Apple ยุคอีโค! หนุนพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย ประกาศแผนเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030

APPLE HQ
(Karl Mondon/Digital First Media/The Mercury News via Getty Images)
Apple ประกาศแผนการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2030 ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของ Apple จะต้องส่งผลกระทบเป็นศูนย์ต่อสภาพอากาศ (Zero Emission) พร้อมสนับสนุนชุมชนพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย และฟิลิปปินส์

ทิม คุก CEO แอปเปิล ระบุว่า การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจมีโอกาสร่วมกันสร้างอนาคตที่มีความยั่งยืน และให้ความใส่ใจในโลกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

“นวัตกรรมที่อยู่เบื้องหลังเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้โลกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ประหยัดพลังงานในการผลิต และมอบแหล่งพลังงานสะอาดไปทั่วโลก โดยทางแอปเปิลหวังว่า ด้วยความมุ่งมั่นด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนนี้จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้”

สำนักงานใหญ่ Apple ที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

เบื้องต้น แอปเปิล ได้ออกรายงานความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมปี 2020 เกี่ยวกับแนวทางรักษาความเป็นกลางทางคาร์บอนพร้อมกับแผนการดำเนินงานของบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 75% ภายในปี 2030 พร้อมกับพัฒนานวัตกรรมลดคาร์บอนฟุตพรินต์โดยรวมที่เหลืออีก 25%

เน้นวัสดุรีไซเคิล-พลังงานหมุนเวียน

สำหรับโรดแมปที่จะมุ่งหน้าสู่การเป็นบริษัทที่ส่งผลกระทบเป็นศูนย์ต่อสภาพอากาศภายในปี 2030 นั้น ได้เริ่มดำเนินการมาสักพักแล้ว อย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งใช้วัสดุที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลง และสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ทั้งหมด

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad, Mac และ Apple Watch ที่วางจำหน่ายในปีที่ผ่านมานั้นถูกผลิตขึ้นจากวัสดุรีไซเคิลได้ รวมถึงแร่ธาตุโลหะหายากที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ด้วย

ทำให้ในปี 2019 ที่ผ่านมา แอปเปิล สามารถลดการสร้างคาร์บอนได้ 4.3 ล้านเมตริกตัน และจากการปรับปรุงการออกแบบ และนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้งานทำให้ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา ลดการใช้พลังงานเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ลงได้ถึง 73%

นอกจากนี้ แอปเปิล ยังได้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในด้านการรีไซเคิล อย่างหุ่นยนต์เดฟ ที่สามารถแยกชิ้นส่วน Taptic Engine ใน iPhone เพื่อนำแม่เหล็ก และทังสเตนที่เป็นโลหะหายากกลับมาใช้ใหม่ และหุ่นยนต์รุ่นใหม่ เดซี่ ที่จะสามารถแยกชิ้นส่วน iPhone ได้ทั้งเครื่อง

ถัดมาคือด้านพลังงาน ด้วยการหาแนวทางในการลดการใช้พลังงานในอาคาร โดยในปีที่ผ่านมา แอปเปิล ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานให้แก่อาคารสำนักงานแห่งใหม่ ในพื้นที่ 6.4 ล้านตารางฟุต สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 1 ใน 5 ช่วยประหยัดเงินให้แก่แอปเปิลถึง 27 ล้านดอลลาร์

เดซี่ หุ่นยนต์แยกชิ้นส่วน iPhone

นอกจากนี้ ยังเข้าไปจับมือเป็นพันธมิตร US-China Green Fund เพื่อให้เงินสนับสนุน 100 ล้านเหรียญ แก่โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานแบบเร่งด่วนให้ซัปพลายเออร์ของแอปเปิล ซึ่งมีอาคารกว่า 92 แห่งในปี 2019 ที่เข้าร่วม และลดการปล่อยคาร์บอนลงไปกว่า 779,000 เมตริกตันต่อปี

ขยายโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย

อีกหนึ่งเป้าหมายที่ แอปเปิล วางไว้คือ การรักษาระดับการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% พร้อมทำงานร่วมกับซัปพลายเชนทั้งหมดในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดแทน โดยปัจจุบันมีซัปพลายเออร์กว่า 70 รายที่เข้าร่วมในโครงการนี้ เทียบเท่ากับพลังงานเกือบ 8 กิกะวัตต์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งหากเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 14.3 ล้านเมตริกตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการนำรถยนต์ออกจากท้องถนน 3 ล้านคันในแต่ละปี

โดยที่ปัจจุบัน แอปเปิล มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนในแอริโซนา ออริกอน และอิลลินอยส์ ที่ป้อนให้แก่การใช้งานของบริษัทกว่า 1 กิกะวัตต์ เทียบเท่าพลังงานที่จ่ายให้แก่บ้านเรือน 150,000 หลังในแต่ละปี

นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะเปิดใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสแกนดิเนเวีย รวมทั้ง 2 โครงการใหม่ที่ให้พลังงานแก่ชุมชนที่ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ และไทย

สำหรับโครงการในประเทศไทยนั้น ทางแอปเปิล จะเข้าไปสนับสนุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และการเก็บรักษาการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ชุมชนชาวประมงบนเกาะจิก จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นชุมชนขนาด 100 ครัวเรือน มีประชากรอยู่อาศัย 400 คน

พร้อมกันนี้ แอปเปิล ได้เริ่มลงทุนในเรื่องการปลูกป่า และเข้าไปให้เงินสนับสนุนกองทุนเพื่อการแก้ปัญหาคาร์บอน เพื่อให้นำไปใช้ในการฟื้นฟู และพิทักษ์ป่า และระบบนิเวศทางธรรมชาติทั่วโลก

Source