ทีเซลส์ขับเคลื่อนโครงการ “Life Sci. Level Up Challenge 2020” เปิดเวทีสตาร์ทอัพผลักดันสู่ตลาดโลก

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS)ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดตัวโครงการ “Life Sci. Level Up Challenge 2020” เพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะกลุ่มบริษัท Startupและนักวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ และร่วมฟังเสวนาหัวข้อ “Life Sci. Startup : โอกาส ความท้าทาย และความเป็นไปได้ในการเติบโต” โดยกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจพร้อมเปิดตัว 27 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อเข้าร่วมพัฒนาศักยภาพแบบเจาะลึกกับวิทยากรชื่อดังที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์จำนวน30 ชั่วโมง ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2563 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและร่วมพิชิตโอกาสทางธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า “ทีเซลส์ให้การสนับสนุนและผลักดันโครงการ “Life Sci.Level Up Challenge 2020” กิจกรรมส่งเสริมและบ่มเพาะกลุ่มนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ 2020 มาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ด้านชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences Technology) ให้มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและสากล อีกทั้งยังเป็นการขยายการค้า การลงทุนและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจทางการตลาดในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยปีนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาส่วนที่ผู้ประกอบการแต่ละรายที่ยังมีจุดอ่อน หรือต้องการพัฒนาส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อเติมเต็มศักยภาพของทีมตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากเดิม”

“ความโดดเด่นของกิจกรรมนี้ คือ มุ่งพัฒนาศักยภาพให้กับทั้งกลุ่มนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาศาสตร์ ที่มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นไบโอเทค,ฟาร์มาซูติคอล, เครื่องมือแพทย์ (Medical Devices),การวินิจฉัยโรค(Diagnostics), เครื่องสำอาง-อาหารเสริม และ Digital Health IT เป็นต้น ควบคู่ไปกับการเสริมความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจ ด้านการตลาด ด้านกฎหมายเฉพาะ โดยนักวิชาชีพที่มีประสบการณ์ร่วมกับกลไกลการวิเคราะห์แผนการดำเนินธุรกิจจากกลุ่มเมนเทอร์ในสาขาความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง”

ดร.นเรศ กล่าวเพิ่มเติมถึงมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศไทย (ปี 2562) มีมากถึง 1.38 ล้านล้านบาท มากที่สุด คือ การให้บริการทางสุขภาพ 49%, รองลงมา คือ เครื่องสำอาง อาหารเสริม คิดเป็น 25%, ผลิตภัณฑ์ยา 14% และ เครื่องมือแพทย์ 12% สำหรับตลาดที่ใหญ่มากก็คือเรื่องการดูแลผิวพรรณและสุขภาพ เพราะมีความหลากหลายมากมีมูลค่านับแสนล้านบาท ในอาเซียนเราเคยทำสำรวจว่าเฉพาะเรื่องของไวท์เทนนิ่ง ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกก็เป็นหลักแสนล้านเหรียญไปแล้ว แต่การจะไปตีตลาดในส่วนนี้ การทำมาร์เก็ตติ้งเชิงโฆษณาคงไม่พอ จำเป็นต้องมีความเข้มแข็ง และต้องมีปรัชญาบางอย่าง เป็นตัวแบคอัพเช่น การเลือกใช้ของจากธรรมชาติใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย พิสูจน์ได้จริง อย.ก็มีหน้าที่ต้องคอยบอกว่า เคลมอย่างผิดๆถูกๆ ไม่ได้ เช่นบอกว่าอาหารเสริม หรือ เครื่องสำอางนี้ช่วยแบบนั้นแบบนี้ มันต้องมีบทพิสูจน์ ตรงนั้นก็เป็นหน้าที่ของทีเซลส์ด้วย เพราะเราเป็นคนช่วยดูแลในเรื่องของการทดสอบมาตรฐาน ตลาดถัดมาก็เป็นตลาดที่เป็นยา ยามีสองกลุ่มคือ ยานวัตกรรมหรือยาต้นตำรับ กับยาเจนเนอริคหรือยาสามัญ ตลาดใหญ่ทั้งคู่ แต่ยานวัตกรรมมูลค่าจะสูงกว่า ยาเจนเนอริคจะถูกกว่าเพราะคนใช้เยอะ และราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่า ปัญหาคือว่า ประเทศไทยนำเข้าเยอะจุดที่เราก็ต้องแก้ไข เราต้องสร้างความรู้จากข้างใน ให้เราสามารถดูแลตัวเองได้ ต้องไปสร้างในเรื่องของความสามารถในการผลิตด้วย ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญ และยังมีอีกกลุ่มคือตลาดเครื่องมือแพทย์ เครื่องมือแพทย์เรามีผู้ประกอบการอยู่ประมาณ 1,000 – 2,000 ราย เพียงแต่ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะซื้อมาขายไป นำเข้ามา แล้วก็ดูแลหลังการขาย เรากำลังปรับส่วนนี้เข้ามา ให้สามารถวิจัยเอง ผลิตเอง เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เป็นเจ้าของแบรนด์ หรือเป็นเจ้าของการผลิตเองได้

