บริหารการเงินอย่างไร เพื่อ ‘ยืนหนึ่ง’ ได้ในยุค New Normal เผยเคล็ดลับ ‘คาถาฝ่าวิกฤตการเงิน’ โดย ‘ฐากร ปิยะพันธ์’ และ ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’

รายการ ‘NEW NORMAL, MORE MONEY’ คือซีรี่ส์ไลฟ์สตรีมมิ่งล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในเฟซบุ๊กแฟนเพจฉลาดคิด ฉลาดใช้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญสื่อสารออนไลน์ในโครงการฉลาดคิด ฉลาดใช้ เพื่อให้ความรู้ทางการเงินแก่คนรุ่นใหม่โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเพื่อช่วยให้ทุกคนก้าวข้ามผ่านทุกปัญหาทางการเงินในช่วงวิกฤต Covid-19 กับเหล่ากูรูจากแวดวงธุรกิจและยูทูบเบอร์คนดังที่มีไลฟ์สไตล์น่าสนใจจะมาช่วยหาคำตอบกับทุกคำถามการเงินในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาสและวางแผนเพื่อสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคง โดยตอนแรกที่เพิ่งออกอากาศไปกับประเด็น‘บริหารเงินให้รอดในยุค New Normal’ กับคุณฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรีคอนซูมเมอร์ และคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารแบรนด์เครื่องสำอางศรีจันทร์และเจ้าของเพจ Mission to the Moon ดำเนินรายการโดยดีเจโบ-ธนากร ชินกูลพิธีกรชื่อดัง

คุณฐากร ปิยะพันธ์ ได้แนะเคล็ดลับการบริหารการเงินส่วนบุคคลในหลายประเด็นว่า “1.กำเงินสด ลดค่าใช้จ่าย-คือคาถาฝ่าวิกฤตการเงินที่เป็นเคล็ดลับการเอาตัวรอดในยุค New Normal เพราะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องประหยัด, เก็บออม,ประเมินความจำเป็นในการจับจ่ายซื้อของ และควรเตรียมเงินฉุกเฉิน (Emergency Fund) ไว้ให้พร้อมอย่างน้อย 6 เท่าของเงินเดือนเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองในยามเกิดวิกฤต2. รายได้ที่ 2 คือทางรอด– สำหรับยุค New Normal แล้ว การมีรายได้ทางเดียวคือความเสี่ยง ทุกคนควรหาโอกาสสร้างรายได้ทางที่ 2 ด้วยการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะ เช่น ขายของออนไลน์, เป็นยูทูบเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ หรือบล็อกเกอร์สร้างคอนเทนต์ในสื่อโซเชียลมีเดียเป็นต้น ใครจะรู้ รายได้ทางที่ 2 ในวันนี้ อาจกลายเป็นรายได้หลักในวันหน้าก็เป็นได้3. ออมวันนี้เพื่อชีวิตเกษียณในวันหน้า–ความเจริญทางการแพทย์ในยุคนี้ทำให้คนอายุยืน ดังนั้น การวางแผนการเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญและทุกคนจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ด้วยวิธีจัดสรรปันส่วนเงิน แบ่งเป็นเงินไว้ใช้จ่าย, เงินออมสัดส่วนการออมที่เหมาะสมคือประมาณ 20-30% ของรายได้ และเงินลงทุน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาก่อนเลือกลงทุนและทำบันทึกการลงทุนทุกครั้งเพื่อเก็บเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในอนาคต”

ส่วนคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ได้ให้ข้อคิดการบริหารการเงินขององค์กรว่า “1.รักษาองค์กรด้วยหลักการ 3 ประสาน–สำหรับ 3 เรื่องหลักในภาวะวิกฤตที่องค์กรควรติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดทุกวันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าก่อนที่ปัญหาจะลุกลามคือ การรักษากระแสเงินสด (Cashflow) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารการเงินองค์กร, สินค้าคงคลัง (Inventory) เพราะเป็นปัจจัยที่จะทำให้องค์กรต้องเสียเงินในการดูแลรักษาและสต๊อกสินค้า, ลูกค้า (Customer) และธนาคาร (Bank) เพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจสถานการณ์รวมทั้งหาวิธีการรับมือและแก้ไขปัญหา 2.‘ตัวเบา’ คือ วิถีการบริหารองค์กรในยุค New Normal–องค์กรที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก ๆ (Heavy Assets) จำเป็นต้องทำให้องค์กร‘ตัวเบา’ ด้วยการลดการถือครองทรัพย์สินให้มากที่สุดเพื่อลดภาระและลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ”

คุณฐากร ได้กล่าวเสริมในประเด็นเรื่องการบริหารการเงินขององค์กรว่า “เพิ่ม ‘วัคซีน’ ให้องค์กรอยู่รอด-องค์กรต้องเตรียมความพร้อม 3 ด้าน ซึ่งเปรียบเหมือนฉีดวัคซีนให้ธุรกิจแข็งแกร่งและอยู่รอดได้แก่ Diversificationคือ การแสวงหาโอกาสจากการทำธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้, Flexibilityคือ การยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์และ Innovationคือ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอดขององค์กร”

นอกจากการบริหารการเงินแล้ว ทั้งคุณฐากรและคุณรวิศยังฝากทิ้งท้ายว่าการเตรียมตัวเองให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค New Normal ก็เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ ดังนั้น ทุกคนจึงควรพัฒนาทักษะอยู่เสมอ โดยคุณสมบัติสำคัญที่ทุกคนควรมี คือการมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าพูด กล้าทำ และไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ  และสำหรับเด็กที่เพิ่งเรียนจบในปีนี้และการหางานทำเป็นเรื่องยาก หากอยากเพิ่มโอกาสให้ตัวเองกลายเป็นที่ต้องการในตลาดงานต้องรู้จักนำเสนอตัวเองด้วยพอร์ตโฟลิโอ(Portfolio)เพื่อทำให้องค์กรสนใจและอยากรับคุณเข้าทำงาน

ซีรี่ส์ ‘NEW NORMAL, MORE MONEY’ เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารแคมเปญออนไลน์ในโครงการฉลาดคิด ฉลาดใช้ ที่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินและการสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคงผ่านสื่อออนไลน์ของโครงการฯ คือ เฟซบุ๊กแฟนเพจฉลาดคิด ฉลาดใช้ ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยเริ่มทำงานสำหรับซีรี่ส์นี้จะออกอากาศสดทุกวันเสาร์ เวลา 18.00-19.00 น. ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563