“ซิตี้แบงก์” หั่นจีดีพีไทย -6.8% ตลาดหุ้นครึ่งปีหลังยังผันผวน เเนะกระจายลงทุนตลาด EM-เอเชีย

ซิตี้แบงก์ประเมินเศรษฐกิจโลกปีนี้ ติดลบ 3.5% ก่อนจะฟื้นเป็นบวก 5.5% ในปีหน้า ฝั่งสหรัฐฯ เเละยุโรปยังทรุดยาว โซนเอเชียจะฟื้นก่อนตามเศรษฐกิจจีน ปรับลดตัวเลขจีดีพีไทย ปี 2563 ติดลบ 6.8% หวังจะกลับมาเป็นบวก 3.5% ได้ในปีหน้า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ มองทิศทางตลาดหุ้นครึ่งปีหลังยังผันผวนแต่น้อยลง เเนะลงทุนหุ้นวัฏจักรกลุ่มสุขภาพเทคโนโลยีและทองคำ เน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย

บุญนิเศรษฐ์ ธัญวรอนันต์ ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากปัจจัยแนวโน้มความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก ทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ความไม่แน่นอนด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่ยังคงตึงเครียด สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯจีน รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ผันผวน

โดยคาดการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ว่าจะติดลบ 3.5% ก่อนที่ตลาดโลกจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 5.5% ในปี 2564 ในขณะที่ระดับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.8% และเพิ่มขึ้นเป็น 2.4% ในปี 2564 พร้อมปรับลดตัวเลขจีดีพีของไทยปีนี้ลง จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ -3.5% เป็น -6.8% และจะกลับมาบวก 3.5% ในปีหน้า เนื่องจากนโยบายการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ภาคการบริโภคจะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้

ในส่วนของจีดีพีสหรัฐฯ คาดว่าจะหดตัว -3.3% ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวจากตัวเลขอัตราการว่างงานที่ลดลง และตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนพ..ที่เพิ่มขึ้น ส่วนตัวเลขจีดีพีของยุโรปคาดว่าจะอยู่ที่ -6.7% จากมาตรการข้อจำกัดต่างๆ โดยแนวโน้มการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังอาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี กว่าจีดีพีจะกลับไปสู่ระดับเดิมเทียบเท่าช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำกว่า 0% ต่อเนื่อง 

ขณะที่เอเชียคาดว่าจะขยายตัว 0.5% โดยเฉพาะจีนอาจโตแตะ 2.4% เพราะมีกำลังซื้อในประเทศสูงเเละมีกิจกรรมทางธุรกิจหลังควบคุมการเเพร่ระบาดได้

Photo : Shutterstock

ไตรมาส 1 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เเละช่วงไตรมาส 2 ส่วนใหญ่ยังคงเห็นการถดถอยอยู่ ก่อนที่จะมีการค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมามีการฟื้นตัวใหม่อีกครั้ง แนวโน้มจะเป็นการฟื้นตัวแบบไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค

โดยคาดว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่” (Emerging Market) จะชะลอตัวลงเล็กน้อย -1.5% และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้น 6.4% ในปี 2564 ในทางกลับกันตลาดพัฒนาแล้วมีแนวโน้มการเติบโตชะลอตัว -5% ทำให้การลงทุนมีความความท้าทายสูง ถึงแม้ว่าตลาดทุนทั่วโลกกลับตัวบวก 40.6% จากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมเเล้ว แต่ก็ยังติดลบ 4% เมื่อเทียบกับต้นปี (ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 .. – 23 มิ. 63)

ด้านน้ำมัน ยังคงเป็นที่น่าจับตา โดยน้ำมันดิบยังมีอุปสงค์สวนทางกับอุปทานจึงคาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 42 และ 38 ดอลลาร์สหรัฐต่อบารร์เรลตามลำดับ

ทองคำ ยังเป็นที่ต้องการของตลาด มองดอกเบี้ยที่ต่ำมาก และการทำ QE ของแต่ละประเทศใหญ่ๆ ทำให้เกิดภาวะเม็ดเงินล้นระบบ นักลงทุนสนใจลงทุนในทองคำมากขึ้น “เป็นเทรนด์ขาขึ้น” โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,600 -1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และมีแนวโน้มว่ามูลค่าเฉลี่ยจะขยับขึ้นในระดับประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในปี 2564

ส่วนประเด็นค่าเงินต้องจับตาเป็นพิเศษเพราะยังคงมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้คาดยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะกลางถึงระยะยาว จากปัจจัยการขยายงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อตอบสนองสภาพคล่องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนกรอบความเคลื่อนไหวเงินบาทไทยคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 31.0 – 31.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% จนถึงต้นปี 2564

Photo : Freepik

สำหรับการลงทุน เเนะให้เน้นไปที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชีย และกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย โดยแบ่งเป็น 4 ธีม ดังนี้ 

  • ลงทุนกระจายความเสี่ยงลดความผันผวน
  • ลงทุนบริษัทที่มีการเติบโตที่ดี
  • ลงทุนในตราสารหนี้ที่ยังคงให้ดอกเบี้ยที่ดี
  • ลงทุนในสิ่งที่ปลอดภัย

โดยเเนะนำให้ลงทุนใน กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สุขภาพ กลุ่มโทรคมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชั่น (Digitalization) รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สกุลเงินเยน เเละการลงทุนในทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพอร์ตโฟลิโอการลงทุน โดยต้องเฝ้าติดตามประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ในระยะยาว และลดความเสี่ยงจากการลงทุนท่ามกลางสภาวะผันผวน