อ่านเกม OfficeMate โหม “แฟรนไชส์” มากกว่าติดสปีดสาขา คือ “คอนเนกชั่น” ท้องถิ่นล้วนๆ

OfficeMate บุกธุรกิจแฟรนไชส์ OfficeMate Plus+ หลังซุ่มปั้นมากว่า 1 ปี หวังใช้คอนเนกชั่นของผู้ประกอบการท้องถิ่นในการบุกตลาด เป้าขยาย 150 สาขา ภายใน 5 ปี ต้องเป็นศูนย์ขายสินค้าสำหรับธุรกิจ B2B ครบวงจรให้ได้

ต้องติดสปีดขยายสาขา

OfficeMate (ออฟฟิศเมท) ดำเนินงานภายใต้ บริษัท ออฟฟิศเมท (ไทย) จำกัด ในกลุ่ม บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งหน่วยธุรกิจภายในอาณาจักรเซ็นทรัล ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้มีปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรมากมาย รวมถึงการบริหาร ที่ล่าสุด “วรวุฒิ อุ่นใจ” CEO และผู้ก่อตั้ง ได้ลดบทบาทลง เพราะได้เบนเข็มเล่นการเมืองสังกัดพรรค “กล้า” อย่างเต็มตัว

โดยที่ OfficeMate ได้ทำตลาดมา 26 ปีแล้ว แต่เดิมได้วางจุดยืนเป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ จนขยายสู่เซ็กเมนต์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ได้ลงทุน 1,000 ล้านบาทในการสร้างคลังสินค้าไฮเทคอัจฉริยะ บนพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ถนนสุวินทวงศ์ จ.ฉะเชิงเทรา เรียกว่าเป็นการอัพสเกลเพื่อรองรับอีคอมเมิร์ซ

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เป็นบิ๊กมูฟของ OfficeMate ก็คือการบุกโมเดล “แฟรนไชส์” อย่างจริงจัง เรียกว่า OfficeMate Plus+ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นร้านสะดวกซื้อสำหรับองค์กร ซึ่งได้เริ่มนำร่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 สร้างร้านโมเดลต้นแบบร้านแรกที่สาขาหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี รังสิต

จนในปี 2019 เริ่มมีการขยายสาขามากขึ้น มีการขายแฟรนไชส์อย่างจริงจัง ทำให้ปัจจุบันมีทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.ปทุมธานี, สาขาหัวหิน, สาขา CK Plaza จ.ระยอง, สาขาเชียงราย, สาขาสกลนคร และสาขาบิ๊กซีปากช่อง จ.นครราชสีมา

โจทย์สำคัญของการบุกโมเดลแฟรนไชส์นั้น การติดสปีดในการขยายสาขาให้มากขึ้นนั่นเอง เพราะลำพังแค่บริษัทลงทุนเอง ขยายสาขาเองอย่างมากขยายได้ไม่กี่สาขาเท่านั้น การขยายสาขามากขึ้น รายได้ก็มากขึ้น อีกทั้งการใช้โมเดลแฟรนไชส์ ยังได้คอนเนกชั่นของคนในท้องถิ่นด้วย เป็นกลยุทธ์สำคัญของการประมูลงานต่างๆ

วิลาวรรณ ฤกษ์เกรียงไกร กรรมการผู้จัการใหญ่ ออฟฟิศเมท พลัส บอกว่า

“โจทย์ของ OfficeMate คือต้องการติดสปีดการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการขยายช่องทางการขายใหม่ๆ ต้องขยายได้เร็ว และมีการเพิ่มช่องทาง รวมถึงการเพิ่มสินค้าในเซ็กเมนต์ใหม่ๆ โมเดลแฟรนไชส์เป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มช่องทางการขาย เป็นการได้เซลล์เอเย่นต์มาช่วยขายนั่นเอง ตอนนี้ก็ยังตั้งเป้า 1 อำเภอ 1 แฟรนไชส์อยู่เหมือนเดิม”

โมเดลแฟรนไชส์ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นที่ 2.9 ล้านบาท มีขนาดพื้นที่เฉลี่ย 100-200 ตารางเมตร หลักการเลือกโลเคชั่นมีทั้งต้องเข้าถึงง่าย เห็นได้ชัดเจน และมีที่จอดรถ อาจจะอยู่ใกล้โรงงาน โรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ ด้วยก็ได้

พลังของ “คอนเนกชั่น”

ปัจจุบันเครือข่ายร้านอุปกรณ์สำนักงาน หรือร้านเครื่องเขียนทั่วประเทศมีอยู่หลายหมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นร้านระบบโลคอลที่มีสาขาเดียว และมีสินค้าจำกัดอยู่ไม่กี่กลุ่ม

ในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ OfficeMate ได้ขยายตัวเองสู่เซ็กเมนต์อื่นๆ ที่มีตลาดใหญ่มหาศาล สินค้าในโรงงาน, โฮเรก้า และสินค้าสถานพยาบาล จับกลุ่มทั้งองค์กรขนาดใหญ่ และ SMEs

ซึ่งในการทำตลาดพื้นที่ต่างจังหวัด ต้องยอมรับว่า “คอนเนกชั่น” ในพื้นที่มีความสำคัญมากจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการประมูลงาน หรือการรู้จักคนในพื้นที่ รู้จักสถานที่ต่างๆ พฤติกรรมของคนท้องถิ่น การได้แฟรนไชส์มาจึงช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ได้อย่างดี

