TikTok ตามด้วย WeChat รายต่อไปที่จะถูก “ทรัมป์” แบน อาจเป็น Alibaba

สหรัฐอเมริกากำลังทำสงครามเทคโนโลยีกับจีน เริ่มจาก Huawei ที่ถูกแบนก่อน ตามด้วย TikTok โซเชียลมีเดียยอดฮิตของบริษัท ByteDance ล่าสุดคือ WeChat ของ Tencent ที่ถูกกีดกันออกจากตลาด ส่วนรายต่อไปจะเป็นใครนั้น บทวิเคราะห์จากสำนักข่าว CNN มองว่าอาจเป็น Alibaba ยักษ์อีคอมเมิร์ซระดับโลก

การตัดสินใจแบนบริษัทจีนเหล่านี้เป็นการยกระดับความเคลื่อนไหวในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อต่อต้านยุคเรืองอำนาจด้านเทคโนโลยีของประเทศจีน บีบบังคับให้บริษัทระดับโลกทั้งหมดต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างจีนหรือข้างสหรัฐฯ

“เรากำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และขณะนี้ภูมิรัฐศาสตร์กำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปทางประวัติศาสตร์” อเล็กซ์ คาปรี นักวิจัยจาก Hinrich Foundation และผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าว พร้อมเสริมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังสร้างข้อกล่าวหาโจมตีบริษัทเทคโนโลยีจีนเพิ่ม ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลนี้กำลังพยายามแยกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีออกเป็นสองค่ายโดยสิ้นเชิงอยู่

คาปรีกล่าวว่า Huawei หรือ ByteDance นั้นเมื่อถูกสหรัฐฯ เล่นงานก็เหมือนถูกตัดออกจากตลาดสำคัญไปทันที แต่ในกรณี Alibaba ปัจจุบันบริษัทยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นวงกว้างในโลกตะวันตก อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน จึงเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะเล็งเป้าที่ Alibaba เป็นรายต่อไป

แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของจีน

Alibaba ยังไม่ถูกข่มขู่ในรูปแบบเดียวกับที่บริษัทเพื่อนร่วมชาติถูกทรัมป์ข่มขู่หรือสั่งแบน และทรัมป์ถึงกับพูดถึง “แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้งบริษัทในแง่ดีด้วยซ้ำ โดยเรียกหม่าว่า “เพื่อนของเรา” เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากมหาเศรษฐีจีนรายนี้กล่าวว่าเขาจะบริจาคอุปกรณ์ต่อต้านไวรัสโคโรนาให้กับสหรัฐฯ

แต่นั่นคือภาพหน้าฉาก หลังฉากนั้นพบว่า “ไมค์ ปอมเปโอ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ลงชื่อ Alibaba เป็นหนึ่งในลิสต์บริษัทเทคโนโลยีจีนที่ “ไม่น่าไว้วางใจ” และร้องขอให้บริษัทเทคอเมริกันตัดการเชื่อมต่อกับบริษัทเหล่านี้ในเครือข่ายดิจิทัล

ลิสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ก่อน พร้อมกับคำกล่าวของปอมเปโอว่า ลิสต์นี้มีขึ้นเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันและทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจอเมริกัน หมายรวมถึงงานวิจัยด้านวัคซีนรักษาโรค COVID-19 ด้วย รัฐบาลต้องการปกป้องสิ่งเหล่านี้ให้พ้นจากระบบคลาวด์ของบริษัทอย่าง Alibaba และ Tencent

คาปรีกล่าวว่า บริษัทระดับสากลกลายเป็นเครื่องมือในการต่อรองและทรัพย์สินเชิงกลยุทธ์ของชาติไปแล้ว ไม่ว่าบริษัทจะชอบหรือไม่ก็ตาม

“บริษัทอย่าง Alibaba ถูกฟูมฟักขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ได้รับการป้องกันโดยสมบูรณ์ของประเทศจีน ประเทศที่ปิดกั้นคู่แข่งต่างชาติ ทำให้บริษัทสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดมาได้โดยไม่ต้องแข่งขันกับบริษัทต่างชาติเลย ขณะนี้เมื่อบริษัทจีนต้องการออกมาลงทุนต่างประเทศในตลาดแบบเปิดเช่นนี้ พวกเขากำลังเจอแรงต่อต้านกลับ” คาปรีกล่าว

 

เหวี่ยงแหที่ใหญ่กว่าเดิม

Alibaba เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดฮิตในประเทศจีนและตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงมีช่องทางเพย์เมนต์ Alipay เป็นเจ้าตลาดเคียงคู่มากับ WeChat

หากว่ารัฐบาลอเมริกันคว่ำบาตร Alibaba ก็คงไม่กระเทือนบริษัทนักในแง่รายได้ปัจจุบัน เพราะรายได้ 80% ของบริษัทนี้มาจากธุรกิจรีเทลและอีคอมเมิร์ซในประเทศจีน ขณะที่ธุรกิจรีเทลต่างประเทศมีสัดส่วนเพียง 7% ในรายได้รวม 5.097 แสนล้านหยวนของ Alibaba กระทั่งธุรกิจคลาวด์ของบริษัทก็มีสัดส่วนเพียง 10% ของรายได้ทั้งหมด โดยตัวเลขนี้เป็นตัวเลขรวมทั้งโลก ไม่ได้แยกตามภูมิภาค

