เจาะกลยุทธ์ ‘1+8+N’ กับภารกิจสร้าง ‘อาณาจักรหัวเว่ย’ ในมือผู้บริโภค

เป็นที่รู้กันว่า ‘หัวเว่ย’ (Huawei) ได้ถูกกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มชื่อหัวเว่ยเข้าใน ‘Entity List’ หรือบัญชีดำการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2562 จน ‘กูเกิล’ (Google) ได้ออกมาแบนหัวเว่ย ส่งผลให้ไม่สามารถใช้บริการของกูเกิล หรือ GMS (Google Mobile Services) ได้ ซึ่งหัวเว่ยเองก็ไม่ง้อ พร้อมกับเปิดตัวบริการ HMS (HUAWEI Mobile Services) แทนเพื่อทำหน้าที่แทน GMS

โตไม่ง้อ Google

ในช่วงแรกที่หัวเว่ยถูกแบน แน่นอนว่าส่งผลต่อความมั่นใจของผู้บริโภคแน่นอน แต่ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวระบบ HMS ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยอดขายสมาร์ทโฟนที่ใช้ HMS มียอดขายจนเกือบเท่ารุ่นที่มีบริการ GMS เรียบร้อย แถมปัจจุบัน 90% ของแอปยอดนิยมของไทยกลุ่ม Top 200 เข้ามาให้บริการที่ระบบแล้ว ส่งให้จำนวนผู้ใช้ Huawei ID ทั่วโลกแตะระดับ 300 ล้านบัญชี ส่วนไทยทะลุ 4 ล้านบัญชี ซึ่งถือเป็นข้อบ่งชี้ว่า ลูกค้าไม่ได้กังวลเรื่องการใช้งาน เพราะการที่มี HMS ก็สามารถใช้บริการของกูเกิลได้เหมือนกัน

ล่าสุด บริษัทวิจัย Canalys ระบุว่า หัวเว่ยมียอดจัดส่งสมาร์ทโฟนสูงถึง 55.8 ล้านเครื่องในไตรมาสที่ผ่านมา แม้จะลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่หัวเว่ยกลับสามารถแซง ‘ซัมซุง’ ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ผู้นำสมาร์ทโฟนโลก ซึ่งยอดขายของซัมซุงนั้นลดฮวบถึง 30% อยู่ที่ 53.7 ล้านเครื่อง นับเป็นไตรมาสแรกในรอบ 9 ปี

1+8+N แผนระยะยาวมัดใจลูกค้า

อย่างไรก็ตาม การขึ้นนำในครั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายคนจะมองว่าเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ เพราะยอดขาย 70% มาจากจี ดังนั้นหากตลาดโลกฟื้นตัวยอดขายของแบรนด์อื่น ๆ อาจฟื้นกลับมา ดังนั้น หัวเว่ยต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อครอบครองตลาดโลก ซึ่งแผนดังกล่าวก็คือ การสร้างอีโคซิสเต็มส์ภายใต้แนวคิด ‘Seamless AI Life’ หรือ ‘ชีวิตเอไอ ไร้รอยต่อ’ จนเกิดเป็น ‘1+8+N’ ซึ่งจะเป็นการสร้าง ‘อีโคซิสเต็มส์’ ให้กับผู้ใช้โดยมี ‘1’ คือ สมาร์ทโฟนที่จะเป็นศูนย์กลางที่จะนำไปสู่การใช้งานสินค้าอื่น ๆ หรืออุปกรณ์หลักที่จะเป็นหัวใจในการเชื่อมต่อและควบคุมการทำงานของดีไวซ์อื่น ๆ

ด้าน ‘8’ หมายถึง สมาร์ทดีไวซ์อื่น ๆ ที่ใช้เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ได้แก่ แล็ปท็อป, แท็บเล็ต, สมาร์ทวอทช์, หูฟังไร้สาย, แว่นตาวีอาร์, หน้าจออัจฉริยะ, ลำโพง และรถยนต์ ส่วน ‘N’ หมายถึง อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) และเครื่องหมาย ‘+’ หมายถึง เครือข่ายการเชื่อมต่อในบริเวณกว้าง (WAN) และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระยะใกล้ เช่น Huawei Share และ HiLink ที่จะผสานเครือข่ายอีโคซิสเต็มของหัวเว่ยให้สมบูรณ์

