Shopee เปิดให้ “เน็ตไอดอล” รีวิวสินค้า แถมมีค่าคอมฯ ตอบแทน รับยุค Influencer Commerce!

ถ้าหากช่วงนี้คุณได้เห็นเหล่า “อินฟลูเอนเซอร์” พากันรีวิวสินค้าพร้อมตบท้ายด้วยลิงก์ซื้อผลิตภัณฑ์ได้ใน Shopee ขอให้ทราบว่านั่นคือกลยุทธ์ใหม่ของแพลตฟอร์มรายนี้ เพราะอินฟลูเอนเซอร์ที่ส่งลูกค้าเข้าไปกดซื้อได้จริงตามลิงก์ จะได้รับค่าคอมมิชชันการขายด้วย! ถือเป็นไอเดียการตลาดแบบวิน-วินทั้งสองฝ่าย เพราะแพลตฟอร์มได้ขายของแน่นอน ส่วนอินฟลูเอนเซอร์จะมีรายได้ตามศักยภาพตัวเอง ขณะที่ในมุมลูกค้า…นี่อาจจะเป็นกลวิธีขายของแบบใหม่ที่ต้องระวังตัว

เท่าที่สืบค้นได้จาก Shopee Blog อีคอมเมิร์ซเจ้านี้เริ่มเปิด Shopee Affiliate Influencer Program ครั้งแรกช่วงเดือนมีนาคม 2563 และมีการย้ำการเปิดรับสมัครอีกครั้งช่วงเดือนมิถุนายนนี้เอง โดยรับจำนวนจำกัด

กลยุทธ์ของโปรแกรมนี้คือการรับสมัคร “อินฟลูเอนเซอร์” มาช่วยโปรโมตสินค้าจากแพลตฟอร์ม Shopee อินฟลูเอนเซอร์ที่ได้รับเลือกสามารถรีวิวสินค้าที่มีขายใน Shopee ได้ไม่จำกัดจำนวน จะเป็นสินค้าใดก็ได้ หรือจะโปรโมตตัวแคมเปญโปรโมชันของแพลตฟอร์มก็ได้ ลักษณะการโปรโมตก็ระบุว่าไม่จำกัดเช่นกัน จะเขียนโพสต์เองในช่องทางของตัวเอง หรือไปคอมเมนต์ตามโพสต์ต่างๆ ก็ได้

ทีเด็ดของโปรแกรมนี้คือ Shopee จะมีระบบให้อินฟลูเอนเซอร์สร้างลิงก์เข้าไปที่หน้าสินค้า และถ้ามีคนคลิกตามลิงก์นั้นเข้าไปจนเกิดการซื้อจริง ผู้รีวิวสินค้าจะได้ค่าคอมมิชชันด้วย อัตราค่าคอมฯ ตั้งแต่ 3-28%

ส่วนคุณสมบัติของอินฟลูเอนเซอร์ ทางแพลตฟอร์มระบุว่าไม่จำกัดยอดฟอลโลเวอร์เลย ขอแค่มีช่องทางออนไลน์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Facebook (เป็นหน้าเพจหรือส่วนตัวก็ได้) Instagram Twitter หรือ YouTube เมื่อเข้าไปที่ช่องทางสมัครเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ระบบจะให้ใส่ url ช่องทางที่ผู้รีวิวจะใช้ในการโพสต์สินค้า จากนั้นต้องรออีเมลตอบกลับว่าจะได้รับเลือกหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ของ Shopee จะระบุวิธีสร้างลิงก์เฉพาะของตนเองเพื่อใช้ส่งลูกค้าไปที่หน้าสินค้า

 

วิน-วินเกม Shopee ได้ขาย นักรีวิวได้เงิน

วิธีการของ Shopee ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะแทนที่จะทุ่มเม็ดเงินโฆษณาไปกับอินฟลูเอนเซอร์ที่มียอดผู้ติดตามจำนวนสูงๆ หลักแสนหรือหลักล้านคน โดยไม่ได้รับประกันยอดขายที่จะได้เข้าแพลตฟอร์ม แต่โปรแกรมนี้สังเกตว่าคนที่เข้าร่วมโปรแกรมมักจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีคนติดตามหลักพันคนถึงหมื่นคน ซึ่งจะหาทางเขียนรีวิวสินค้าให้น่าสนใจด้วยตนเองเพื่อให้มีคนซื้อ และแพลตฟอร์มจะจ่ายค่าคอมฯ ก็ต่อเมื่อได้ยอดขายจริงเท่านั้น

ส่วนอินฟลูเอนเซอร์เองก็ไม่ต้องรอให้ใครมาจ้าง แต่สามารถเลือกรีวิวสินค้าที่สนใจได้ไม่จำกัด รายได้ที่จะได้ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของตัวเองในการเขียนรีวิวให้คนสนใจเป็นวงกว้าง และความขยันที่จะเลือกหยิบสินค้ามารีวิวบ่อยๆ

ตัวอย่างการรีวิวพร้อมติดลิงก์

 

ความเสี่ยงตกกับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าวิธีนี้จะไม่มีข้อเสีย เพราะคนที่เสี่ยงได้รับผลเสียมากที่สุดก็คือ “ผู้บริโภค” นี่เอง

เพราะใช้ค่าคอมมิชชันดึงดูดใจเหล่านักรีวิว และไม่มีกฎเกณฑ์การเลือกสินค้ารีวิว ทำให้อินฟลูเอนเซอร์สามารถเลือกสินค้าใดก็ได้โดยที่ “ไม่ต้องเคยซื้อหรือเคยใช้จริงก็ได้” แต่นำรูปที่มีอยู่ทั่วไปหรือรูปที่ร้านค้าใช้ลงขายในแพลตฟอร์มมาประกอบการโพสต์รีวิวเสมือนว่าเคยใช้งานจริง ลักษณะคล้ายกับที่แบรนด์จ้างรีวิวโดยไม่แจ้งผู้ติดตามว่าเป็นงานจ้าง แต่ด้วยวิธีนี้เป็นวิธีใหม่ แถมยังมีลิงก์ช่องทางการซื้อเหมือนกับว่าอินฟลูเอนเซอร์เคยซื้อผ่านร้านนั้นจริง ทำให้ผู้บริโภคหลายรายเชื่อถือ

ผลเสียที่ตามมาคือสินค้านั้นอาจจะไม่ดีจริงสมคำรีวิว ทำให้ผู้บริโภคตัวจริงที่ซื้อตามมีเสียงสะท้อนกลับว่าถูกอินฟลูเอนเซอร์หลอกลวง และอาจจะเป็นผลเสียต่อเนื่องถึงแพลตฟอร์ม Shopee ได้ วิธีการนี้จึงเป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งเป็นช่องทางช่วยโปรโมตสินค้าที่ได้ผลดีเยี่ยม แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะทำให้แพลตฟอร์มเสียความน่าไว้วางใจไป

ต้องดูกันต่อไปยาวๆ ว่า Shopee จะปรับกลยุทธ์อย่างไรหรือไม่ ส่วนผู้บริโภคทั่วไปอาจจะต้องระมัดระวังก่อนซื้อสินค้า ด้วยกลยุทธ์การขายแบบใหม่ที่ทำให้การรับเงินมารีวิวยิ่ง “เนียน” ขึ้นกว่าเดิม