะมีแล้ว)

ขสมก.เองก็ประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด การจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงองค์กรก็ทำได้ค่อนข้างช้า เพราะต้องผ่านกระบวนการหลายๆ อย่าง

ก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2562 ขสมก.ได้เคยจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี แต่ในปีนี้ได้มีโจทย์ของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เข้ามาเพิ่ม ทำให้การใช้ชีวิตต้องเป็นแบบ New Normal จึงต้องมีการยกเครื่องกันใหม่ ล่าสุดผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้ว เตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนสิงหาคมนี้

Photo : Shutterstock

สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก) กล่าวถึงการปรับแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ว่า

“ขสมก.ได้เคยจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี แต่เนื่องจากเรายังมีโจทย์ที่จะต้องปรับแผนให้รอบคอบรัดกุม สามารถแก้ปัญหาเรื้อรัง ทั้งสถานะทางการเงิน สภาพรถเก่า และจำนวนรถโดยสาร การปรับโครงสร้างองค์กร ต้นทุนการดำเนินงานที่สูง และการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีด้าน IT ของหน่วยงานให้ทันต่อยุคสมัย โดยจะเห็นว่าจากสถานการณ์โลกปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ Covid-19 เป็นตัวเร่ง ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งประโยชน์ที่ประชาชน”

7 แผนฟื้นฟู ขสมก. กับ 7 ปีให้เลี้ยงตัวเองให้ได้

ได้สรุปแผนฟื้นฟูดังกล่าว

  1. ประชาชนจะได้ใช้รถใหม่ มีบริการที่สะอาด สะดวก สบาย ปลอดภัย ผ่านการตรวจสอบคุณภาพตัวรถ ทั้งระบบคันเร่ง เบรก เป็นอย่างดี และเป็นรถเย็น ติดแอร์ทั้งหมด ทำให้พนักงานขับรถไม่รู้สึกเครียด
  2. ราคาค่าบริการเหมาจ่ายทั้งวัน 30 บาท สามารถโดยสารกี่เที่ยวก็ได้ไม่จำกัด ทั้งรถของ ขสมก.และรถร่วม ทั้งนี้คนที่ขึ้นเที่ยวเดียวคิดราคาเพียง 15 บาท
  3. ปัญหาการจราจรลดลง เนื่องจากจะมีจำนวนรถประจำทางลดลง จาก 6,000 คัน เหลือเพียง 2,500 คัน เท่ากับการลดพื้นที่การใช้ถนนลง
  4. คุณภาพอากาศดีขึ้น โดยเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า NGV และไฮบริดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  5. การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์รูปแบบใหม่ ที่จะครอบคลุมทั้ง กทม.และปริมณฑล โดยมีเส้นหลัก เส้นรอง และวงกลม ตามโปรแกรมคำนวณจากระบบคอมพิวเตอร์ของกรมขนส่งทางบก ทำให้รถไม่ต้องวิ่งทับเส้นทางกันเอง
  6. ระยะเวลารอรถ สั้นลง 5-10 นาที โดยการปรับเส้นทางวิ่งระยะสั้น แต่มีความถี่เพิ่มขึ้น
  7. ประชาชนโดยรวมทั้งประเทศ ไม่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น เนื่องจากหนี้สินเดิมได้มีการจัดการ

โดยหากทำตามแผนที่วางไว้ มีการคำนวณว่าจะขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2571 และในปี 2572 ขสมก.จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้ภาครัฐในอนาคต

เปิดโพล คนกรุงชอบ “รถเมล์” แบบไหน

ขสมก.ได้ทำการเก็บผลสำรวจของชาวกรุงเทพฯ กับการใช้บริการรถเมล์ กับโพล “รถเมล์แบบไหน ถูกใจคนกรุง” เก็บข้อมูลจากประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,299 คน จัดทำโดยกรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ด้านความพึงพอใจ

  • 46.7% มีความพึงพอใจต่อรถเมล์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในระดับน้อย
  • 33% พึงพอใจปานกลาง
  • 20.3% พึงพอใจมาก

ภาพลักษณ์ของรถเมล์

  • 61% รอรถเมล์นาน รถไม่พอกับความต้องการ
  • 51.7% รถมีสภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรม
  • 41.2% ระบุว่ารถปล่อยควันดำ ส่งผลเสียด้านมลพิษ

ความคาดหวังว่าอยากได้รถเมล์แบบไหน

  • 61.6% อยากให้รถเมล์มาตรงเวลา ผู้โดยสารไม่ต้องรอนาน จะได้เดินทางรวดเร็วขึ้น
  • 53.1% อยากให้รถเมล์ใหม่ทุกคัน ทุกสาย เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
  • 51.9% อยากให้ออกรถถี่ขึ้น มีที่นั่งเพียงพอ ไม่ต้องเบียดเสียดแออัด

ความต้องการอื่นๆ

  • 37.6% อยากให้รถโดยสารเป็นรถชานต่ำ เป็นมิตรกับคนพิการ
  • 26.8% อยากให้ชำระค่าบริการผ่าน E-Ticket แทนการใช้เงินสด เพื่อความสะดวก ลดการสัมผัส