แผนเหมือนคนอื่น แต่แตกต่างด้วยเทคโนโลยี

กลายเป็นว่าการที่หัวเว่ยไม่สามารถใช้กูเกิลได้อาจจะเป็นจุดเเข็ง เพราะเหมือนกับโหมดบังคับให้หัวเว่ยต้องมี OS ของตัวเองหรือ HamonyOS ที่เป็นระบบปฏิบัติการกลางเพื่อครอบคลุมดีไวซ์ทุกตัวซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้เชื่อมต่อและใช้งานหลายอุปกรณ์พร้อมกันได้อย่างสะดวก, รวดเร็ว และเสถียร บวกกับฟีเจอร์ HUAWEI Share ซึ่งสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ แบ่งปันข้อมูล แชร์ศักยภาพการทำงานระหว่างอุปกรณ์ ผ่านการแตะอุปกรณ์เข้าด้วยกันเพียงสัมผัสเดียว (One Tap) หมดปัญหาความยุ่งยากไปโดยปริยาย

ดังนั้น เทคโนโลยี จะเป็น ข้อแตกต่าง ของแบรนด์อื่น ๆ ที่พยายามจะสร้างอีโคซิสเต็มส์และดันยอดขายของ IoT ซึ่งเป็นดีไวซ์ที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในยุค 5G ที่ผ่านมา

ไม่มีเป้าหมาย แต่มั่นใจช่วยดันยอดขาย

แม้จะไม่ได้มีตัวเลขชัดเจนว่าผู้ใช้งานหัวเว่ย 1 คนจะมีดีไวซ์ของหัวเว่ยกี่ชิ้น รวมถึงไม่ได้ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าแผนจะให้ผลลัพธ์อย่างไร แต่หัวเว่ยมั่นใจว่าแผนนี้จะเพิ่ม ‘ยอดขาย’ ให้แน่นอน เพราะหากวัดจากการเติบโตของสมาร์ทดีไวซ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน อย่างคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป (PC) และหูฟังไร้สายก็เติบโต 200% ส่วนอุปกรณ์ Wearable เติบโต 170% นอกจากนี้ บัญชี Huawei ID ถือเป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดปริมาณการใช้งานระบบซอฟต์แวร์ในอุปกรณ์หัวเว่ย ปัจจุบันก็มีผู้ใช้มากกว่า 50 ล้านราย มีจำนวนอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบ (ไม่นับสมาร์ทโฟน) ราว 180 ล้านชิ้น และจำนวนพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจของอีโคซิสเต็ม HiLink ที่เพิ่มมากกว่า 800 รายทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยนั้น หัวเว่ยได้นำสินค้าเข้ามาจำหน่าย 5 ใน 8 ชิ้น ได้แก่ ได้แก่ สมาร์ทโฟน, แล็ปท็อป, แท็บเล็ต, สมาร์ทวอทช์ และหูฟังไร้สาย เหลือแว่นตาวีอาร์, หน้าจออัจฉริยะ, ลำโพง และรถยนต์ แต่ในไตรมาสแรกของปี 2021 หัวเว่ยได้เตรียมนำลำโพงเข้ามาทำตลาดในไทยแน่นอน

จากนี้คงต้องจับตาดูตลาด IoT ยาว ๆ ว่าจะแข่งขันกันดุเดือดแค่ไหน เพราะตลาดสมาร์ทโฟนเองค่อนข้างจะอิ่มตัวมานาน ขณะที่ 5G จะเข้ามากระตุ้นให้คนเริ่มมองหาสมาร์ทดีไวซ์ ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่การใช้ 5G ใช้ได้อย่างแพร่หลาย ผู้บริโภคคงได้เห็นสงคราม IoT อย่างเต็มรูปแบบแน่นอน