การแบน WeChat ของสหรัฐฯ อาจจะเป็นภาพตัวอย่างที่อาจเกิดขึ้นซ้ำกับ Alibaba (Photo : Reuters)

แม้ว่าจะดูไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดสหรัฐฯ นักแต่คำสั่งแบน WeChat เมื่อสัปดาห์ก่อนทำให้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะกำลังพยายามเหวี่ยงแหให้ใหญ่กว่าเดิม

แดน หวัง นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีจากบริษัท Gavekal Dragonomics ในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า คำสั่งของสหรัฐฯ อาจจะทำให้บริษัทอเมริกันและชาวอเมริกันทั้งหมดไม่สามารถทำงานอะไรที่เกี่ยวกับแอปฯ WeChat ได้เลย แปลว่าเป็นการตัด WeChat ออกจากสารบบเทคโนโลยีอเมริกันทั้งหมด และทำให้ Tencent เข้าไม่ถึงซอฟต์แวร์และเซมิคอนดัคเตอร์ที่จำเป็นในการปฏิบัติการของ WeChat

“หากรัฐบาลสหรัฐฯ ทำแบบนั้นกับ Alibaba จะเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว” หวังกล่าว “Alibaba มีธุรกิจคลาวด์ขนาดใหญ่มากในจีนและธุรกิจนี้ต้องการซอฟต์แวร์กับเซมิคอนดัคเตอร์จากสหรัฐฯ เพื่อจะดำเนินการต่อไปได้”

Tmall แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ Alibaba ใช้เจาะตลาดสหรัฐฯ เมื่อปีก่อน

ปัจจุบันรายได้ของ Alibaba จะมาจากสหรัฐฯ น้อยมาก แต่ก็ยังเป็นตลาดสำคัญ เพราะปีก่อนบริษัทเพิ่งจะเปิดระบบอีคอมเมิร์ซให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจากสหรัฐฯ เข้ามาใช้งานด้วยแพลตฟอร์ม Tmall เวอร์ชันภาษาอังกฤษ จากหมุดหมายนี้บริษัทหวังว่าแบรนด์ต่างชาติบน Tmall จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 40,000 ร้านภายใน 3 ปี ทั้งนี้ แบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Apple, Nike, Johnson & Johnson มีร้านอยู่บน Tmall อยู่แล้ว

นอกจากเป็นตลาดหาลูกค้าแล้ว ความสัมพันธ์ของบริษัทกับสหรัฐฯ ยังลึกไปกว่านั้น เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดระดมทุนให้ด้วย จากการเลือกจดทะเบียนในตลาดหุ้นเมื่อปี 2557 บริษัท Alibaba เลือกจดที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก และระดมทุนมาได้ถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสถิติการเปิด IPO ที่ระดมทุนได้สูงที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น ก่อนจะมาถูกโค่นลงเมื่อปีก่อนจากการเปิด IPO ของบริษัท Saudi Aramco

 

บริษัทอเมริกันก็เจ็บไปด้วย

ฟากบริษัทอเมริกันก็ใช่ว่าจะได้ประโยชน์กันหมด บางส่วนจะต้องรับผลลบจากนโยบายคว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีจีนของรัฐ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐฯ บังคับให้ Apple ต้องถอดแอปพลิเคชันที่ “ไม่น่าไว้วางใจ” ออกจาก App Store เช่น แอปฯ จากบริษัท ByteDance, Tencent, Alibaba จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของ Apple ในตลาดจีนเสียแรงดีงดูดใจผู้บริโภคทันที เพราะแอปฯ WeChat ไม่ใช่แค่ใช้แชทกัน แต่เป็นแอปฯ สำหรับชีวิตประจำวันของคนจีนหลายร้อยล้านคน พวกเขาใช้แอปฯ นี้ในการเรียกรถแท็กซี่ จ่ายเงิน สั่งอาหาร โพสต์รูปบนโซเชียลมีเดีย ฯลฯ

(Photo by Sean Gallup/Getty Images)

ชิงเสี้ยว เฉา ผู้ก่อตั้ง Red Gate Asset Management ผู้จัดการการลงทุนอิสระที่เน้นการลงทุนในตลาดหุ้นจีน ถึงกับประเมินว่า ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งการเช่นนั้นจริง ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ Apple จะมากยิ่งกว่าที่เกิดกับ Tencent เพราะเมื่อปีก่อน Apple จำหน่ายสินค้าและบริการในจีน ไต้หวัน และฮ่องกง รวมกันเป็นมูลค่ามากกว่า 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 17% ของยอดขายรวมบริษัท

สงครามครั้งนี้จะจบลงเช่นไร และใครกันแน่ที่เจ็บ ต้องติดตามต่อแบบตาไม่กะพริบ!

Source