เอาบ้าง! “ไต้หวัน” เปิดศึกบริษัทเทคจีน เตรียมแบนแอปฯ สตรีมมิ่ง iQiyi และ WeTV

iQIYI
(Photo by VCG/VCG via Getty Images)
“ไต้หวัน” วางแผนแบนยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากจีนอย่าง iQiyi (อ้ายฉีอี้) และ WeTV โดยจะสั่งห้ามมิให้องค์กรหรือบุคคลใดทำงานร่วมกับทั้งสองแพลตฟอร์มนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ปกครองที่เปิดศึกกับบริษัทเทคโนโลยีจีนต่อจากสหรัฐฯ และอินเดีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไต้หวันเปิดเผยว่า คำสั่งดังกล่าวจะมีประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 3 กันยายนนี้ โดยจะสั่งการห้ามองค์กรและบุคคลใดทำงานร่วมกับบริษัทสตรีมมิ่งจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ทั้งสองบริษัทจะให้บริการบนเกาะไต้หวัน “อย่างผิดกฎหมาย” ไม่ได้ แม้แต่การดำเนินการผ่านตัวแทนผู้จัดจำหน่ายหรือเอเย่นต์ก็ไม่สามารถกระทำได้

iQiyi (อ้ายฉีอี้) นั้นเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายใหญ่ในเครือ Baidu โดยมีลักษณะคล้าย Netflix คือเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมซีรีส์ ภาพยนตร์ รายการวาไรตี้ ที่ผลิตโดยมืออาชีพมาให้สมาชิกได้รับชม แอปฯ iQiyi ยื่นขออนุญาตเปิดบริษัทย่อยในไต้หวันเมื่อปี 2559 แต่ทางการไต้หวันปฏิเสธการเปิดบริษัทไป

เนื่องจากไต้หวันมี “กฎหมายความสัมพันธ์ทางการปกครองระหว่างพื้นที่สาธารณรัฐไต้หวันกับพื้นที่แผ่นดินใหญ่” ซึ่งกำหนดให้บริษัทจีนสามารถลงทุนจำหน่ายสินค้าและให้บริการในไต้หวันได้เป็นบางหมวดเท่านั้น และบริการสตรีมมิ่งไม่อยู่ในรายการที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

WeTV เพิ่งเปิดตัวในไต้หวันไม่ถึงปี แต่มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 1 ล้านครั้ง

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์ม iQiyi และ WeTV ซึ่งเป็นคู่แข่งประเภทเดียวกันจากเครือ Tencent หลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมาย โดยการร่วมเป็นพันธมิตรกับธุกิจสื่อท้องถิ่นและตัวแทนจัดจำหน่ายในไต้หวัน เพื่อโปรโมตและบริการสตรีมมิ่งของตนเอง

สำนักข่าว Taipei Times รายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า iQiyi อาจจะมีสมาชิกถึง 6 ล้านคนบนเกาะไต้หวัน และมีสำนักข่าวท้องถิ่นรายงานเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อนว่า แพลตฟอร์มนี้มียอดวิวทะลุ 1,700 ล้านวิวไปแล้ว เนื่องจากซีรีส์สุดฮิต The Legend of Haolan ออกฉาย ส่วนแอปฯ WeTV มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1 ล้านครั้งในไต้หวัน หลังจากเปิดบริการมาไม่ถึง 1 ปี

“โคลาส โยทากะ” โฆษกหญิงรัฐบาลไต้หวัน กล่าวไว้เมื่อเดือนเมษายนว่า การอนุญาตให้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจีนให้บริการได้บนช่องว่างทางกฎหมาย ด้วยการไปจับมือกับบริษัทท้องถิ่น เป็นการ “ทำผิดต่อหลักประชาธิปไตย” และไต้หวันซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองจะร่างกฎหมายใหม่มาอุดช่องว่างนี้ จากนั้นจึงนำมาสู่การออกกฎหมายห้ามทำงานร่วมกับบริษัทสตรีมมิ่งจากจีน

Tencent ยังไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ ส่วน iQiyi กล่าวว่าให้ยึดคำแถลงจาก OTT Entertainment ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่นในไต้หวัน ทาง OTT กล่าวว่า “บริษัทจะยึดมั่นในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของสมาชิกผู้ใช้งานอย่างเต็มที่”

TikTok กลายเป็นสมรภูมิการต่อสู้ด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

สถานการณ์ธุรกิจเทคโนโลยีจีนช่วงนี้กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก ด้วยข้อกังวลว่าแอปฯ จีนเหล่านี้ไม่มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้และจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ทำให้สหรัฐอเมริกาและอินเดียเริ่มแบนแอปฯ จีนไปจำนวนมาก เช่น TikTok, WeChat สำหรับ TikTok นั้นถูกสหรัฐฯ สั่งการให้ถอนตัวออกจากตลาดภายใน 90 วัน ส่วนอินเดียมีการแบนแอปฯ จีนไปแล้วถึง 59 ราย หลังเกิดการปะทะของกองทัพจีนกับอินเดียบริเวณชายแดนจนมีผู้เสียชีวิต

“การตรวจสอบแอปฯ จีนในระดับสากลจากข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและความมั่นคงของชาติ ประเด็นนี้จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายธุรกิจของบริษัทอินเทอร์เน็ตจีน” เวย์-เซิร์น หลิง นักวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence กล่าว “การแบนแอปฯ เพื่อตอบโต้เอาคืนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เป็นวิธีที่นำมาใช้ได้ง่าย และยังสร้างผลเสียติดตามมาน้อยกว่าหากเทียบกับวิธีการอื่น เช่น ตั้งกำแพงภาษี”

Source