“ปัจจุบัน ความตระหนักในเรื่องสุขภาพมีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เรียกว่าเทรนด์สุขภาพก็ว่าได้ คือว่า คนหมู่มากเห็นความสำคัญของการมีสุขอนามัยที่ดี เริ่มรู้แล้วว่าไม่มีไม่ได้ Face Shield ต้องใส่ มือต้องล้าง ใส่ใจในเรื่องของอาหารการกิน เรื่องของการบำรุงร่างกาย การออกกำลังกาย นี่คือ เทรนด์สุขภาพทั่วไป ยังมีอีกเทรนด์หนึ่งที่เป็นเทรนด์ความรู้และเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น ความรู้เรื่องพันธุกรรมของเรา ตอนนี้ก้าวหน้ามากถึงขั้นที่ว่า เราสามารถเริ่มจะบอกได้ว่า เวลากินยาอะไรแล้วจะแพ้หรือไม่แพ้ เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรือมีแนวโน้มจะป่วยหรือเป็นโรคมะเร็งหรืออะไร โดยดูที่พันธุกรรม นี่ก็เป็นอีกแนวโน้มหนึ่ง พอสองส่วนนี้มาเจอกันมันก็เกิดโอกาสมหาศาล ที่เราจะใช้ความรู้ใหม่บวกกับเรื่องของความตระหนัก คือพอคนตระหนักก็จะ มีความเป็นผู้บริโภค เป็นลูกค้า ซึ่งจะเปลี่ยนจากเดิม อาจจะทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพก็เปลี่ยนมาทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อันนี้ก็เป็นโอกาสใหม่ด้วยเช่นกัน” ผอ.ทีเซลส์ กล่าว

สำหรับโครงการ “Life Sci. Level Up Challenge 2020” ในปีนี้มีนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพสนใจสมัครมาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 47 ทีมและผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 27 ทีม ซึ่งหลังจากนี้ ทางโครงการจะวิเคราะห์ศักยภาพของทีม เพื่อวางแผนพัฒนาเฉพาะจุดให้กับทีมที่ผ่านการคัดเลือก และทั้งหมดยังได้รับการพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในระยะแรกจำนวน 12 ชั่วโมง จากนั้นจะเป็นการพัฒนาศักยภาพเฉพาะกลุ่มธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ในแต่ละกลุ่มในระยะที่สอง จำนวน 12 ชั่วโมง และในระยะที่สาม จะเป็นการพัฒนาตามความต้องการของแต่ละทีมในประเด็นต่างๆที่เน้นการแก้จุดด้อย เสริมจุดเด่นจำนวนไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง จากนักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีประสบการณ์อาทิคุณธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย, ดร.เลอสรร ธนสุกาญจน์, คุณปฐมพงษ์ เล็กสมบูรณ์ และคุณไกรวิน วัฒนะรัตน์ เป็นต้น และจะมีการจัดประกวดแผนธุรกิจที่แต่ละทีมสร้างขึ้นในงาน “Demo Day: Life Sci.Level Up Challenge 2020” ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายนปีนี้ โดยทีมที่ได้รับรางวัลการประกวดแผนธุรกิจ 5 ทีมสุดท้าย จะพิชิตโอกาสทางธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท ซึ่งเชื่อว่าทีมที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้นได้ จากการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทางการแพทย์และสุขภาพต่อไป

  • คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://lifescilevelup2020.com
  • Line:LifeSciLevelup2020
  • Facebook: LifeSciLevelup2020
  • IG: LifeSciLevelup2020
  • สอบถามรายละเอียด : 02 259 5511 / 097 969 5924