เติบโตอย่างยั่งยืนในแบบ ‘Uniqlo’ เพราะแค่งดใช้ถุงพลาสติกยังไม่พอ

เมื่อการมุ่งเน้นทำแต่กำไรอาจไม่สามารถตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้น การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่าง คน สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแนวทางที่ ‘ยูนิโคล่’ (Uniqlo) เลือกเดินหน้าเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจไปพร้อม ๆ กับโลกใบนี้ โดยคุณจันทร์จิรา ตอชะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จะมาเป็นผู้บอกเล่าถึงการทำงานของยูนิโล่ประเทศไทยเพื่อสร้างความยั่งยืน

จันทร์จิรา ตอชะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน ยูนิโคล่ (ประเทศไทย)

ไม่ใช่แค่ลดพลาสติก แต่ใช้นวัตกรรมเพื่อรีไซเคิล

เป็นที่รู้กันว่ายูนิโคล่มีนโยบายในการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยมีเป้าหมายที่จะลดให้ได้ 85% หรือปีละ 7,800 ตัน และสำหรับยูนิโคล่ประเทศไทยที่มีการใช้ถุงพลาสติกและแพ็กเกจจิ้งต่าง ๆ ประมาณ 9.3 ล้านชิ้น/ปี แต่ปีนี้บริษัทก็ได้เริ่มเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งจากพลาสติกเป็นกระดาษแทน มีการจำหน่ายถุงผ้าที่ผลิตจากผ้าฝ้าย รวมถึงจำหน่ายถุงกระดาษในราคาใบละ 2 บาท ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยรายได้ส่วนนี้ ยูนิโคล่จะมอบให้กับมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WARF)

นอกจากนี้ ยูนิโคล่ยังเปลี่ยนหลอดไฟหน้าร้านเป็น LED ทั้งหมด ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานได้ราว 20-25% และในส่วนเทคโนโลยี ยูนิโคล่ได้นำมาช่วยลดการใช้ทรัพยากรการผลิตสินค้า เช่น ลดการใช้น้ำในการผลิตยีนส์ถึง 99%, ผลิตเสื้อโปโล DRY-EX ซึ่งทำจากขวดพลาสติก PET และล่าสุด ได้เปิดรับบริจาคผลิตภัณฑ์ดาวน์ขนเป็ดที่ลูกค้าไม่ใช้แล้ว ก่อนจะนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลและนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยยูนิโคล่เตรียมวางจำหน่ายสินค้าดาวน์ขนเป็ดที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลในฤดูหนาวที่จะถึงนี้

พร้อมให้โอกาสเติบโตกับพนักงานทุกระดับ

ปัจจุบัน ยูนิโคล่มีพนักงานเกือบ 2,000 คน ซึ่งแบ่งเป็นพนักงานออฟฟิศราว 150 คน ที่เหลือทำงานประจำอยู่ที่สาขา โดยเป็นพนักงานประจำราว 60% และพาร์ตไทม์ 40% และแม้ในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา ยูนิโคล่ต้องปิดสาขาลงทั้งหมด แต่บริษัทไม่ได้มีการจ้างพนักงานออก โดยใช้เวลาดังกล่าวในการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ

และเพื่อสนับสนุนให้พนักงานสามารถเติบโตไปพร้อมกับบริษัท ยูนิโคล่จึงมีโปรแกรมสนับสนุนพนักงานให้มีการพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ไปทำงานแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ และโครงการผู้จัดการร้านฝึกหัด พร้อมเพิ่มโอกาสในการเป็นผู้จัดการร้าน รวมถึงการเติบโตไปอยู่ในระดับ management

นอกจากนี้ ยังปฏิบัติอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเชื้อชาติ เพศ ศาสนา ช่วงวัย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำงาน รวมถึงการให้โอกาสกับผู้พิการในการทำงานซึ่งปัจจุบันมี 23 คน และเป้าหมายสูงสุดคือ 1 ร้าน ต้องมี 1 คน จากทั้งหมด 51 สาขา นอกจากนี้ ยูนิโคล่ยังเน้นเรื่องสุขอนามัย สุขภาพ ความแข็งแรง ความปลอดภัยในการทำงาน ออกแบบร้านเพื่อให้เกิดอุบัติเหตุน้อยสุด

“เราเปิดโอกาสให้กับพนักงานทุกระดับได้เติบโต โดยที่ผ่านมามีพนักงานพาร์ตไทม์สามารถเติบโตเป็นระดับผู้จัดการร้านได้ เราได้รับรางวัลเรื่องการจ้างงานผู้พิการ โดยเราจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่จ้างแล้วจบไป แต่เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้”

ชุมชนต้องยั่งยืนด้วย

นอกจากการสนับสนุนผู้บผู้พิการในการทำงานแล้ว ยูนิโคล่ยังมีโปรแกรม Education Center และ In-Store Shopping Experience ที่ให้ความรู้และสอนทักษะการทำงานในร้านยูนิโคล่ สำหรับผู้บกพร่องทางสติปัญญาจัดขึ้นมาแล้ว 2 ปี จากความร่วมมือของยูนิโคล่กับสถาบันราชานุกูล เพื่อสร้างโอกาสในการทำงาน และเสริมทักษะด้านสังคมและการเรียนรู้สำหรับเยาวชนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

นอกจากนี้ ยูนิโคล่ได้เปิดรับบริจาคเสื้อผ้าแล้ว 78,000 ชิ้น ให้กับผู้ขาดแคลนกว่า 4,500 คน ผ่านพาร์ตเนอร์ เช่น สมาคมอาสาสมัครสันติ (Shanti Volunteer Association – SVA) คณะกรรมการการศึกษาเพื่อผู้อพยพชาวพม่า (Burmese Migrant Workers’ Education Committee – BMWEC) ในจังหวัดตาก และมูลนิธิบ้านร่มไทร จังหวัดเชียงใหม่ และในช่วงวิกฤติ Covid-19 ได้บริจาคหน้ากาก 500,000 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยรวมทั่วโลก ยูนิโคล่ได้บริจาคหน้ากากแล้วถึง 10 ล้านชิ้น

“ตอนแรกเราอยากเป็นที่ 1 อยากมีผลกำไรสูงสุด แต่จริง ๆ แล้วการที่เราจะประสบความสำเร็จอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสังคมและโลกนี้ให้ดีขึ้น นั่นคือความสำเร็จที่ยั่งยืนมากกว่า นี่คือสิ่งที่เรายึดถือในการทำงานในปัจจุบัน”