วิลาวรรณเสริมว่า ผู้ซื้อแฟรนไชส์ OfficeMate Plus+ มีทั้งผู้ที่เคยทำร้านเครื่องเขียนมาก่อนก็มี แต่ในช่วงหลังมานี้เริม่มีคนที่คนที่เคยทำโรงงาน หรือมีพื้นที่ใกล้ๆ โรงงานก็มาซื้อแฟรนไชส์ เพราะมองเห็นโอกาสต่างๆ

ไม่หยุดแค่สินค้าสำนักงาน แต่ครอบจักรวาล B2B

OfficeMate มองว่าร้านแฟรนไชส์ หรือ OfficeMate Plus+ จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการเข้าถึงผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ได้ เพราะจุดแข็งที่มีสินค้าครอบคลุมในทุกกลุ่ม และมีช่องทางจัดจำหน่ายทั้งหน้าร้าน และ Omni Channel

ปัจจุบันบัน OfficeMate มีสินค้าในระบบทั้งหมดรวมกว่า 60,000 รายการทั้ง เครื่องเขียน, อุปกรณ์สำนักงาน, Gadget สินค้าไอที, เครื่องปริ้นต์ เมาส์, เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ และชั้นวาง ไปจนถึงสินค้าเฉพาะทาง เช่น อุปกรณ์นิรภัยส่วนบุคคล อุปกรณ์สำหรับโรงงาน และซ่อมบำรุง บรรจุภัณฑ์ และเครื่องใช้ในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และคาเฟ่

รองรับความต้องการของผู้ประกอบการท้องถิ่นรายย่อย SME, รีสอร์ต, โรงแรม, บริษัทเอกชนเล็กใหญ่, หน่วยงานราชการ, โรงงานอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา

วิลาวรรณบอกว่า ร้านโมเดลนี้เรียกว่าร้าน Disruptive B2B Omni Channel Franchise ขายสินค้าได้ครอบคลุมทุกความต้องการของธุรกิจ สามารถขายได้ตลอด 24 ชม. เพราะมีหลายช่องทางรองรับ และโมเดลแฟรนไชส์นี้ไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 เท่าไหร่นัก เพราะมีช่องทางออนไลน์รองรับ อีกทั้งยังมีหลายกลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการในช่วงของการล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะอุปกรณ์ทำความสะอาด และอุปกรณ์สำนักงาน เฟอรืนิเจอร์ ที่ตอบรับเทรนด์ Work from Home

แต่ 3 กลุ่มที่น่าจับตามอง มีการเติบโตสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์, อุปกรณ์โรงงาน (Factory Supplies) และธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และบริการจัดเลี้ยง (HORECA Supplies) แต่ละตลาดมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ อย่างเช่น ตลาดอุปกรณ์โรงงานมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท ไม่มีผู้เล่นในตลาดชัดเจน ไม่มีร้านที่เป็นศูนย์รวมขายสินค้าหลายๆ อย่างรวมกัน ส่วนตลาดโฮเรก้ามูลค่านับแสนล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูง มีการซื้อซ้ำเยอะ

เป้าหมายใหญ่ของ OfficeMate จึงต้องการขยายสินค้าที่ครอบคลุมจักรวาลความต้องการของธุรกิจ B2B เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้ประกอบการทั่วประเทศ ทั้งผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3.1 ล้านราย, โรงเรียน 45,000 แห่ง และองค์กรรัฐ 392 แห่ง

5 ปี ต้องมี 150 สาขา

ปัจจุบัน OfficeMate Plus+ มีทั้งหมด 6 สาขา ภายในสิ้นปีนี้จะมีเปิดเพิ่มอีก 7 สาขา รวมทั้งหมดจะมี 13 สาขา ได้แก่ ปราจีนบุรี, ร้อยเอ็ด, เลย, สุพรรณบุรี, สระบุรี, นครสวรรค์ และสมุย ภายในปี 2568 หรือภายใน 5 ปีจะต้องมีสาขาแฟรนไชส์ทั้งหมด 150 สาขา

ส่วนสาขาที่ทาง OfficeMate ลงทุนเอง ปัจจุบันมีทั้งหมด 76 สาขา เป็นสาขาใน กทม. 35 สาขา ในต่างจังหวัด 41 สาขา ในปีนี้จะเน้นรีโนเวตสาขาเดิม ในปีหน้าจะเปิดเพิ่มอีก 2-3 สาขา เน้นเป็นแฟลกชิพสโตร์ หรือเน้นเป็นกลุ่มๆ สินค้า เช่น โฮเรก้า, อุปกรณ์โรงงาน และเฟอร์นิเจอร์ เน้นพัฒนาเซ็กเมนต์ใหม่ๆ

กลุ่มสินค้าขายดีในปัจจุบันได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้สำนักงาน ปริ้นเตอร์ รวมไปถึงสินค้าทำความสะอาดด้วย

ติดต่อที่ปรึกษาแฟรนไชส์ โทร 1281 กด 6 หรือ 065-998-2988 หรือพูดคุยทาง Line: @OFM_Plus