โบกมือลาบ้านเกิด! นักเรียน “ฮ่องกง” แห่เรียนต่อมหา’ลัยออสเตรเลีย หนีกฎหมายความมั่นคง

แม้นักเรียนชาติอื่นๆ จะสมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของออสเตรเลียลดลงฮวบฮาบ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แต่จำนวนนักเรียนจากฮ่องกงกลับเพิ่มขึ้น 16% เพื่อแสวงหาโอกาสย้ายประเทศถาวร หลีกหนีกฎหมายความมั่นคงและการควบคุมของรัฐบาลจีน

Reuters รายงานข้อมูลจากรัฐบาลออสเตรเลีย แสดงตัวเลขจำนวนชาวฮ่องกงที่สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยออสเตรเลียพุ่งสูงที่สุดในรอบ 3 ปี โดยที่เพิ่งจะผ่านพ้นครึ่งปีแรกของปี 2020 เท่านั้น ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่น่ากังวลของฮ่องกง หลังรัฐบาลจีนเริ่มบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแล้ว

จำนวนนักเรียนฮ่องกงสมัครเข้าเรียนต่อที่ออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 16% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับนักเรียนสัญชาติอื่นๆ ในโลกซึ่งสมัครเรียนต่อที่ออสเตรเลียลดลงมาก เนื่องจากโรคระบาด COVID-19 ทำให้นักเรียนจำนวนมากเลื่อนแผนการเรียนต่อต่างประเทศไปก่อน

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ เชื่อว่าเกิดขึ้นจากความหวั่นเกรงต่ออนาคตความเป็นอยู่ของเยาวชนฮ่องกง ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีน

ขณะที่ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมอันดับ 3 ในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาต่างประเทศ รองจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อีกทั้งออสเตรเลียยังเพิ่งจะออกประกาศนโยบายต่อวีซ่าให้อีก 5 ปีทันทีสำหรับนักเรียนฮ่องกงที่เข้ามาเรียนต่ออุดมศึกษาในประเทศ พร้อมสิทธิยื่นขอเป็นผู้พำนักถาวร (PR) หลังหมดช่วงต่อวีซ่า 5 ปี ทำให้ออสเตรเลียเป็นประเทศยอดฮิตในการ “ย้ายถิ่นฐาน” ของคนฮ่องกง

“เราเห็นการขอวีซ่าของนักเรียนฮ่องกงและผู้พำนักอาศัยในฮ่องกงเติบโตอย่างรวดเร็วทันทีที่รัฐบาลประกาศนโยบายดังกล่าว” ไซมอน เดอ เวียร์ ผู้อำนวยการศูนย์ผู้อพยพสากล Stirling Henry กล่าว

ภาคธุรกิจการศึกษาของออสเตรเลียถือเป็นตลาดบริการใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ รองจากธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจนี้สามารถสร้างมูลค่าให้ประเทศถึงปีละ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 8.32 แสนล้านบาท) แต่ธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาด COVID-19 โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยประเมินว่าธุรกิจของพวกเขาน่าจะสูญรายได้ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 3.6 แสนล้านบาท) ในช่วงปีนี้จนถึงปี 2023

ส่วนกลุ่มนักเรียนที่ชะลอการเรียนต่อที่ออสเตรเลียมากที่สุดก็คือนักเรียนจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมีการสมัครเข้าเรียนต่อต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2012 เทียบเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก

Source